กองทุนววน.-สกสว.และบพข. กระทรวงอว. ร่วมมือกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ นำผลการวิจัยมวยไทย นวด สปาไทย อาหารไทย ร่วมเวทีโลกในงาน SXSW Sydney 2024 หวังให้นักวิจัยไทยเผยแพร่ความรู้และผลการวิจัยด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในรูปแบบของซอฟท์พาวเวอร์สู่ตลาดสากล
มวยไทย นวดไทย สปา และอาหารไทย ถือเป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย หนึ่งเดียวในโลก เป็นซอฟท์พาวเวอร์สำคัญ ที่สามารถขยายผลเพื่อผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้สู่ประเทศ ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยดังกล่าว โดยที่ผ่านมาได้มีการทำวิจัยเพื่อขยายผลในเรื่องเหล่านี้
ล่าสุด คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณาจารย์ นักวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ได้นำผลวิจัยซอฟท์พาวเวอร์ ได้แก่ มวยไทย นวด สปา และอาหารไทย เข้าร่วมงาน South by Southwest Sydney 2024 (SXSW Sydney 2024) ในนามของรัฐบาลไทย ตามคำเชิญของสถานกงสุลใหญ่ นครชิดนีย์ เพื่อเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าวสู่สายตาชาวต่างชาติ
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหัวหน้าคณะนำคณาจารย์ นักวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.เข้าร่วมงานครั้งนี้ กล่าวว่า SXSW Sydney 2024 เป็นงานมหกรรมด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศออสเตรเลียได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานติดต่อกัน 3 ปี คือ ปี 2566-2568 โดยมีคนทั่วโลกสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 300,000 คน บูธนิทรรศการมากกว่า 1,000 บูธ
โชว์งานวิจัยซอฟท์พาวเวอร์สู่สายตาชาวโลก
ดังนั้น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสกสว.-บพข.และสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่นักวิจัยไทยได้เผยแพร่องค์ความรู้และผลการวิจัยด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในรูปแบบของ ซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศไทย สู่ตลาดสากล เน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ การเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย มวยไทย อาหาร และการนวดและสปาไทย
หวังผนึกเครือข่ายร่วมมือ – แลกเปลี่ยนข้อมูล
โอกาสและความท้าทาย
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์ ระหว่างสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์ และผู้ประกอบธุรกิจมวยไทย นวดและสปาไทย และอาหารไทยของออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สที่สามารถให้ผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกสัมผัสประสบการณ์มวยไทย อาหารไทย นวดและสปาไทยผ่านออนไลน์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปขยายผลต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยได้เป็นอย่างดี
ชงหลักสูตรระยะสั้น
เปิดทางต่างชาติขอวีซ่าอบรมในไทย
ทัั้งนี้ได้นำผลการวิจัยหลักสูตรระยะสั้น อาทิ การเรียนมวยไทย การทำอาหารไทย การนวดและสปาไทย การฝึกซ้อมกีฬา การรักษาพยาบาล การอบรม การสัมมนา และการแสดงศิลปะและดนตรี ที่คณะนักวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. มอบให้กับสถานกงสุลใหญ่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนโยบายสนับสนุนวีซ่า Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับท่องเที่ยวและทำงานทางไกล (Workcation) ในประเทศไทย เป็นต้น
ขยายตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
สู่กลุ่มพำนักระยะยาว กลุ่มฟื้นฟูกายใจ
ศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล ผู้อำนวยการกลุ่มแผนงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการวิจัยการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจากสกว.โดยเน้นสปา กีฬา เช่น กีฬามวย ปั่นจักรยาน วิ่งและกอล์ฟ ต่อมาได้ขยายขอบเขตการวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในมิติต่างๆ ตามประเด็นปัญหาการวิจัยที่พบ เพื่อการพัฒนาคุณภาพทั้งการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานสูง รวมทั้งมีการดำเนินการด้านการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล กลุ่มพำนักระยะยาว กลุ่มฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ
โดยการดำเนินการวิจัยในระยะที่ผ่านมาได้ดำเนินการใน 56 จังหวัดและมีนักวิจัยจากสถาบันการศึกษากว่า 20 สถาบัน ซึ่งนักวิจัยดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยงานวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. สกสว.กระทรวง อว.มาโดยตลอด
เร่งยกระดับมาตรฐานสปาไทย สู่มาตรฐานสากล
ส่วนศ.ดร.อารีวรรณ กลั่นกลิ่น นักวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสปาไทย กล่าวว่า การได้เข้าร่วมประชุมและเผยแพร่ผลงานของการวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยนำเอาเทคโนโลยี VR ด้านอาหารไทยและการให้บริการนวดไทยในระหว่างการจัดนิทรรศการได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานจากประเทศต่างๆ
นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสดียิ่งในการได้พบปะและมีแผนความร่วมมือกับสถานกงสุลใหญ่ และผู้ประกอบธุรกิจร้านนวดไทยในนครซิดนีย์ ซึ่งมีมากกว่า 500 แห่ง ได้มีโอกาสพัฒนายกระดับมาตรฐานการให้บริการนวดและสปาไทยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีแผนการพัฒนาศักยภาพการให้บริการและผลิตภัณฑ์สปาและเวลเนสที่ตอบโจทย์ความต้องการโดยเฉพาะกลุ่มผู้รับบริการในตลาดออสเตรเลีย เช่น การนวดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก รวมทั้งหลักสูตรการอบรมพิเศษสำหรับผู้ให้บริการสปาเพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการสปาไทย ตามมาตรฐานสากล
เล็งพัฒนาหลักสูตรสปาเพื่อสุขภาพ
ดำเนินการร่วมสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์
นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาหลักสูตรในการต่อยอดธุรกิจและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เช่น หลักสูตรการอบรม สปาเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สปา ซึ่งสามารถดำเนินการร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์ได้ในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญของการส่งออกวัฒนธรรมสปาไทยสู่ตลาดออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี
เคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
บนฐานภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมไทย
ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานโครงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข., ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผอ.กลุ่มแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ร่วมกันกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การเข้าร่วมงานครั้งนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คือ สกสว./บพข. และ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการในประเทศออสเตรเลีย อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจมวยไทย นวดและสปาไทย รวมทั้งอาหารไทย ได้อย่างเข้มแข็ง นำไปสู่การร่วมงานในระดับความร่วมมือ (MOU) อย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้ นับเป็นการขับเคลื่อนการวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยนวัตกรรมบนฐานภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมไทยไปสู่การขายจริงในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนับเป็นตลาดสำคัญที่มีขนาดใหญ่ในอนาคต