ไทยเบฟ เดินหน้าพันธกิจความยั่งยืน จัดงบ 2 พันล้าน ลงทุน Biogas ปรับปรุงโรงงาน บริหารความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ

ไทยเบฟ เดินหน้าพันธกิจความยั่งยืน จัดงบ 2 พันล้าน ลงทุน Biogas ปรับปรุงโรงงาน บริหารความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ

กติกาการค้าโลก การเปลี่ยนแแปลงสภาพอากาศ ท้าทายเป้าหมายการเติบโตยั่งยืนทุกองค์กร รวมถึงผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในไทย-อาเซียน ‘ไทยเบฟ’ วาง ‘PASSION 2030’ ในมิติความยั่งยืน จัดงบ 2 พันล้านบาท ลงทุนในโรงงานก๊าซชีวภาพ (Biogas) แห่งที่ 8 เดินหน้าติดตั้งโซล่าเซลล์ ปรับปรุงโรงงานต่าง ๆ เพิ่มความเข้มข้นบริหารความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ 

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารไทยและอาเซียน อย่างกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ได้ประกาศแผนงาน PASSION 2030 

ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีจากนี้ (2025-2030)  นำโดย ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของไทยเบฟ 

 

 

 

PASSION 2030 เน้นเคลื่อน 2 กลยุทธ์หลัก 

เสริมแกร่งธุรกิจเติบโตยั่งยืน 

โดย ฐาปน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้บริษัทจะเผชิญความท้าทายด้านการดำเนินงานค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่บริษัทสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ และจากนี้จะนำจุดแข็งด้านการแข่งขัน และขีดความสามารถหลักขององค์กร มาขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน 

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะ ‘สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต’ ตามพันธกิจของไทยเบฟ ในการต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 โดยจะดำเนินการผ่าน 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

Reach Competitively  และ Digital for Growth โดยตั้งเป้าภายในปี 2030 ไทยเบฟต้องมีความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้าน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดสากลให้ได้

โดยที่ Reach Competitively คือ ความสามารถในการส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเข้าถึงลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง 

ส่วน Digital for Growth คือ ความตั้งใจที่จะขยายการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตการดำเนินงาน รวมถึงการกระจายสินค้า 

 

 

จัดงบ 2,000 ล้านบาท ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องความยั่งยืน

ทั้งนี้ในปี 2025 (พ.ศ.2568) ได้เตรียมงบไว้ราว 1.8 หมื่นล้านบาท สำหรับลงทุนขยายธุรกิจ โดยในจำนวนนี้ ได้จัดสรรงบราว 2,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนความยั่งยืน เช่น ลงทุนโรงงานก๊าซชีวภาพ (Biogas) แห่งที่ 8 ในจังหวัดราชบุรี รวมทั้งการขยายติดตั้งโซล่าเซลล์ที่โรงงานในระยะ 4 รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆภายในโรงงานด้วย 

 

 

 

เป้าหมาย Net Zero ปี 2040 ใช้พลังงานสะอาด 

ลงทุนโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพแห่งที่ 8

ขณะที่ ต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า หน้าที่ของผู้นำอุตสาหกรรม ไม่ได้มีเพียงการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และความเป็นเลิศในการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม ป้องกันผลกระทบทางสังคม และส่งเสริมธรรมาภิบาลด้วย (Environmantal – Social -Governance -ESG) 

โดยกลุ่มไทยเบฟตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) ภายในปี 2040 โดยไทยเบฟได้พัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและประเทศที่เข้าไปลงทุน  

โดยในปี 2023 ได้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วไม่ว่าจะเป็นบรรลุระยะที่ 1-3 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมโรงงาน 40 แห่งในประเทศไทย เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า ทั้งหมด 42.48 เมกะวัตต์

ทั้งยังจะขยายโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ระยะที่ 4 เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยจะติดตั้งบริเวณหลังคาอาคารและแผงแบบลอยน้ำที่โรงงานเบียร์และโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยเบฟ

“จนถึงตอนนี้โรงงานของไทยเบฟใช้พลังงานทดแทนแล้วราว 37%  (ไม่รวมเวียดนาม) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ 8.7% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 (ไม่รวมเวียดนาม) นอกจากนั้นยังนำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวน 61.6% กลับมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ”

ต้องใจ กล่าวอีกว่า ไทยเบฟยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงงานสุราในจังหวัดราชบุรี เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง โดยใช้น้ำกากส่า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์มาใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไอน้ำแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ถึงปีละ 1.5 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 20,205 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

 

 

คืนน้ำสู่ธรรมชาติ 

ส่วนเรื่องน้ำในกระบวนการผลิต ก็เป็นหัวใจหลักของธุรกิจ ต้องคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติ ซึ่งตอนนี้คืนได้ 5% หรือประมาณ 340 ล้านลิตรของปริมาณที่ใช้ เพราะฉะนั้น ต้องเพิ่มให้ได้อีก 20 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2040 ผ่านการการคืนน้ำที่ต้นน้ำ ด้วยการปลูกป่า การคืนน้ำสู่ชุมชน เช่น การสร้างฝาย สร้างอ่างกักเก็บน้ำ ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมาก  

 

 

การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ และการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์

ต้องใจ เผยว่า ไทยเบฟมีนโยบายการเก็บกลับคืนบรรจุภัณฑ์ โดยที่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดแก้ว เก็บกลับคืนมาแล้ว 97% โดยตั้งเป้าจะเก็บกลับคืน 100% ให้ได้ภายในปี 2025 ขณะที่ตอนนี้ขวด PET เก็บกลับได้ประมาณ 30% โดยตั้งเป้าเก็บกลับ 100% ภายในปี 2030 เช่นเดียวกับกระป๋องอลูมิเนียม 

สำหรับแผนการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ตอนนี้ตั้งเป้าใช้ rPET (ขวด PET จากการรีไซเคิล) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของพลาสติกที่ใช้โดยรวมภายในปี ค.ศ. 2030 และปรับเปลี่ยนให้ได้ทั้ง 100% ภายในปี 2040 ซึ่งได้เปิดตัวเอสโคล่า (แบรนด์น้ำดำในเครือไทยเบฟ) ที่ใช้ขวด rPET ขนาด 515 มิลลิลิตร ออกมาทดสอบตลาดแล้ว รวมทั้งขยายความรับผิดชอบในการดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค โดยร่วมมือกับ ไทยเบฟเวอเรจรีไซเคิล (TBR) ในการติดตั้งตู้รับคืนบรรจุภัณฑ์กว่า 70 แห่ง ทั่วกทม.​และปริมณฑล ทั้งในมหาวิทยาลัย อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า หรือสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ 

ทั้งนี้ แผนใช้ rPET ต้องใจ บอกว่า ยังไม่เริ่มกับขวดที่เป็นน้ำเปล่าเนื่องจากตอนนี้ขวดยังมีติดปัญหาเรื่องสี ส่วนแผนขยายไปยังเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ยังต้องพิจารณาที่ความเหมาะสม 

“ในส่วนของน้ำดื่มช้างจะเห็นว่าเป็นขวดเขียว ยังไม่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนขวดเป็นขวดใส เพราะสีเขียวถือเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของน้ำดื่มช้าง จึงผลิตเป็นขวดแก้ว มากกว่าขวด PET แม้จะมีน้ำหนักมากกว่า ทำให้ขนส่งได้น้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ขวดเขียวสามารถรีไซเคิลได้ โดยการนำไปทำเส้นใยและอื่นๆ” 

 

 

บริหารความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ

ประเมินความเสี่ยงทุกโรงงาน 

ต้องใจ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใหญ่ จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น คาดว่าจะเพิ่มความถี่มากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล น้ำทะเลหนุน ปัญหาน้ำกร่อย หรือน้ำท่วม ทำให้ไทยเบฟต้องเพิ่มเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่จะมีผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) ซึ่งที่ผ่านมาได้ประเมินความเสี่ยงของทุกโรงงาน เพื่อหาแนวทางการป้องกัน ดูแล รวมถึงความเสี่ยงจากกฎระเบียบใหม่ๆ ที่เข้ามาจากการค้าขายในต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องประเมิน  

“กฏกติกาต่าง ๆ ที่กำลังจะเข้มงวดมากขึ้น มองว่าอาจมีข้อดีในการดึงต้นทุนที่แท้จริงเข้ามาอยู่ในการคำนวณ เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อเลือกซื้อเทคโนโลยีบางอย่าง อาจซื้อของถูก แต่ไม่ได้ดูว่าเทคโนโลยีนั้นมันเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าถึงเวลาที่มีการใช้ Carbon tax (ภาษีจัดเก็บจากผู้ปล่อยมลพิษ) จริง ๆ ก็จะกลายเป็นตัวแปรในสมการต่าง ๆ มากขึ้น” 

เช่นเดียวกับกฏหมายที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ จะผลิตแล้วทิ้งไปอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมาคิดมากขึ้นว่าจะเก็บกลับอย่างไร ใช้อะไรน้อยลงได้บ้างในกระบวนการผลิต อย่างบริษัทเหล้าต่างประเทศ ค่อนข้างเจอกฏระเบียบหนัก ทำให้เปลี่ยนวิธีแทนที่จะเป็นขวดหรือกระป๋อง แต่เปลี่ยนวิธีขายแบบแกนลอน ก็จะได้ลดการใช้แพคเกจจิ้ง เรื่องนี้ทำให้คนเริ่มคิดมากขึ้น 

ส่วนในไทยที่จะมีกฏหมาย EPR (Extented Producer Responsibility) ให้ผู้ผลิตสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ มองว่าในไทยไทยเบฟเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ได้ดีอยู่แล้ว แต่ในต่างประเทศไทยเบฟที่ยังไม่มีบริษัทที่ทำเรื่องรีไซเคิล ง่ายสุดคงเป็นการจ่ายภาษีให้รัฐบาล แต่ถ้าฐานการผลิตไหนเหมาะสม มียอดขายที่ดี อาจมองเรื่องการตั้งทุนตั้งบริษัทที่ทำเรืองรีไซเคิลในประเทศนั้น ๆ ด้วย ส่วนโอกาสก็มองฐานการผลิตที่เวียดนามและเมียนมาร์ซึ่งเริ่มมีโครงเล็ก ๆ ในการเก็บกลับขวดแก้วแล้ว “ต้องใจ” กล่าว