“ปลาร้า -หมอลำ” ชื่อทรงพลังทั้งอิทธิพลทางอาหารและดนตรี ที่สะท้อนถึงความเป็นมิตรไมตรี สนุกสนาน ม่วนแซ่บของชาวอีสาน ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาเป็นงานเทศกาลยิ่งใหญ่ รวมอาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ ดึงผู้ร่วมงานจากทุกมุมโลก ผ่านงานมหกรรมยิ่งใหญ่กลางเมืองอีสาน จุดนัดพบ สารตั้งต้น พันธมิตรรัฐ เอกชน ผนึกพลัง ขับเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ อีสาน สู่เวทีโลก ยกระดับคุณภาพชีวิต ภาพพจน์อีสาน เป็นดินแดนแห่งอารยธรรม เสน่ห์น่าค้นหา ยกระดับคุณภาพชีวิตคนอีสานยั่งยืน
ท้องถิ่นภาคอีสาน ถิ่นกำเนิดที่เป็นสัญลักษณ์ของความแห้งแล้ง กันดาร ในอดีต ทำให้ชีวิตคนอีสานต้องมีชีวิตต่อสู้ดิ้นรน ต่อความยากลำบาก แต่สิ่งที่ทำให้คนอีสานเป็นน่าที่ยกย่องคือความมีอุปนิสัยใจคอของความเป็น “เลือดอีสาน” แม้จะยากจน แต่เป็นคนที่มีความเป็นนักสู้ ซื่อสัตย์ อดทน จริงใจ และเต็มไปด้วยความสนุกสนาน คนไทยขาดคนอีสานไม่ได้ ในอดีตลูกจ้างมักจะมาจากภาคอีสาน เพราะถือเป็นชนชั้นแรงงานที่ขยันอดทน ซื่อสัตย์
ความยากลำบาก ทำให้คนอีสานค้นหาวิธีต่อสู้เอาตัวรอด สั่งสมมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งอาหาร และดนตรี “ปลาร้า หมอลำ” กลับกลายพลังอ่อนนุ่ม (Soft Power) ที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาฉายแสงสร้างโอกาสส่งออกในเวทีระดับโลกที่มีโอกาส สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงหมื่นล้านบาท เพราะการหมักดอง (Fermentation) เป็นตัวชี้วัดความมีอารยธรรม ตำราการทำอาหารแต่โบราณ การหมักปลาร้า ของอีสาน จึงกลายเป็นอาหารรสเลิศ คู่เคียงปรุงอาหาร เพิ่มความแซ่บ ความนัวร์ จนดังไกลไปทั่วโลก
ไม่เพียงเท่านี้ ปลาร้า ยังไม่มีชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะรวยจน ทุกคนล้วนชื่นชมในรสชาติ
ส่วนหมอลำที่ไม่ว่าจะเป็นใคร เมื่อได้ยินเสียงจังหวะทำนองเพลงอีสาน ต้องอดใจไม่ไหวออกมาเซิ้งตาม นี่คือ ศิลปะการแสดงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสาน ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน
ปลาร้า-หมอลำ ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน แต่ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของลูกอีสาน ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวน่าค้นหา สร้างความสนใจและการยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ คุณค่าที่มีโอกาสพัฒนาสร้างมูลค่า กระจายรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ในงาน การเสวนา ความยั่งยืนของความม่วนแซ่บ Waking Up The Sleeping Giant : Isan To The World’ จึงเป็นการฉายภาพถึงมหกรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งแรก ของโรดแมป ส่งออกอีสานไปตลาดโลก ISAN to The World
ยกระดับคุณภาพชีวิต
เปลี่ยนภาพพจน์ อีสาน คือ อู่อารยธรรม
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brands (SB) Thailand เผยถึงแนวคิดว่า ต้องการยกระดับชีวิตคนอีสาน ด้วยการเปลี่ยนภาพพจน์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ชุมชน แต่เป็นคนกลุ่มที่มีอารยธรรม ที่มีศักดิ์ศรี สามารถส่งออกวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ความเป็นอีสานไปสร้างชื่อเสียงในเวทีโลกได้ จึงพูดคุยกับพันธมิตร ภาคเอกชน อย่างมิตรผล ที่ต้องการตอบแทนสังคมไม่ใช่เพียงการไปลงทุนจ้างงาน แต่ต้องร่วมสร้างความเจริญให้กับเมืองและชุมชน จึงจะมีความยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอีสานให้ดีขึ้นได้
“หากเอกชนที่ทำธุรกิจในอีสานแค่ลุกมาตอบแทนคนในท้องถิ่นอีสานโดยการจ้างงาน ไม่ยั่งยืน แต่หากสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต เปลี่ยนภาพพจน์ ของคำว่า “อีสาน” จากการเรียกชุมชน กลุ่มคน เปลี่ยนเป็นการสื่อให้เห็น ถึงความมีอารยธรรมของคนอีสาน ก็ช่วยเปิดโอกาสให้อีสานไปสู่โลกได้มากขึ้น”
หากพูดถึงอีสานมี 5 สิ่งที่คนรู้จักมักคุ้น แสดงถึงสุดยอดของภูมิปัญญาชาวอีสาน (Wisdom)ได้ คือ “ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ ปลาร้า” แต่มี 2 สิ่งที่สร้างเครือข่ายซัพพลายเชน เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอีสานให้ดีขึ้นได้ คือ “ปลาร้า” กับ “หมอลำ” สองเรื่องที่จะทำการสื่อสารกับโลกได้
ปลาร้า ศาสตร์หมักดอง
ตัวชี้วัด อารยธรรมแต่โบราณ
ความสำคัญของ “ปลาร้า” ของไทย ไม่ใช่แค่เพียงวัตถุดิบประกอบอาหารที่เพิ่มรสชาติความอร่อย แต่ได้กลายเป็นซัพพลายเชนที่มีมูลค่าถึงหมื่นล้านบาท และส่งออกไปทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นศาสตร์ แห่งตำราการหมักดอง คู่กับ ชาวอีสานมายาวนาน เป็นมรดกตกทอดที่สะท้อนได้ถึงความมีอารยธรรมและความเจริญ จากเทคนิค ที่พัฒนาเป็นศาสตร์แห่งการหมักดอง (Fermentation)
“ภูมิปัญญาที่สื่อสารไปกับโลกได้ของคนอีสาน คือ ปลาร้า ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่แค่เครื่องปรุงรสชาติทำให้อร่อย แต่เป็นศาสตร์การหมักดอง (Fermentation) เทคนิคการถนอมอาหารให้เก็บไว้ในบ้านได้ยาวนาน ถือเป็นตัวชี้วัดอารยธรรมมนุษย์ (Civilization) ที่สะท้อนถึงความเจริญมีมายาวนานกว่าพันปี เช่น หากไปขุดเจอปลาที่เก็บอยู่ในหลุม ในสแกนดิเวียน จะบ่งบอกได้ทันทีว่าเค้าอยู่กันอย่างไร”
ทำไม ความนัว “ปลาร้า” ศาสตร์การหมักดอง
สะท้อนความเจริญ และความยั่งยืน
1.เป็นการเปลี่ยนรูปแบบอาหาร (Transform) จากอาหารสด เปลี่ยนเป็นของหมักดอง เปลี่ยนรูปแบบรสชาติ ทำให้ค้นพบรสชาติใหม่ๆ มีเชฟมากมายที่มีชื่อเสียงระดับโลก จะมีพัฒนาอาหารการหมักดองของตัวเอง ไว้เป็นส่วนประกอบอาหาร ไม่ใช่เพียงสะท้อนฝีมือการทำอาหารอร่อย แต่ยังสะท้อนความเข้าใจศาสตร์แห่งการผสมผสานรสชาติใหม่ จึงถือว่ามีการความเก่งในการปรุงอาหาร ของเชฟ
2.ยืดอายุให้กับอาหาร ศาสตร์แห่งการหมักดอง ถนอมอาหารที่มีอยู่ให้เก็บไว้ในบ้านยาวนาน กินได้ทั้งเดือนและทั้งปี ใช้เพียงเกลือ และสมุนไพรต่างๆ ไม่ต้องใช้ความร้อนและพลังงานในการปรุง จึงไม่เปลืองพลังงาน ใช้น้ำในการผลิตน้อย ไม่มีของเหลือ เป็นเศษอาหาร (Food Waste)ใช้ทุกส่วนของปลามาหมัก อีกทั้งยังปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
3.การหมักดองดีต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์ รักษาสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ส่งผลดีรักษาสมดุลต่อระบบทางเดินอาหาร (Gut Health) ถือส่วนสำคัญรองจากสมอง ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นตลาดที่มีการเติบโตมหาศาล ที่มีโอกาสในการขยายตัวในอุตสาหกรรมอาหาร
“ยูนิเวิร์สในไห ไม่ใช่แค่ผลาญทรัพยากรมาใช้ มีความยั่งยืน มีกระบวนการหมักดองแบบโบราณ เปลี่ยนแปลงรสชาติแตกต่างกันโดยไม่ต้องใช้ความร้อน บริโภคพลังงานต่ำ แต่มีการใช้น้ำน้อย ใช้แค่ดิน ฟ้า อากาศ และเวลา ไม่เกิดก๊าซเรือนกระจก มีส่วนผสมเกลือ กับตำข้าว สมุนไพร มีความปลอดภัย และดีต่อสุขภาพและมีความยั่งยืน เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom)มาพัฒนาอาหาร มีความปลอดภัย จึงไม่ใช่ของดิบ แล้วยังสร้างความมั่นคงทางอาหาร”
ในอดีต ปลาร้า เป็นสิ่งที่ถูกทำเก็บติดไว้ในไหทุกบ้านของคนอีสานทำกินเองในครอบครัว แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป เมื่อลูกหลานไม่อยู่บ้าน จึงไม่ทำเก็บไว้ในปริมาณมากอีกต่อไป เน้นไปซื้อกินตามตลาด ทำให้ปลาร้าน จึงกลายเป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านบาท
ดังน้ันหากมีความตั้งใจจริง ผลักดันเรื่องปลาร้า ไปสู่ตลาดโลก ปลาร้า จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ประเทศ ดังเช่น เกาหลี มีกิมจิ ญี่ปุ่นมีนัตโต๊ะ และซอสญี่ปุ่น ไทยเราจะมีปลาร้า
“ปลาร้าไม่มีการแบ่ง ชนชั้นวรรณะ รวยจนก็ชื่นชมกับรสชาติของปลาร้าได้ เป็นการถนอมอาหารเก็บไว้กินในช่วงที่ไม่มีปลา การหมักดอง หรือ Fermentation เป็นธุรกิจที่มาแรงและมีการขยายเติบโต ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทสตาร์ทอัพกว่า 147 บริษัท ที่ลงทุนและทำธุรกิจเกี่ยวกับการหมักดอง มูลค่าถือว่ามหาศาล”
ดังนั้นการจัดงานปลาร้า หมอลำ จึงเป็น “ศักดิ์ศรี” ของชาวอีสาน ในการทำสิ่งที่คุ้นเคยให้มีศักยภาพ โลกรับรู้ นำความ “ม่วนแซ่บ” ของท้องถิ่นอีสานไปขยายผล ให้คนอีสานได้ประโยชน์ ประเทศก็ได้ประโยชน์ไปด้วย
ส่วน “หมอลำ” ความบันเทิงของชาวอีสาน ดนตรีจังหวะสนุกที่ชวนใหัทุกคนได้ฟังต้องลุกมาโยกย้าย ชยับลีลา เซิ้ง ตามเสียงเพลง เป้าหมาย จะนำเพลงอีสานไปเปิดในไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก เพื่อให้คนทั้งโลกได้ฟัง แล้วลุกขึ้นมาเต้นตาม
นี่คือสาเหตุที่ต้องจัดงาน “ปลาร้าหมอลำ ISAN to the World” เป็นมหกรรมที่จัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567โดยจัดขึ้นที่ จ. ขอนแก่น ศูนย์กลางภาคอีสาน เพื่อชักชวนให้คนท้องถิ่น คนไทยและคนต่างชาติ มาเที่ยวอีสาน และเป็นประตูสู่อินโดจีน จึงเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสมากมายให้กับคนอีสาน โดยความร่วมมือทำงานร่วมกันระดับประเทศ ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน เพื่อจุดประกายคนรุ่นนี้ได้ส่งต่อมรดกอารยธรรมอีสานไปสู่คนรุ่นใหม่ ที่สร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่น ให้กับคนรุ่นต่อไปได้ภาคภูมิใจ และสานต่อ
ภายในงานจะมีการแสดงหมอลำจากคณะชื่อดัง เช่น ระเบียบวาทะศิลป์ สาวน้อยเพชรบ้านแพง และหมอลำใจเกินร้อย บอยศิริชัย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับปลาร้า การแสดงพื้นบ้าน และการจัดแสดงสินค้าชุมชน OTOP จาก 4 จังหวัดในกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ได้แก่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น เป็นงานเฉลิมฉลองวัฒนธรรมอีสาน และยังสร้างโอกาสโปรโมทปลาร้าและหมอลำให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก
อีสาน สั่งสมของดี Creative Economy
เคลื่อน Soft Power เล่าเรื่องอีสานในมุมมองใหม่
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการสร้างเสน่ห์ในการจัดงาน ปลาร้า หมอลำ ว่า เป็นการนำวัฒนธรรม มาสร้างสรรค์ ในุมมองใหม่ (Creative Culture สู่ Creative Economy) ที่เชื่อมโยงไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศ เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เป้าหมาย คือการที่จะยกระดับ ปลาร้า หมอลำ สิ่งสำคัญของคนอีสาน มาพัฒนาเป็นงานแฟร์ระดับโลก ที่มีความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ จนถึงภาคเอกชนในท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนระดับประเทศ มาร่วมมือผลักดันสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศ ต้นแบบมาจากงานประจำเมือง “South by Southwest (SXSW)” ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส งานเทศกาลดนตรี ภาพยนตร์ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จัดขึ้นทุกปีในเดือนมีนาคมดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมงาน
“เป็นการขับเคลื่อน (Drive) ซอฟต์พาวเวอร์อีสาน ออกไปสู่คนทั้งโลก เราจะโชว์ของดีอีสาน ให้คนทั้งโลกได้เห็น แม้จะจัดเป็นปีแรก ก็เริ่มจัดอย่างยิ่งใหญ่ เพราะถ้าไม่มีจุดเริ่มต้น ก็จะไม่มีต่อไป”
ปลาร้า หมอลำ จึงเป็นการรวบรวมคนที่เกี่ยวข้องกับ ห่วงโซ่ ของปลาร้า และหมอลำ มาสร้างเครือข่ายผ่านความหลากหลาย สร้างระบบนิเวศ ที่มีการนำเสนอรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เพียงอยู่บนเวทีเพียงอย่างเดียว จะเป็นการสร้างสีสันหมอลำในรูปแบบใหม่ อาจจะมีการพัฒนา ผสมผสานดนตรี แจส หรือบีทหมอลำ รวมถึงวัฒนธรรมความเป็นอีสาน เล่าเรื่องผ่านความบันเทิง ทั้งภาพยนตร์ และเรื่องราวต่างๆ ที่สามารถทำเงินได้มหาศาล จะมีการรวบรวมมาไว้ในงาน
นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดความเป็นปลาร้า ในรูปแบบที่มีความเป็นสากล ผสมผสานกับอาหารมีชื่อเสียงดังระดับโลก อย่างเช่น คุกกี้ปลาร้า พิซซ่าปลาร้า เป็นกิมมิกการผสมผสานวัฒนธรรมของทั่วโลก เป็นการส่งออกวัฒนธรรมอีสานไปสู่เวทีโลก
ภายในงานยังจะมีลูกสาวอีสาน และลูกเขยอีสาน ที่ไปเติบโตทำงานในต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ใช้เงินอย่างต่ำคนละ 1 แสนบาทต่อทริป ถือเป็นช่วงเวลาที่กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นผ่านงาน
นี่คือจุดเริ่่มต้นที่ทำให้ชีวิตคนอีสานมีความยั่งยืน ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ ทุนทางวัฒนธรรม โดยเริ่มจากใช้ปลาร้า และหมอลำ เป็นแรงขับเคลื่อน ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการภาคภูมิใจกับวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษให้มา และร่วมรักษาต่อยอดไปสู่การพัฒนาในหลากหลายรูปแบบที่สร้างมูลค่า
โรดแมป ส่งอีสาน สู่เวทีโลก
กวิน ว่องกุศลกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (KKIC) กล่าวว่า ธุรกิจในเครือมิตรผล มีโรงงานอยู่ในขอนแก่น จึงเป็นส่วนหนึ่งของภาคเอกชนที่อยากเข้าไปช่วยพัฒนาขอนแก่นให้เติบโต ภายใต้ คอนเซ็ปต์ ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน โดยมีเป้าหมาย ยกระดับเมืองขอนแก่น ให้ก้าวสู่ระดับเวิลด์คลาส โดยใช้ 3 จุดแข็ง ‘สร้างสรรค์ ต่อยอด ยั่งยืน’ เพื่อยกระดับอีสานให้เป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน พร้อมกันกับสานต่อวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
สอดคล้องกันกับ วิสัยทัศน์ของขอนแก่น ISAN2030 ที่ร่างโรดแมปการพัฒนา ประกอบด้วย 1. การใช้ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษมาเชื่อม ( Scenario Special Economic Corridor) โอกาส 2. การทำ BCG Hub (เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเชียว Bio-Circular-Green Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันอย่างเข้มข้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และ 3. สร้าง Digital Valley ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค เมื่อสร้าง 3 สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบสัมพันธ์ในการยกระดับเศรษฐกิจ
.เขากล่าวว่า ทางกลุ่มมุ่งมั่นพัฒนาโครงการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเชื่อมโยงความรู้และกิจกรรมในย่านด้วยรูปแบบนวัตกรรมเปิด หรือ Open Innovation เป็นศูนย์รวมของการบ่มเพาะนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ และยังเป็นศูนย์กลางการสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างผู้ประกอบการ อาจารย์ นักวิจัย และนวัตกร เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทยต่อไป
“การทำให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นมา จึงต้องเริ่มต้นจากศูนย์กลางภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ตรงกลางระหว่าง 22 จังหวัด จึงพัฒนา โปรแกรมต่างๆ ผลักดันให้เกิดการต่อยอดภาคการเกษตร อาหารของไทย เพราะ 80% ของคนอีสาน อยู่ในภาคการเกษตร และปลายทงเป็นอาหาร”
การจัดงาน ต้องการนำเสนอของดีจากถิ่นอีสานมาจัดกิจกรรม สร้างความคึกคัก ตั้งแต่อาหาร พืชประจำถิ่น เครื่องปรุง เกลือ เห็ด ล้วนมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จึงร่วมมือกับหอการค้าประจำจังหวัด ทางราชการในจังหวัด รวมเป็นพันธมิตร ทุกภาคส่วน
“อีสานยังมีของดีหลากหลายที่น่าค้นหาอีกเยอะโดยเฉพาะอาหาร มีอาหารแห่งอนาคต และ ดีต่อสุขภาพ จึงมีความน่าสนใจ และปลาร้า หมอลำ คือท่าไม้ตาย ที่มีชื่อเสียงของคนอีสาน ที่สร้่างมูลค่าได้”