ไทย จับมือสวีเดน ปั้นสตาร์ทอัพ ด้าน Impact Tech ประดับวงการยูนิคอร์นโลก

ไทย จับมือสวีเดน ปั้นสตาร์ทอัพ ด้าน Impact Tech ประดับวงการยูนิคอร์นโลก

ไทย เปิดตัวโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพประดับวงการยูนิคอร์นโลก เน้นด้าน Impact Tech ธุรกิจมุ่งหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจในเชิงบวก ยกโมเดล ‘สวีเดน’ ประเทศที่มีระบบนิเวศการพัฒนาสตาร์ทอัพแข็งแกร่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกและผลิตยูนิคอร์นมากเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากซิลิคอนวัลเลย์

 

สวีเดน ได้รับสมญานามว่า ‘โรงงานยูนิคอร์นโลก’ มีประวัติศาสตร์ยาวนานในการพัฒนานวัตกรรม และมียูนิคอร์นเก่าแก่หลายบริษัท โดยสวีเดนเป็นผู้รังสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ขีดไฟชนิดต้องขีดกับกล่อง ซิป ไดนาไมต์ เข็มขัดนิรภัย กล่องใส่เครื่องดื่ม ลูกปืน ประแจเลื่อน ไตเทียม เครื่องกระตุ้นหัวใจ ตู้เย็นสมัยใหม่ ฯลฯ 

ด้วยเหตุนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จึงร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม, เทคซอสและสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (TSA) เปิดตัวโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยประดับวงการยูนิคอร์นโลก โครงการ ‘Scaleup Impact! Thailand-Sweden Global Startup Acceleration Program’ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของ Epicenter Stockholm ซึ่งเป็น Accelerator ชื่อดังจากสวีเดน

สาเหตุที่โครงการนี้เลือกจับมือกับสวีเดน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีระบบนิเวศการพัฒนาสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เป็นประเทศที่ผลิตยูนิคอร์นมากเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากซิลิคอนวัลเลย์ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของระบบสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี รวมถึงความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถสูง การร่วมมือกับสวีเดนในครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้และพัฒนาจากประเทศที่มีศักยภาพและประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านนี้ 

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-สวีเดน ให้มีความใกล้ชิดและจับต้องได้ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่สำคัญโครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยได้เข้าถึงเครือข่ายนานาชาติและเติบโตในระดับโลกได้

 

 

 

บพข. เชื่อมโลก สร้างโอกาส ยกระดับสตาร์ทอัพไทย

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชฒน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บทบาท บพข.ในการสนับสนุนและดำเนินโครงการนี้เน้นไปที่การเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย หากเราสามารถพัฒนาศักยภาพนี้ได้สำเร็จ ประเทศไทยมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศชั้นนำของโลกในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องพัฒนาเช่นกันคือ ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) จึงเป็นหัวใจหลัก ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มสตาร์ทอัพหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ หากมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ดี มีการสร้างนวัตกรรม (Innovation) และคุณภาพของแรงงาน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง และสามารถเชื่อมโยงระหว่างระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้ (Local to Global และ Global to Local)”

“บพข. ยังมีหน้าที่ เชื่อมต่อ (Connect) ทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และเปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ โดยให้ความสำคัญกับการขยายผล (Scaleup) การวิจัยให้กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการสร้าง เครือข่ายความร่วมมือ (Collaboration) ในทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดโลกได้ 

ขณะเดียวกันมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบเชิงบวก (Impact) ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงการจับตามองแนวโน้มของโลก (Global trends) เพื่อให้เข้าใจว่าตลาดต้องการอะไร และพัฒนาเทคโนโลยีหรือวิทยาการที่ตอบโจทย์นั้น ๆ”

 

 

NIA พร้อมหนุน Impact Tech ไทย เปิดประตูสู่อนาคต

รศ.ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม ภายใต้โครงการนี้ จะบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยในสาขา Impact Tech จำนวน 12 ราย ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

การดำเนินงานจะมีระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2567 ถึงมีนาคม 2568 โดยจะมีการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพไทยกับตลาดระดับโลก ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการและนักลงทุนชั้นนำจากสวีเดน ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรมและมีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก 

“ด้วยกลยุทธ์ Groom – Grant – Growth – Global ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของไทยโดยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับโอกาสและทรัพยากรในระดับสากล เพื่อผลักดันการเติบโตและสร้างยูนิคอร์น นอกจากนี้ยังส่งเสริมความร่วมมือข้ามชาติ และมุ่งมั่นที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต แต่ในอดีต หากเราต้องการ Scaleup ด้วยตนเอง เรามักจะสามารถทำได้เพียงในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับสวีเดน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างยูนิคอร์น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในวงการสตาร์ทอัพไทย 

เนื่องจากการ Scaleup และ Impact เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ Growth & Global เป็นหัวใจหลักที่สตาร์ทอัพไทยต้องให้ความสำคัญ 

หวังว่าจะมียูนิคอร์นจำนวนมากเหมือนกับสวีเดน และในเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ดี อีกทั้งหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ ล้วนมีความแข็งแกร่งและมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยก้าวสู่การเป็นยูนิคอร์นมากขึ้น เพื่อทำให้ไทยเป็นชาติแห่งนวัตกรรมอย่างแท้จริง เราหวังว่าสตาร์ทอัพไทยที่ได้รับการคัดเลือกจะสามารถทำให้ความฝันนี้เป็นจริงได้”

 

 

สถานทูตสวีเดนหนุนสตาร์ทอัพไทย

ให้ทะยานไกลในเวทีโลก

นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชพูด ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า สวีเดนขึ้นชื่อว่าเป็น Startup Powerhouse หรือผู้นำทางด้านนวัตกรรมอันดันดับต้นของโลก และยังเป็นศูนย์กลางของยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จมากมาย โดยกุญแจสำคัญคือการเข้าถึงโอกาสและระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ส่งเสริมต่อการเติบโตสู่ระดับโลกด้วยการสร้างเครือข่ายระดับสากล 

เพื่อเชื่อมโยงไทยสู่โลกและโลกสู่ไทย ตามแนวทาง 5 เสาหลักของแผนแม่บทกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ 1.Security ความมั่นคงในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 2.Synergy การรวมพลังจากพันธมิตรเพื่อความสำเร็จ 3.Sustainability การส่งเสริมนโยบายการทูตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI Diplomacy) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 4.Status การเสริมสร้างเกียรติภูมิของประเทศไทยในเวทีสากล และ 5.Standard การดำเนินการภายใต้มาตรฐานสากล

“กระบวนการต่าง ๆ ของโครงการนี้คือ ถือเป็นกระบวนการที่นำความรู้มาสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย และเป็นการกระบวนการเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานไทยด้วยกันเอง และระหว่างไทยกับ Epicenter ของสวีเดน ซึ่งเป็น Accelerator ที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมศักยภาพสตาร์ทอัพ เพื่อเปิดประตูโอกาสจากไทยสู่สวีเดน ภูมิภาคนอร์ดิก และตลาดโลก”

 

 

เฟ้นหา 12 สตาร์ทอัพก้าวสู่ตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก 

สำหรับโครงการนี้มุ่งเฟ้นหา 12 สตาร์ทอัพไทย ดาวเด่นสาขา Impact Tech ด้วยหลักสูตรเฉพาะอันโดดเด่นของ ‘สวีเดน’ ประเทศที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งให้ก้าวสู่ตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์จากผู้ประกอบการและนักลงทุนชั้นนำ พร้อมคว้าโอกาสทองที่จะได้บินลัดฟ้าไปสตอกโฮล์มเพื่อนำเสนอโมเดลแผนธุรกิจในงาน Thailand Pitch Day 2025

ด้าน Epicenter Stockholm เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและบ้านดิจิทัลแห่งนวัตกรรมที่โดดเด่นซึ่งตั้งอยู่ในสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยทำหน้าที่เป็นจุดนัดพบกลางสำหรับบริษัทดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทที่ก่อตั้งมานาน ผู้ประกอบการ และบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี พร้อมมอบพื้นที่ทำงานร่วมกันที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 และมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เจริญรุ่งเรืองของสวีเดนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้าถึงสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจ ทรัพยากรที่มุ่งเน้นการเติบโต และเครือข่ายผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีชีวิตชีวา

 

 

ทำความรู้จัก Impact Tech เหตุใดจึงสร้างศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้

ทั้งนี้ Impact Tech คือธุรกิจและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีซึ่งมุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจในเชิงบวกไปพร้อมกับสร้างผลตอบแทนทางการเงิน ธุรกิจเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น ความยั่งยืน การบรรเทาความยากจน การศึกษา สุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมักจะผสานรวมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI, IoT, Blockchain และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง

Impact Tech มีประโยชน์มากมายต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งในแง่การสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะมักจะสร้างอุตสาหกรรม ตำแหน่งงาน และโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะในภาคส่วนที่มีความต้องการสูง เช่น พลังงานสะอาด การดูแลสุขภาพ และการศึกษา การสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ทำให้รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของจีดีพีผ่านนวัตกรรมและโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีอันเป็นเลิศ  

ขณะเดียวกันยังดึงดูดการลงทุนและการยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะประเทศที่ส่งเสริม Impact Tech จะน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทเงินร่วมลงทุนและนักลงทุนด้านผลกระทบทางสังคม ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเงินทุนเข้าสู่ประเทศ และทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของโซลูชันนวัตกรรมที่มีความเกี่ยวข้องในระดับโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอีกด้วย รวมถึง “การพัฒนาอย่างยั่งยืนและแนวทางแก้ไขด้านสิ่งแวดล้อม” เพราะ Impact Tech มักมุ่งเน้นไปที่แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะ และการอนุรักษ์ทรัพยากร เทคโนโลยีเหล่านี้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวโดยลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและลดการพึ่งพาทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงบริการทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจาก Impact Tech จำนวนมากแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยนำเสนอแนวทางแก้ไขที่ปรับขนาดได้ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการเข้าถึงบริการทางการเงิน การสนับสนุนบริษัทเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประชาชน นำไปสู่การเติบโตที่เท่าเทียมกันมากขึ้นและเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ที่สำคัญคือบทบาทในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ประเทศต่าง ๆ ที่ลงทุนใน Impact Tech จะกลายเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลกที่สำคัญ โดยวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้บุกเบิกในเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นที่รู้จักในด้านนวัตกรรมและแนวทางหรือนโยบายที่ก้าวหน้าในการบริหารประเทศ

 

 

สตาร์ทอัพเจิดจรัสที่สวีเดน กุญแจสู่ความสำเร็จของยูนิคอร์น

สวีเดนซึ่งมักถูกบดบังด้วยเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่า ได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะ ยูนิคอร์น ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สวีเดนประสบความสำเร็จในการผลิตยูนิคอร์น 41 แห่ง โดยมีมูลค่ารวมกัน 239,000 ล้านยูโร ประเทศนี้มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เฟื่องฟูซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย โดยปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของยูนิคอร์นในสวีเดน ได้แก่

  1.  ระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับนวัตกรรม ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของสวีเดนมีลักษณะเฉพาะคือเป็นเครือข่ายนักลงทุน ผู้บ่มเพาะธุรกิจ และ Accelerator ที่ให้การสนับสนุน โครงการต่าง ๆ
  2. การศึกษาและแหล่งรวมบุคลากรที่มีความสามารถ สวีเดนลงทุนอย่างหนักในด้านการศึกษา ส่งผลให้มีแรงงานที่มีทักษะสูง
  1. การสนับสนุนจากรัฐบาลและนโยบายภาครัฐที่เอื้ออำนวย โปรแกรมต่าง ๆ 
  2. วัฒนธรรมที่เน้นความร่วมมือและการแบ่งปันความรู้ เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เจริญรุ่งเรือง “Jantelagen” (กฎแห่ง Jante) ซึ่งเน้นย้ำถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและความสำเร็จร่วมกันมากกว่าความสำเร็จส่วนบุคคล ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ผู้ประกอบการเต็มใจที่จะแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากรมากขึ้น
  3. .เริ่มต้นด้วย Global Mindset สตาร์ทอัพในสวีเดนหลายแห่งมีมุมมองระดับนานาชาติตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เนื่องจากตลาดภายในประเทศมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีประชากรเพียง 10.6 ล้านคนเท่านั้น ผู้ประกอบการจึงได้รับการฝึกฝนให้คิดใหญ่เพื่อโตไกลในระดับโลก

 

ส่องกรณีศึกษา ‘ยูนิคอร์น’ ที่โดดเด่นของสวีเดน

  1. 1.Spotify ปฏิวัติวงการสตรีมเพลง โดย Spotify ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดย Daniel Ek และ Martin Lorentzon ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงวิธีการฟังเพลงของผู้คน ด้วยผู้ใช้มากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก แพลตฟอร์มนี้มีคลังเพลงจำนวนมากและเพลย์ลิสต์ส่วนตัว ความสำเร็จของ Spotify นั้นมาจากโมเดลฟรีเมียมที่สร้างสรรค์ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานได้ฟรีในขณะที่ให้คุณสมบัติระดับพรีเมียมผ่านการสมัครสมาชิก แนวทางของบริษัทในการแนะนำเพลงที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้

 

  1. Klarna นิยามใหม่ของการซื้อของออนไลน์ เปิดตัวในปี 2548 โดย Sebastian  Siemiatkowski, Niklas Adalberth และ Fredrik Wackå และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านโซลูชันการชำระเงิน บริษัทได้ทำให้การซื้อของออนไลน์ง่ายขึ้นด้วยรูปแบบ “ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง” 

 

  1. King ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกม ผู้อยู่เบื้องหลัง Candy Crush Saga King ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 และกลายเป็นที่รู้จักในครัวเรือนด้วยการเปิดตัว Candy Crush Saga ในปี 2555 รูปแบบการเล่นที่น่าติดตามและการออกแบบที่ดึงดูดใจของเกมดึงดูดความสนใจของผู้คนนับล้าน 

 

  1. iZettle ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก iZettle ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยให้บริการโซลูชันการชำระเงินผ่านมือถือที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก โดยนำเสนอระบบจุดขายและเครื่องมือทางการเงินที่ราคาไม่แพง 

 

       5.Northvolt ผู้บุกเบิกการผลิตแบตเตอรี่แบบยั่งยืนเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานหมุนเวียนเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก Northvolt ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหารของ Tesla ในปี 2559 ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภูมิทัศน์ด้านพลังงาน ภารกิจของบริษัทนั้นเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง เพื่อผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน

 

ที่มาข้อมูล : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)