ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ชี้การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไทยต้องจับมือกันตลอดทาง

ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ชี้การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไทยต้องจับมือกันตลอดทาง

 เวที  ESG Symposium 2024 ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ชี้ศักยภาพของประเทศไทย เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องจูงมือกันไปตลอดเส้นทาง ภาคพลังงาน ภาคเกษตร และการจัดการวัสดุเหลือใช้ ต้องบริหารจัดการเชื่อมโยงกัน 

 

 

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทยยังมีความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ปัจจุบันยังใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นหลัก ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดได้ฉับพลัน เช่นเดียวกับภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ยังถูกตีตราว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะการปลูกข้าว ที่ต่อไปจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรจากรูปแบบเดิม ไปใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำลง 

ไม่เท่านั้นการบริหารจัดการขยะ ประเทศไทยยังไม่สามารถลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบได้ทันที ยังต้องสร้างความตระหนักรู้ และการคัดแยกประเภทขยะในภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบนเวที ESG Symposium 2024 : Driving Inclusive Green Transition 

ในช่วงของการเสวนาหัวข้อ Thailand Potentails For Sustainable Transition : ศักยภาพของประเทศไทยเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยผู้แทนจากหน่วยงานต่างประเทศที่นำเสนอมุมมองดังกล่าว และข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยควรจะก้าวเดินต่อไป เพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

 

การเปลี่ยนผ่านพลังงาน 

ทีมไทยแลนด์ต้องจูงมือกันไปตลอดเส้นทาง 

ดร.เอริค ลาสัน (Dr.Eric Lason) Reserch Professor, Princeton University, USA ซึ่งเป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐฯ ได้ศึกษาเรื่องของการเปลี่ยนผ่านพลังงานในสหรัฐ ชี้ว่า เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยภายในปี 2050 จำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยี และวิธีการนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเป้าหมายการเปลี่ยนพลังงานสะอาด ยกเลิกการใช้ฟอสซิล 

“บางประเทศวางแผนที่จะไม่ใช้ฟอสซิลเลย ในขณะที่บางคนมองว่าอาจต้องมีจะยังต้องพึ่งพาฟอสซิลบ้าง ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือ ต้องให้รับฟังความต้องการที่แท้จริงของคนในท้องถิ่น โดยมีตัวแทนมาหารือ ตั้งทีมทำงานในประเทศ และทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกรายในสังคมตั้งแต่เริ่มต้น จูงมือกันไปตลอดทาง เพื่อให้คนรับรู้ถึงความสำคัญ ทั้งเรื่องเงิน สังคม เทคโนโลยี เราจะต้องทำให้คนเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะไปไม่ถึงไหน 

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ได้จำกัดเพียงแค่การผลิตไฟฟ้า แต่ต้องการแนวทางที่ครอบคลุม รวมถึงให้ความสำคัญกับความโปร่งใส และข้อมูลแบบเปิด จะช่วยอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจ และเพิ่มความเข้าใจของประชาชน” 

 

ทำเกษตรอย่างไรให้ผลผลิตดี ไม่มีคาร์บอน 

ดร.นานา คุนเคิล (Dr.Nana Kuenkel) Director & Cluster Coordinator, Agriculture & Food, Germany กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนหนึ่งมาจากภาคการเกษตรในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ปลูกข้าว ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนจำนวนกว่า 56,000 ล้านตัน ส่วนของประเทศไทยมาจากการผลิตในภาคเกษตรเช่นกัน ซึ่งข้าวเป็นตัวสำคัญสุด ทั้งนี้ประเทศไทย ได้แสดงความเจตจำนงค์ ไม่ว่าจะเป็น net zero หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานอย่างยิ่ง

แต่ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้สร้างความเปราะบางต่อภาคการเกษตร ความร้อนส่งผลกระทบต่อผลผลิต และวงจรในการผลิต เช่น น้ำท่วม นอกจากสร้างความเสียหายต่อผลผลิตแล้ว ยังเกิดดินเซาะ ดินกร่อน เกิดโรคภัย ศัตรูพืช การที่โลกร้อนขึ้น ชื้นขึ้น ส่งผลกระทบมากมาย  ทั้งนี้ ภาคเกษตรถือเป็น 8-10% ของ GDP และการทำนาเป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทย เนื่องจากชาวนาจำนวนมาก ต้องพึ่งพาผลผลิต ส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อย และรายได้น้อย 

อย่างไรก็ตามเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ เป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่โครงการบริหารจัดการน้ำ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งส่งเสริมการลดการใช้ปุ๋ยเคมี พร้อมกับวัดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งการปรับระดับที่ดินด้วยเลเซอร์ นอกจากข้าว ไทยยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกปาล์มน้ำมัน จำเป็นต้องฝึกอบรมช่วยเกษตรกรในภาคปาล์มน้ำมัน ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล 

ทั้งนี้การร่วมมือของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีความสำคัญในการกำหนดแนวทางด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภาคการเกษตรมีความยืดหยุ่นและสามารถรับรองความมั่นคงด้านอาหารท่ามกลางความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

 

ด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้ 

เบลินดา น็อกซ์ (Belinda Knox) Deputy Managing Director, I-Environment Investment Ltd.(IEI), Itochu, UK กล่าวว่า การจัดการขยะแบบยั่งยืน ไม่สามารถทำได้อย่างฉับพลัน ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษ มีการพลิกโฉมการจัดการขยะเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 มีการจัดการขยะในครัวเรือน และประกาศกฏหมายว่าด้วยเรื่องขยะ หลากหลายมุมมอง และมีการจัดลำดับชั้นของขยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเข้าใจง่าย ไม่เพียงเท่านั้นยังเริ่มที่จะประกาศภาษีสำหรับการฝังกลบตอนนี้เป็นตันละ 120 ปอนด์ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ เนื่องจากบรรดาเทศบาล องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องเปลี่ยนระบบการจัดการขยะ 

ทั้งนี้การจัดการขยะทุกประเทศสามารถตกลงกันได้ แต่แนวทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันการเกิดขยะดีที่สุด แต่ถ้าป้องกันไม่ได้ต้องมาดูเรื่องรียูซ รีไซเคิล นอกจากนั้นยังมีเรื่องของนโยบาย PPP Tender เข้ามา เป็นนโยบายเกี่ยวกับระดมเงินลงทุน การกำจัดขยะ เพื่อให้เกิดการไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลง นำเอาขยะมาทำพลังงานมากขึ้น พร้อมกับขึ้นภาษีในการฝังกลบขยะ ตอนนี้มีโรงงานผลิตพลังงาน ขนาดใหญ่ จัดการกับขยะครัวเรือน อัตราการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 

เวลาทำนโยบายในประเทศใดก็ตาม ต้องมองถึงการเดินทางระยะยาว ต้องดำเนินต่อไป เพื่อให้รีไซเคิลมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งต้องทำงานร่วมกับครัวเรือน รวมถึงโครงการแรงจูงใจต่าง ๆ และโครงการที่จะให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่นผู้ผลิตภาคส่วนต่าง ๆ ต้องจ่ายเงิน หรือลดขยะตั้งแต่ต้นทาง 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2026 จะต้องมีการแยกกักเก็บเศษขยะอาหาร มีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่ต้องมีการจัดเก็บขยะจากอาหารแยก มีระบบสร้างไบโอแก๊ส แนวโน้มนี้จะมีการกระตุ้นให้มีการรีไซเคิล และดึงของเสียกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น 

 

อังกฤษปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินมุ่งสู่ Net Zero

นอกจากนั้น เบลินดา กล่าวอีกว่า ตอนนี้ที่ประเทศอังกฤษ เริ่มปิดโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหินแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อไปสู่ net zero เขาจะไม่ใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานอีกต่อไป และในขณะเดียวกันก็เรียกร้องโรงงานผลิตพลังงานจากขยะ ให้ใช้ระบบ ETS ไม่เท่านั้น การลงทุนในเรื่องการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ก็เป็นทิศทางที่จะก้าวไปต่ออนาคตข้างหน้า