GC ชวนภาครัฐ-เอกชน โชว์กลไกขับเคลื่อนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปลุก GEN S เริ่มลงมือ

GC ชวนภาครัฐ-เอกชน โชว์กลไกขับเคลื่อนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปลุก GEN S เริ่มลงมือ

GC ปลุก GEN S เดินหน้าประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชู 200 โครงการมุ่งสู่ Net-Zero พร้อมเปิดแผนธุรกิจเตรียมผลิตน้ำมัน SAF เชิงพาณิชย์ มกราคม 2568 ขณะที่โรงงานผลิตไบโอพลาสติกแห่งใหม่ นครสวรรค์ คาดแล้วเสร็จปลายปี 2568 ส่วนตัวแทนภาครัฐ แนะเอกชนส่งเสียงให้ดังถึงความต้องการหลัก รัฐพร้อมสนับสนุน โดยเฉพาะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน-การซื้อขายไฟ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ภาคเกษตร รับอนาคตของไบโอพลาสติก

 

 

เมื่อการดูแลรักษาสังคม และโลก ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนต้องร่วมกันคนละไม้ละมือสร้างโลกให้ดีขึ้น ตามความถนัด โดยเฉพาะในปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้น กระทบการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย 

นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้ GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมาต่อเนื่อง ได้ให้คำนิยามคำว่า ‘GEN S’ หรือ Generation Sustainability ขึ้นมา ซึ่งหมายถึง คนทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร ก็สามารถมีส่วนร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืนได้ ด้วยไอเดียการใช้ชีวิตประจำวันที่หลากหลาย เพื่อที่จะได้มีส่วนลดโลกร้อนไปด้วยกัน พร้อมจัดงานรวมพลคน GEN S ขึ้นมาทุกปี เพื่อร่วมลงมือแก้ปัญหาเร่งด่วนของโลกพร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจเพื่อการใช้ชีวิต 

เช่นเดียวกับปีนี้ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในชื่อ GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING ภายใต้แนวคิด ‘ยั่งยืนไม่ยาก’ เปิดเวทีครั้งที่ 5 ชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

 

 

ภาคผลิตปรับตัวรับมือการเปลี่ยนผ่านทุกรูปแบบ

ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรต้นแบบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘การเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต’ พร้อมสร้างสมดุุลด้านความยั่งยืนผ่านการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ใน 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี มาถึงตอนนี้มองว่า ภาคการผลิตต้องปรับตัวเตรียมรับมือการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาด แต่ยังเป็นการนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความสมดุลในการดำเนินการธุรกิจด้วยความยั่งยืน

 

 

GC บุกเบิกลงทุนโรงงานผลิตไบโอพลาสติก

ตามแนวคิด BCG คาดเสร็จปลายปี 2568 

ณะรงค์ศักดิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า GC เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนในกลุ่มของพลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastic) ซึ่งเริ่มต้นมากว่า 10 ปีที่แล้วในบริษัท NatureWorks ทั้งยังได้ร่วมลงทุน ตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกแบบครบวงจรแห่งใหม่ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ โดยโรงงานดังกล่าว นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2568 โดยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อมุ่งเน้นการตอบสนองต่อการผลิตชีวภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก

ที่ผ่านมา GC ได้ดำเนินการตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการดำเนินโครงการมากกว่า 200 โครงการ มีการใช้หลัก 5R ใช้พลังงานหมุนเวียน นำเทคโนโลยีและ Digitalization เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน รวมถึงแผนการบริหารจัดการคาร์บอน ภายใต้ความร่วมมือในกลุ่มปตท. ทั้งการศึกษาการกักเก็บ การใช้ประโยชน์จากคาร์บอน และการแสวงหาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจน  ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่ Net Zero ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมถึงสร้างความร่วมมือครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการปลูกและดูแลป่า ทั้งป่าบก ป่าชายเลน ป่าชุมชน จนมาถึงการศึกษาการปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้ง

 

 

GC เตรียมผลิตน้ำมัน SAF เชิงพาณิชย์ มกราคม 2568

ณะรงค์ศักดิ์ เผยอีกว่า GC ได้ปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดิบ เพื่อพัฒนาการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ ‘SAF’ ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถรองรับวัตถุดิบเหลือใช้ต่าง ๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว โดยมีแผนจะผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2568 เบื้องต้นจะผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน และจะเพิ่มปริมาณขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 20,000 ตันต่อปี 

“GC มองเห็นอนาคตที่ชัดเจนว่า ภาคการผลิตจะเปลี่ยนกระบวนการไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อความต้องการของตลาด แต่เป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในโซลูชันที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน” 

 

รัฐออกมาตรการหนุน CCS-การซื้อขายไฟ

เพิ่มผลผลิตเกษตรรับอนาคต BioPlastic-Biofuel

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา ‘กลไกการเร่งขับเคลื่อนประเทศไทย ภารกิจในการผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนภาคีเครือข่ายและยกระดับภาคเอกชนไทย สู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero’ 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ที่ผ่านมาการทำงานลดก๊าซเรือนกระจกมีการทำมานานแล้ว โดยช่วงปี 2561-2563 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้โครงการหลักที่เร่งดำเนินการที่ผ่านมา คือภาคขนส่งและภาคพลังงาน ได้สนับสนุนทำพลังงานหมุนเวียน ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เป็น NGV ให้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ต่อมากฏระเบียบสากลเริ่มเข้มงวดมากขึ้น ภาครัฐเองก็ได้ปรับระเบียบเช่นเดียวกัน จนเกิดการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกรมโลกร้อนขึ้นมา พร้อมกับกฏหมายเฉพาะ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการลดปล่อยก๊าฐเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็มีแผนกำหนดเป้าหมายว่าจะลดแต่ละภาคส่วนอย่างไรในช่วงจากนี้ไป 

ในส่วนของภาครัฐ กำลังออกกฎระเบียบและมาตรการสนับสนุนภาคการผลิตในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การส่งเสริมให้เกิดโครงการ CCS ภาครัฐพยายามดูและสนับสนุนว่าจะปรับกฏระเบียบอะไรได้บ้างที่สามารถทำได้จริง เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องและขยายออกมา ให้เกิดการลงทุนสเกลใหญ่ขึ้น ดักจับคาร์บอนในอุตสาหกรรมหลักของประเทศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น รวมถึง การซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผ่านกลไก Direct PPA หรือ การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement) และ UGT หรือ Utility Green Tariff ซึ่งกำลังพิจารณาอัตราให้เหมาะสมไม่กระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

“ที่อยากเน้นอีกเรื่องคือการเพิ่มผลผลิต Productivity ภาคเกษตร ไม่ใช่เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก แต่หมายความว่าในพื้นที่เดิมที่มีอยู่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น เพราะต่อไปประเด็น Bio Plastic , Biofuel ฯลฯ กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งฐานมาจากผลิตภัณฑ์การเกษตร ถ้ามีการขยายเรื่องนี้ก็ต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่มากขึ้นไปด้วย รัฐก็กำลังศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์ต่างๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามาใช้ในภาคเกษตร”

 

 

ปลดล็อกกฏหมาย-กลไกใช้เงิน

ด้าน ประวิทย์ ประกฤตศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสนอให้ภาครัฐเร่งออกกฎหมายและกลไกมาสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เช่น การสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำวัตถุดิบทางการเกษตรไปใช้ลดการเผา เป็นต้น 

“หากดูสถิติค่าฝุ่นนั้นเกิดขึ้นจากไฟไหม้ป่ามากกว่า 60% ที่เหลือมาจากภาคเกษตร ภาคพลังงานและการขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยสามารถจัดการได้ แต่ว่าปัญหาคือฝุ่นมีต้นเหตุมาจากต่างประเทศ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันในระดับอาเซียน นอกจากฝุ่นก็ยังมีเรื่องเขาหัวโล้น และการรักษาป่าที่ต้องดูแล ”

ประวิทย์ กล่าวต่อว่า ในฐานะภาคหอการค้า มองว่าภาคพลังงาน ขนส่ง เป็นตัวใหญ่สุดที่ต้องเปลี่ยนโหมดจากการใช้ฟอสซิลไปเป็นไฟฟ้า รวมถึงกระบวนการอุตสาหกรรม ของเสีย ขยะ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่

มองว่าตัวที่จะเป็นปัญหาสุดกับกฏหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะออกมาเร็ว ๆ นี้ คือกลไกทางการเงิน ว่าจะเอาเงินมาใช้เพื่อจุดประสงค์อย่างไร ไม่ให้เกิดความซับซ้อน เพราะการเอาเงินรัฐบาลมาใช้นั้นยากมาก ทั้งยังมีกระบวนการตรวจสอบ ซับซ้อน จึงเป็นเรื่องที่ทุกส่วนต้องทำงานร่วมกันว่าจะเดินไปทางไหน และจะใช้กลไกลทางการเงินด้านพัฒนาสีเขียวอย่างไร ซึ่งภาคการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออก Thailand Taxonomy แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับมากน้อย เพื่อให้เกิดความชัดเจนสำหรับการอุดหนุนด้านการเงินเพื่อเปลี่ยนผ่าน

สำหรับหอการค้า เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ตอนนี้ภาคเกษตร การทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุด แต่ถ้าด้านการจัดการมลพิษกำลังมองถึงเรื่องการเก็บวัสดุมาทำพลังงาน มองว่าถ้ามีโรงไฟฟ้ากระจายอยู่จำนวนมาก การเผาก็จะลดลง อีกตัวคือถ่านชีวภาพ (Biochar) การทำถ่านแทนที่จะเผาไปเลย แต่เปลี่ยนมาเผาในพื้นที่ที่ไม่มีออกซิเจน ทำให้เป็นถ่านชีวภาพที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องการเก็บคาร์บอนฯ 1.5 เท่าเฉลี่ยช่วยภาคเกษตรได้มากกว่า 30%

นอกจากนี้ประวิทย์ ยังได้ยกตัวอย่างนโยบายที่ไทยควรเร่งขับเคลื่อน จากงาน ESG Symposium 2024 ที่วางเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนดเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน ESG การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในการลงทุนยั่งยืน การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และสนับสนุนการปรับตัวของเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืน พร้อมกับแนะว่าควรเร่งออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน, การส่งเสริมการปลูกป่า และการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำด้วย

 

การเปลี่ยนผ่านต้องสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับโอกาส 

ดร.ชนะ ภูมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมไม้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เป็นเรื่องของ Long Journey (การเดินทางอันยาวนาน) ถ้าทำแล้วต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ต้องเน้นทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับโอกาสให้ได้ ดังนั้น ส่วนสำคัญจึงต้องเริ่มต้นจากนโยบายภาครัฐที่ควรกำหนดแนวทางชัดเจนสำหรับการเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการลดคาร์บอน พร้อมกันกับการอำนวยความสะดวก ให้กับการการนำเข้าเทคโนโลยีควรสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ โดยต้องพัฒนาแผนงานที่มีการร่วมมือจากหลายภาคส่วน 

ขณะเดียวกัน ส.อ.ท. กำลังวางแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) ที่ขับเคลื่อนด้วยกฎหมายและการจัดการที่มีเป้าหมายชัดเจนตามประเด็นปัญหาที่สำคัญ

นอกจากนี้ ดร.ชนะ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยยังคงต้องพัฒนา คือ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อรองรับพลังงานสีเขียว (Green Energy) การจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว (Green Financing) ได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

การเงินเพื่อความยั่งยืน Thailand Taxonomy 

ความหวังเงินทุนเปลี่ยนผ่าน 4-5 แสนล้านต่อปี 

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ภาคการเงินมีผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างใหม่ที่เราเรียกว่า ESG finance หรือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงมิติด้านความยั่งยืน ซึ่งปัจุบันอาจจะคุ้นเคยกับ Green Bond, Green Loan ที่พึ่งได้รับการแนะนำเปิดตัวในไทยครั้งแรกในปี 2018 เป็นการตอบสนองจากภาคสถาบันทางการเงินไทยพาณิชย์ที่อยากรองรับความต้องการที่จะลงทุน ในการเปลี่ยนผ่าน หรือปรับเทคโนโลยีใหม่  ๆ เขาบอกว่าเอเชียแปซิฟิก ต้องการเงินลงทุนใหม่ๆ ประมาณ 2-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ประเทศไทย องค์การสหประชาชาติ (UN) บอกว่ามีความต้องการในการลงทุนภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านประมาณ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินที่มีจำนวนไม่น้อย สิ่งที่ภาคการเงินทำคือในปีที่แล้ว มีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้มิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า Thailand Taxonomy ระยะแรก เป็นการกำหนดว่ากิจกรรมไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมาย Net Zero และระยะสอง จะครอบคลุม ในเรื่องของภาคการผลิต ภาคก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ หรือภาคที่เกี่ยวกับการจัดการของเสีย เป็นเป้าหมายต่อไปที่จะให้ภาคทางการเงินเข้าไปสนับสนุน

ขณะเดียวกัน ขณะนี้ธนาคารต่างๆ ได้ปรับแนวทางการให้เงินสินเชื่อกับโครงการที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) มากขึ้น มียอดการออกหุ้นกู้ ESG เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากปี 2561 อยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท ปัจจุบันมียอดคงค้าง 3.5 แสนล้านบาท แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการทำให้เกิดการลงทุนในกลุ่มภาคธุรกิจและโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESG ให้ถึง 4-5 แสนล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้กำลังให้การสนับสนุนกลุ่ม SMEs ให้ดำเนินโครงการ ESG ด้วย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา 9 ธนาคารได้ออกวงเงินสินเชื่อ 2 แสนล้านบาทดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 5-10 ปี วงเงิน 100% ของโครงการ เพื่อให้ SME ลงทุนโครงการ ESG