สองธุรกิจใหญ่ ‘บางจาก ผนึกพลัง CPF’ ส่งน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากครัวในเครือ ป้อนฐานผลิตน้ำมันเครื่องบินยั่งยืน

สองธุรกิจใหญ่ ‘บางจาก ผนึกพลัง CPF’ ส่งน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากครัวในเครือ ป้อนฐานผลิตน้ำมันเครื่องบินยั่งยืน

สองธุรกิจใหญ่ ‘บางจาก จับมือ CPF’ ส่งต่อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารในเครือและโรงงานอาหารแปรรูป ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ด้านบางจาก พร้อมเดินเครื่องหน่วยผลิต SAF มีนาคม 2568 ด้วยกำลังผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน กลายเป็นฐานผลิต SAF ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รองรับการเติบโตของดีมานด์ได้ยาวไปจนถึงปี 2030

 

 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบิน กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด ด้วยการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด 

ในประเทศไทย บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil : UCO) โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ ที่จะเริ่มเปิดดำเนินการผลิตได้ภายในปี 2568 ด้วยกำลังผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์

 

 

โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์ให้ประชาชน ‘ไม่ทิ้ง’ น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วสู่พื้นที่สาธารณะ ป้องกันปัญหาจากการทิ้งของเสียอย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ จากการเสื่อมสภาพของน้ำมันและเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่อันตรายต่อร่างกายมนุษย์ และนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาจำหน่ายที่สถานีบริการบางจากหรือจุดรับซื้อที่บริษัทฯ กำหนด เพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ทั้งยังได้ร่วมกับพันธมิตรหลายแห่งเพื่อรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว  

 

 

CPF จับมือบางจาก ส่งน้ำมันใช้แล้วจากร้านอาหาร

และไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสีย ผลิต SAF

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ซึ่งขึ้นชื่อเป็นครัวไทยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ล่าสุดได้ลงนามร่วมกับบางจาก เพื่อร่วมมือผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว 

ภายใต้ความร่วมมือนี้ บางจาก และ CPF จะร่วมกันบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหารและไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของ CPF และบริษัทในเครือ ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน โดยบีเอสจีเอฟ 

 

 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ กล่าวว่า CPF เป็นครัวไทยรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ เพื่อนำไปผลิต SAF พลังงานแห่งอนาคต นอกจากจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG แล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือที่ครอบคลุมด้าน ESG ซึ่งถือเป็นแกนหลักของความยั่งยืนในปัจจุบัน เพราะไม่เพียงแค่ช่วยส่งเสริมในด้านการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้ 

ความร่วมมือระหว่างบางจาก และ CPF ในครั้งนี้ ช่วยสร้างประโยชน์ในหลายมิติ นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียจากกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบ ยังส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผ่านการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารในเครือ CPF เช่น เชสเตอร์, ห้าดาว กระทะเหล็ก ข้าวมันไก่ ไห่หนาน ฯลฯ เข้าร่วมโครงการ ‘ไม่ทอดซ้ำ’ และ ’ทอดไม่ทิ้ง‘ ซึ่งเป็นโครงการที่ บีเอสจีเอฟร่วมดำเนินการกับพันธมิตรหลักผู้ริเริ่มโครงการ คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ ปี 2565 โดยมีเป้าหมายในการร่วมกันขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้คนไทย 

ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคราชการ เอกชน และผู้ประกอบการ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและส่งต่อน้ำมันปรุงอาหารเพื่อผลิต SAF มากกว่า 800 จุดทั่วประเทศ ซึ่งการแปรรูปน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเป็น SAF จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากขึ้น ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงการบินแบบดั้งเดิม ช่วยตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งการผลิต SAF ในเฟสแรกจะใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ทั้งหมด โดยการรับซื้อตามราคาตลาดที่ 21 บาทต่อกิโลกรัม

 

เตรียมเดินเครื่องผลิต SAF ไตรมาส 2 ปี 2568

ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าของการเตรียมเดินเครื่องหน่วยผลิต SAF ของบีเอสจีเอฟ ในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง กำลังดำเนินการตามแผนไปประมาณกว่า 70% ณ ปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานเสร็จหมดแล้ว เหลือเพียงแค่การประกอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งกระบวนการผลิต การกรอง เพราะน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว มีคุณภาพแตกต่างกัน ต้องทำให้คุณภาพใกล้เคียงกันก่อน แล้วค่อยเอาเข้ากระบวนการผลิตอีกครั้ง 

โดยจะเริ่มผลิตในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 หรือประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน ตามความสามารถเครื่องจักรกล แต่จะเป็นผลิตได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกระบวนการสรรหาวัตถุดิบต่างๆ รวมถึงผู้บริโภคที่จะใช้ ซึ่งทางสหภาพยุโรปเริ่มประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม ปี 2568 เป็นต้นไป กลุ่มยุโรป และสหราชอาณาจักรที่มีข้อกำหนดให้ผสม SAF ในน้ำมันอากาศยาน 1% ในปีหน้าและเพิ่มเป็น 5% ภายในปี 2573 รวมท้ังเพิ่มเป็น 70% ในปี 2593 ส่วนภาคการบินในประเทศไทย มีการกำหนดให้มีการผสม SAF 2%ในปี 2569 หรืออีก 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งมีสายการบินเข้ามาเคาะประตูเพื่อหารือใช้ SAF อยู่ทุกเดือน คาดว่าเร็ว ๆ นี้น่าจะเห็นความคืบหน้า ความร่วมมือแน่นอน

 

 

CPF เล็งขยายผลไปยังฐานลงทุนในต่างประเทศ 

ด้าน ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า ความร่วมมือกับบางจากนี้ สอดคล้องกับแนวคิด Sustainovation ของ CPF ที่นำนวัตกรรมมาช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหาร และไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของ CPF นำไปผลิตน้ำมัน SAF 

“ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำมัน เป็นการดูแลทั้งสิ่งแวดล้อม และดูแลสุขภาพของคนไทยอีกด้วย เนื่องจากร้านอาหารในเครือของ CPF เองมีการใช้น้ำมันซ้ำเพียงแค่สองครั้ง ทั้งยังมีนวัตกรรมเติมออกซิเจนเพื่อให้มีความสดอยู่ตลอดเวลาในโรงงานแปรรูป ถือว่าไม่เหมือนใคร ผมเชื่อว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน CPF จะนำน้ำมันจากร้านอาหารและโรงงานต่าง ๆ ที่ใช้น้ำมันเพื่อทอดอาหารส่งออกไปสู่ต่างประเทศ เช่น ไก่แปรรูป ที่มีการส่งออกประมาณปีละ 1 แสนตัน ซึ่งมีการใช้น้ำมันพืชค่อนข้างเยอะพอสมควร รวมถึงขยายผลไม่ใช่แค่โรงงานแปรรูปเท่านั้น แต่รวมถึงร้านอาหารของเรา เช่น เฟรนไชส์จากร้านไก่ย่าง 5 ดาวที่ปัจจุบันมีประมาณ 5,000 จุด รวมถึงร้านเชสเตอร์ กระทะเหล็ก ข้าวมันไก่ ไห่หนาน ฯลฯ ด้วย”

ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปริมาณการส่งน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว อยู่ระหว่างการศึกษา แต่เชื่อว่า CPF  น่าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้น้ำมันแปรรูปอาหารมากที่สุดเจ้าหนึ่งในประเทศไทย และคิดว่าคงไม่ได้หยุดแค่นี้ จะขยายผลเพิ่มเติม ไปยังธุรกิจของกลุ่ม CPF ในต่างประเทศในอนาคตเพราะ CPF มีการลงทุนโรงงาน 17 ประเทศ และส่งออกสินค้ามากกว่า 50 ประเทศ ดูว่ามีโอกาสเชื่อมโยงกลับมาใช้ในประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ขอเริ่มจากประเทศไทยก่อน เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของทางกลุ่มบางจาก