ESG Symposium 2024: Driving Inclusive Green Transition ‘ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ พาไทยสู่ Green Transition ภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมเสนอ 5 หัวใจหลักขับเคลื่อนสังคมไทย สู่น่านฟ้าธุรกิจสีเขียว มั่งคั่งยั่งยืน เทคโนโลยี-ขยะ-บรรจุภัณฑ์-ช่วยคนตัวเล็ก-สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ปลดล็อก ผนึกความร่วมมือรัฐ-เอกชน-สังคม
เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 ‘ไทย’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ให้คำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากเดิมในปี 2019 ปล่อยอยู่ราว 370 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยระยะใกล้ที่สุดในปี 2030 จะต้องลดลง 40% ตามพันธสัญญาCOP (Conference of the Parties) จากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ดังนั้นจึงต้องเร่งวางแผนเปลี่ยนผ่าน ‘Green Transition’ จากการทำอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น
โดยใช้แนวทางสร้างสมดุล ESG (Environmental, Social, and Governance) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนของห่วงโซ่อุปทาน การปรับปรุงกฎหมายเพื่อเสริมสร้างเทคโนโลยี พัฒนาความรู้และทักษะของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นอีกกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตเพื่อลดคาร์บอน
หนึ่งในโครงการที่โดดเด่นคือ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ จาก SCG ซึ่งใช้โมเดล PPP (Public-Private-People Partnerships) รวมพลังทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำจากทุกภาคส่วน โครงการนี้เป็นพื้นที่ทดลองที่เน้นการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในเชิงนโยบายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โดยปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนดเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ง่ายขึ้น
ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความท้าทายซับซ้อนจาก วิกฤติด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนข้อจำกัดและการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถรับไม้ต่อกันไปสู่เส้นชัยในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ภายในงานสัมมนา ESG Symposium 2024 ได้มีการเสวนาในหัวข้อ ‘The Key Drivers for Inclusive Green Transition’ ระดมความเห็นจาก 5 ภาคส่วนถึงแนวทางเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการหารือถึงปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ พร้อมทั้งชี้ข้อเสนอแนะที่จะมอบให้แก่ภาครัฐภาคประชาชน ร่วมกันขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็น
- การพัฒนาเทคโนโลยี จะเป็นทางลัด (Fast track) หรือเป็นกุญแจสำคัญของการผลักดันการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านให้เร็วขึ้น
- บริการจัดการขยะ เพื่อลดผลกระทบจากการบริโภคหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Circular Economy, Waste Management ที่ต้องหาทางทำให้เหลือขยะน้อยที่สุด หรือเปลี่ยนให้ขยะมีคุณค่า (Value) เพิ่มขึ้นให้ได้
- .บรรจุภัณฑ์ (Packaging Value Chain) อีกหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Circular Economy โดยตรง เพราะกลายเป็น Waste จำนวนมาก รวมถึงมีความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง
- ความเท่าเทียมในการเปลี่ยนผ่าน ทุกการเปลี่ยนผ่าน จะมีผู้ประกอบการรายเล็ก ไปจนถึงคนในชุมชน เพื่อสร้าง Green Supply Chain ที่สมบูรณ์
- พื้นที่ลงมือทำจริง เพื่อนำแนวคิดต่างๆ ข้างต้นมาทดลองทำจริง โดยเป็นการทำร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ทั้งนี้จากการเสวนาในหัวข้อ ‘The Key Drivers for Inclusive Green Transition’ ภายในงาน ESG Symposium 2024 ได้ระดมความเห็นจาก 5 ภาคส่วนถึงแนวทางเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
อัพสกิล รีสกิล ตระหนักรู้รับผิดชอบ
KPI เกณฑ์การปล่อยคาร์บอนตั้งแต่บุคคลยันองค์กร
รองศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดมุมมองว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้หารือกับตัวแทนภาครัฐ-เอกชน ถึงความท้าทายการเปลี่ยนผ่าน ที่ควรจะปลดล็อก โดยเฉพาะด้านพลังงานเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนเช่น เรื่องเทคโนโลยีช่วยลดคาร์บอน (Technology for Decarbonization) สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้คนทุกระดับ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้กับคนในองค์กรก่อน
“เช่น คนในองค์กรต้องรู้ว่าบริษัทของเขาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ เพื่อที่จะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อลดคาร์บอนลงได้ เพราะอีกไม่นานเรื่องการปล่อยคาร์บอน กลายเป็นตัวชี้วัด (เคพีไอ) ของแต่ละบริษัท ฉะนั้นคนในองค์กรจึงต้องพร้อมที่จะอัพสกิล รีสกิล หรือแม้กระทั่งในระดับประชาชน ตั้งแต่ระดับนักศึกษาต้องปรับทัศนคติสร้างความตระหนักรู้ควบคู่กัน นอกจากเรื่องคนแล้วความท้าทายอื่น ๆ ที่ยังพบคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การเงิน ข้อเสนอต่าง ๆ”
3.2 ล้านราย SMESไทยยังรอเติมช่องว่าง
ยกเคส ‘เกาหลีใต้-ยุโรป-จีน’
พี่ใหญ่ธุรกิจพาน้องไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ด้านแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสดงมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายของ SMEs ไทย ที่วันนี้มีสัดส่วนมากกว่า 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ คิดเป็น 3.2 ล้านรายที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs พ่วงด้วยแรงงานอีก 12.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 71% ของการจ้างงานภาคเอกชนทั้งหมด ซึ่งภาคส่วน SMEs นั้นผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ ( GDP) ประเทศในสัดส่วน 35% และมีสัดส่วนการส่งออกที่ 13% ของการส่งออกทั้งหมด
โดยเขายกตัวอย่าง กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่ทำเรื่อง ESG SMEs สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านให้กับผู้ประกอบการในซัพพลายเชน ที่สำคัญคือเกาหลีใต้ พยายามนำเรื่องของ ESG เข้าไปอยู่ในความตระหนักของ SMEs ให้มากที่สุด
ขณะที่ในประเทศฝั่งสหภาพยุโรป (EU) กำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยการออกแบบกฎหมายให้เข้าใจง่าย และทำได้รวดเร็ว ลดขั้นตอน อีกทั้งยังสนับสนุนการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุน เพิ่มทักษะแรงงานสีเขียว นอกจากนี้ยังส่งเสริมกรอบเจรจาตามสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) และการค้าเสรี(FTA) เพื่อไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็ว
ขณะที่จีนมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 มุ่งเน้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การลดความเข้มข้นของคาร์บอน (Carbon Intensity) ซึ่งจะลดความเข้มข้นของคาร์บอนฯ 18% ของหน่วยต่อ GDP 2.ลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานซึ่งมีเป้าหมาย 13.5% ของหน่วย GDP 3.ตั้งเป้าการลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งมีเป้าลดให้เหลือไม่เกิน 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมด 4.เพิ่มยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้ได้ 20% ของการผลิตจำหน่ายรถทั้งประเทศ
ESG ยกระดับทักษะคน
แก้โจทย์ความยากจนข้ามรุ่น
แสงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยวันนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เขียนถึงเรื่องของกรีน เรื่องของ ESG และเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การที่เราจะมีสังคมคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการลดโลกร้อน พร้อมทั้งมีกฏหมายที่จะส่งเสริมให้ SMEs มีศักยภาพที่เข้มแข็ง แข่งขันได้
“วันนี้การทำ ESG ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ในขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องตอบโจทย์และมีความทันสมัย ส่วนฝั่งทางการเงินเป็นตัวช่วยเร่งให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สามารถเปลี่ยนผ่านไปยังกรีนได้ แต่สิ่งสำคัญยังต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเสริม เช่น เทคโนโลยีเกี่ยวกับการดักจับคาร์บอน ไปพร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก”
อย่างไรก็ตาม แสงชัย กล่าวอีกว่า ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเปลี่ยนผ่านไปได้เร็วขึ้น เพราะจากการสำรวจความรู้ความเข้าใจของ SMEs ไทย พบว่ามีความเข้าใจ ESG ต่างกัน ดังนั้นจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลไกการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้เพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ เพิ่มรายได้ เพิ่มยอดขาย เป็นต้น
เร่งการจัดการของเสียและบรรจุภัณฑ์
เชื่อมโยงซัพพลายเชนแก้ปัญหาร่วมกัน
ขณะที่ ปฏิญญา ศีลศุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อ 16 กันยายนที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีสมาคมซาเล้งรับซื้อของเก่าเข้าร่วมด้วย รวมทั้งผู้ประกอบการในการจัดการของเสีย ตั้งแต่โรงงานฝังกลบและโรงงานรีไซเคิล ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
ขณะเดียวกันได้หารือถึงความท้าทายที่พบ ทั้งในเรื่องของนโยบายภาครัฐ เพราะการออกกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (EPR) หรือกฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ต่อมาเป็นเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Infrastructure Economy) ภาคเอกชนต้องแสดงความเข้มแข็งในการสร้างห่วงโซ่เชื่อมโยงกับซัพพรายเชน และจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และสุดท้ายคือกระบวนการวัดมาตรฐานในทุกภาคส่วน การให้รางวัลระดับองค์กรที่การวัดมาตรฐาน ยังเป็นความท้าทายในการก้าวข้ามโดยนำข้อมูล และการวัดทางวิทยาศาสตร์มาคำนวณ
ดังนั้นควรจัดลำดับความสำคัญเรื่องที่ต้องทำก่อน คือ ต้องจัดทำโรดแมป ในการพัฒนาร่างกฎหมายควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และต้องเกิดการเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคโดยไม่ทิ้งฝ่ายใดไว้ด้านหลัง
สร้างห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ลดคาร์บอนไม่ได้ ก็ขายไม่ได้
ด้าน นายสุชัย กอประเสริฐศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เผยว่า ในภาคส่วนของแพคเกจจิ้ง หรือบรรจุภัณฑ์นั้น ปัจจุบันได้ปรับวิธีการด้วยการนำวัสดุเก่ามาใช้งานใหม่ (Recycling) ในส่วนที่เป็นกระดาษ ได้สรรหาวัตถุดิบมาใช้ผลิตเยื่อกระดาษ จากแหล่งปลูกป่าที่ถูกต้อง หรือไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ส่วนในระบบการผลิต ก็มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจก ลดทรัพยากร ลดการใช้น้ำ รวมทั้งผลิตพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แม้ว่าผลิตภัณฑ์กระดาษจะสามารถรีไซเคิลได้อยู่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะการส่งสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ เริ่มมองถึงเรื่องความยั่งยืนทั้งระบบ มีกฎระเบียบมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถอยู่เฉยได้ อุตสหกรรมบรรจุภัณฑ์ต้องพลักดันตัวเองต่อเนื่อง
โดยอุตสาหกรรรมบรรจุภัณฑ์ ไม่มีมาตรฐานสินค้าตายตัว แต่มีมาตรฐานในเชิงความคิดว่าลูกค้าต้องการอะไรที่หลากหลาย ซึ่งความก้าวหน้าที่ผ่านมา คือการระบุถึงผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint Out Product) ปักหมุดว่าผลิตภัณฑ์ที่เจ้าของธุรกิจซื้อไปช่วยโลกได้
“จากนี้เป็นต้นไป อนาคตของแพคเกจจิ้งจะถูกตรวจสอบว่าตอบโจทย์เรื่องการปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน ถ้าลดคาร์บอนไม่ได้ ก็ขายไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องทำงานร่วมกันทั้งระบบ เพราะต่อไปแนวคิดการดีไซน์แพคเกจจิ้งจะมีความท้าทายมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตและออกแบบแพคเกจจิ้ง “
ขณะเดียวกัน ตอนนี้ World Economic Forum (WEF) เริ่มมีการพูดถึง Circular Bio-Economy เรื่อง Circular Economy ยังไปไม่ถึงไหน แต่ต่อไปจะเริ่มพูดถึงว่า ธุรกิจที่ทำนั้นมาจากการใช้พลังงานสะอาดหรือไม่ หรือยังใช้พลังงานฟอสซิลหรือไม่ วัตถุดิบตั้งต้นในการพัฒนาสินค้ามาจากไหน สามารถปลูกหรือสร้างทดแทนได้หรือไม่ จึงสะท้อนให้เห็นว่ามิติเหล่านี้นับเป็นความท้าทายของประเทศไทยอย่างมาก
โมเดล ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’
ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย
บัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า โมเดลสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ถือเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย โดยจังหวัดสระบุรีถือว่ามีความซับซ้อนในเรื่องภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และยังเป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศไทย เปรียบเป็นศูนย์กลางของวัสดุการก่อสร้าง โดยการขับเคลื่อนการทำงานเป็น PPP-Partnerships ร่วมมือกันหลายภาคส่วน
“โดยโครงการลดคาร์บอนที่ทำอยู่ตอนนี้ เช่น การสนับสนุนทำนาเปียกสลับแห้งบนพื้นที่สระบุรี ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร, การอนุรักษ์และสร้างพื้นที่สีเขียว, การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างยั่งยืน และช่วยให้ความรู้แก่คนในชุมชน การให้มอบสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือดูแลป่าและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50 ล้านตันคาร์บอนในปี 2570 และคาดหวังจะขยายโมเดลไปสู่จังหวัดต่าง ๆ”
เขายังเห็นว่า สิ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนนี้เกิดขึ้นได้จริงได้ คือ
1.การทำทันที ในทิศทางเดียวกัน
2.ไม่มีถูก ไม่มีผิด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ เปรียบเหมือนห้องทดลองใหญ่
3.เห็นต่างได้ แต่ไม่ขัดแย้ง หาจุดรวมกันกับทุกภาคส่วน
4. ต่อสู้กับความท้าทายด้วยรอยยิ้ม ซึ่งเป็นเคล็ดลับในการขับเคลื่อนโครงการตลอด 1 ปีที่ผ่านมา