สติ แอป และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลกของประเทศไทย “Better Mind – Better Bangkok 2024” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในธีม L.O.V.E มัดก้อนเครื่องมือฮีลใจทั้งประสบการณ์ตรงจากวิทยากร และกิจกรรมเรียนรู้การรักตัวเองและฮีลใจตัวเองไปพร้อมกัน
ผ่านไปอีกปีสำหรับการจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลกของประเทศไทย “Better Mind – Better Bangkok 2024” ที่จัดโดย “สติแอป” (Sati app) ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมย์เบลลีน นิวยอร์ก มูลนิธิเพื่อคนไทย ไทยพีบีเอส สามย่านมิตรทาวน์ และอีกหลากหลายภาคีกว่า 10 องค์กร เพื่อเรียนรู้ที่จะรักและฮีลใจตัวเองไปพร้อมกัน
โดยงานในปีนี้ มาในธีม L.O.V.E มัดก้อนเครื่องมือฮีลใจทั้งประสบการณ์ตรงจากวิทยากรและกิจกรรมเรียนรู้การรักตัวเอง
ปัญหาสุขภาพจิตคนกรุง มีเรื่องความเหงารวมอยู่ด้วย
“เรานำข้อมูลจากการทำงานของสติแอป และกรมสุขภาพจิตมาวิเคราะห์ว่าปัญหาสุขภาพจิตในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง คำตอบคือ คนรู้ว่าต้องรักตัวเองแต่ไม่รู้ว่าจะรักตัวเองอย่างไร คนรู้ว่าต้องโอบรับความหลากหลายในสังคม แต่เราโอบรับความหลากหลายในสังคมจริง ๆ หรือไม่ คนรู้ว่าประเด็นปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เป็นแค่เรื่องจิตและเป็นมากกว่า แต่เราเข้าใจเรื่องจริง ๆ หรือไม่ แล้วหรือรู้หรือไม่ว่าปัญหาของกรุงเทพฯ มีเรื่องของความเหงาอยู่ด้วย จึงกลายมาเป็นธีมของงานปีนี้” อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง สติแอป (SATI App) กล่าว
Sati App เครื่องมือรับฟังปัญหาผู้คนทั่วไป
ไม่ตัดสิน ไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง
‘Sati App’ เป็นเครื่องมือรับฟังที่ผู้คนทั่วไปสามารถติดต่ออาสาสมัครผู้ผ่านการอบรมด้านการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องได้ต้นตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เป้าหมายหลักคือการเชื่อมต่อผู้ที่มีความรู้สึกเครียด หนักใจ วิตกกังวลให้ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เครื่องมือนี้ถูกพัฒนาจากประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งผู้เคยเข้าสู่กระบวนการรักษาด้านจิตเวชและความต้องการ พื้นที่ปลอดภัยที่จะมีคนรับฟังโดยไม่ตัดสิน
คนกทม.ทุกวัย ปฐมวัย – สูงวัย ต่างมีปัญหาสุขภาพจิต
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า คนกทม.ทุกวัยตั้งแต่ปฐมวัยถึงสูงวัยต่างมีปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. 12 แห่งของกทม.มีจิตแพทย์ไม่ถึง 30 คน และนักจิตวิทยา 80 คน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรราว 10 ล้านคน ดังนั้น กทม.จึงพยายามเปิดพื้นที่ให้ทุกเครือข่ายที่มีกำลัง มีเครื่องมือ หรือเพื่อนให้พูดคุย สามารถเข้ามาร่วมกันสนับสนุนแก้ปัญหาสุขภาพจิตของคนเมือง
มุ่งสร้างรากฐานแกร่งดูแลสุขภาพจิตในไทย
จากแรงสนับสนุน ‘คนรอบข้าง – ชุมชน’
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว บวกกับขนาดของปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องเปราะบางเกินกำลังขององค์กรใดองค์กรหนึ่งจะรับมือ Sati App จึงมุ่งเน้นกำลังสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งขึ้นสำหรับการดูแลสุขภาพจิตในประเทศไทยโดยเน้นที่การสนับสนุนจากคนรอบข้างและชุมชน (Peers Support) ซึ่งเป็นระดับพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดตามพีระมิดการดูแลสุขภาพจิตขององค์กรอนามัยโลก
งาน Better Mind- Better Bangkok จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คนในสังคมสามารถช่วยกันเยียวยาและดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน โดยเครื่องมือฮีลใจของงานนี้ มี 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
ส่วนแรก บูธกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสนุก เพื่อรับของที่ระลึก และมีส่วนร่วมในการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ไล่มาตั้งแต่การเขียนกระดาษแชร์สิ่งที่ต้องการขอบคุณในชีวิต, วงล้อหมุนสำรวจความรู้สึกและแชร์ความรู้สึกกล้าหาญ, พื้นที่ฮีลใจสำหรับคนที่ต้องการคนรับฟังด้วยหัวใจในโครงการ “ม้านั่งมีหู” ผ่านแอปพลิเคชั่นสติ, สำรวจสุขภาพจิตในที่ทำงานว่าที่ทำงานที่ดีควรต้องมีอะไรบ้าง และข้อเสนอที่คิดว่ามีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ ในวัยเรียนสามารถรับมือกับความยากลำบากทางจิตใจ
ส่วนที่สอง เวทีเสวนาภายใต้ธีม L.O.V.E ประกอบด้วย 4 เวที ได้แก่
เวที 1 : Loving Yourself – ความรู้สึกรักตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาและเราไม่ควรกดดันตัวเองว่า วันนี้เรารักตัวเองไม่ดีพอ การรักตัวเองควรทำควบคู่ไปกับการให้อภัยตัวเอง
- วิธีการรักตัวเอง (1) ให้กำลังใจตัวเอง เช่น ฉันโอเคแล้ว ดีมากแล้ว (2) หาจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ เช่น เราแคร์คนอื่นมากเกินไปหรือเปล่า (3) หา/สร้างคุณค่าของเราให้เจอ ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง
- วิธีพาตัวเองออกมาจากความไม่รักตัวเอง (1) ค้นหาคนหรือกิจกรรมที่เหมาะกับเรา (2) รู้จักตัวเองและขัดเกลานิสัยให้ดีขึ้นไม่ไปทำร้ายคนอื่น (3) พาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี (4) ฝึกตัวเองให้อดทนกับคำพูดของคนอื่น
- วิธีการเป็นที่พักใจให้คนรู้สึกรักตัวเองมากขึ้น (1) เลียนแบบคนที่ทำให้เรารู้สึกดี น้ำเสียง คำพูด (2) วางความคาดหวัง เธอเป็นเธอ เราพร้อมฟัง (3) รับฟังคนอื่นมากขึ้น = รับรู้ความทุกข์คนอื่นที่ใครๆ ก็มีนะ (4) มีเมตตา เริ่มจากทดลองไปทำงานจิตอาสาจะได้เห็นความลำบากของคนอื่น และค้นพบคุณค่าของตัวเองเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น
“สิ่งที่มาทำร้ายเราอาจไม่ได้อยู่ในความเป็นลบเสมอไป บางครั้งอยู่ในรูปแบบคำชม คำหวาน แล้วมันทำให้เราต้องการความสนใจที่มากขึ้น เราอยากได้ยินคำเหล่านั้นตลอดไป เป็นความกดดันจากตัวของเราเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรารักตัวเอง เราจะกล้าก้าวไปเจอโอกาสใหม่ ๆ โดยไม่กลัวว่าใครจะตัดสินเรา” ยิปโซ อริย์กันตา มหพฤกษ์พงศ์ เผย
เวที 2: Opening Hearts – ความหลากหลาย คือ ความปกติที่นำมาซึ่งความแตกต่าง ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกที่ทั้งกายภาพและความคิด ทำให้คนกังวลหรือกลัว ไม่รู้จะต้องรับมืออย่างไร เพราะไม่เข้าใจจึงไม่เกิดการยอมรับ แต่ทุกเรื่องจะมีเวลาเบ่งบานของมันอยู่
- วิธีการเปิดรับความหลากหลายจากตัวเองสู่ผู้อื่น (1) กล้าที่จะรักตัวเองให้เป็น รักในสิ่งที่เราเป็นหรืออยากจะทำ (2) ตระหนักรู้ว่าเรากลัวเรื่องอะไร และค่อย ๆ ลองทีละขั้น (3) ช่วยสร้างพื้นที่ให้คนที่กลัวอยู่ ได้ออกมามีกิจกรรมเปิดใจ มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน ทำความเข้าใจและไม่ตัดสิน
“พื้นที่ที่ปลอดภัยจะเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างทำให้เรากล้าที่จะแสดงความเป็นตัวตนของเรามากขึ้น และเมื่อเราลดกำแพงของตัวเองจะพบว่าเราเปิดใจรับต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ดีและใหม่ต่อการใช้ชีวิตเรามากขึ้น” ซิลวี่-ภาวิดา มอริจจิ เผย
เวที 3: Valuing Lives -ยุคนี้ยากต่อการเข้าถึงจิตใจ เพราะเรามองแต่ผู้อื่นโดยที่ไม่นำกลับมาสู่ตัวเอง เราสามารถช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำทางผู้อื่นด้วยการเริ่มจากการฟัง ฝึกปล่อยวางให้เป็น เพราะเราไม่สามารถตอบรับความคาดหวังของทุกคนได้ ควรเลือกที่จะใส่ใจคนรอบข้างที่เขาดูแลเราดีกว่า
“การรับรู้ความสำคัญของสุขภาพจิตได้หลังจากก้าวสู่การทำงานที่ต้องมีความกดดันและความคาดหวัง สิ่งที่มาช่วย คือ ความมั่นใจที่เรามีความเป็นตัวเองซึ่งจะทำให้เรามีความสุข Be who you are in what you do” ไมกี้ ปณิธาน บุตรแก้ว กล่าว
ไมกี้ยังได้แนะนำวิธีการชวนให้เพื่อนหรือคนรอบข้างกล้าที่จะแชร์ความรู้สึกเมื่อทุกข์ใจตามนิยามของ B R A V E ว่า
B – Be Present : อยู่เพื่อเขา สังเกตเขา
R – Right s\Setting : เป็นพื้นที่สบายใจ/ปลอดภัย
A – Ask Questions : ถามเชิงให้กำลังใจ ไม่ต้องค้นคำตอบ
V – Validate Feeling : ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไร
E – Encourage Action : แนะนำแหล่งช่วยเหลือ
เวที 4: Enhancing Connection – เป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์จะรู้สึกโกรธ เหงา เศร้า ภาวะซึมเศร้าอยู่ในทุกช่วงวัย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถ่ายทอดมันออกมาได้หรือไม่ สุขภาพจิตไม่สามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่ม ๆ ไม่ว่าจะตามเพศหรืออายุ เพราะทุกคนมีความแตกต่างกัน
- วิธีการเติมเต็มสายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง (1) ต้องไม่ลืมสำรวจใจว่าตัวเองเหงาหรือไม่อย่างน้อยวันละ 1 ชม. เพื่อสังเกตตัวเอง (2) หัดอยู่นิ่งๆ ให้เป็นแต่ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิอย่างเดียว หากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนคนอื่น
“การวิ่งหนีความเหงาเป็นเรื่องที่น่ากลัว เราไม่สามารถอยู่กับคนอื่นได้ตลอดไปหรือตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องฝึกอยู่คนเดียวโดยไม่เหงาให้ได้ ต้องไม่คาดหวังให้คนอื่นมาเติมเต็มเราเพราะเราจะสร้างความสุขเองไม่ได้ทุกความเหงามีทางออกและมีคนที่พร้อมจะรับฟังเราเสมอ อย่าท้อถอยที่จะหาคนที่ใช่ที่จะรับฟัง เราไม่ต้องขออนุญาตคนอื่นเพื่อที่จะรู้สึกตลอดเวลา อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข เลือกตัวเองก่อนบ้างนะ” เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ บอก
โดยทั้ง 4 เวทีที่วิทยากรแต่ละท่านแบ่งปันประสบการณ์แบบเปิดเผย และจริงใจหวังเพื่อฮีลใจผู้เข้าร่วมงาน หากลองถอยออกมามองอีกที นั่นคือ ทุกคนกำลังพูดถึง ‘พื้นที่ปลอดภัย’
เป็นไปได้หรือไม่ว่า พื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริงนั้น หากเราให้นิยามกว้างเข้าไว้ยิ่งจะช่วยฮีลใจเราได้มากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากงาน Better Mind-Better Bangkok 2024 แล้ว อาจหมายถึงหนังสือดีๆ สักเล่ม เพลงบางเพลง กาแฟสักแก้ว ไอศกรีมสักถ้วย เพื่อนดีๆ สักคน ฯลฯ และยังหมายรวมถึงอาสาสมัครนักฟังใน SATI App ที่พร้อมจะเป็นหลังพิงให้เราในวันที่หัวใจเปียกปอนแม้จะเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม