อังกฤษกำลังจะหยุดผลิตไฟฟ้าจากการเผาถ่านหิน ซึ่งเป็นการยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยาวนานถึง 142 ปี โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของประเทศที่ แรทคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ (Ratcliffe-on-Soar) ได้ปิดเดินเครื่องเมื่อวันจันทร์นี้ หลังจากเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2425
นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่จะลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเมื่อถูกเผาไหม้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไมเคิล แชนค์ส กล่าวว่า เราเป็นหนี้บุญคุณต่อคนหลายชั่วอายุคนในฐานะประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) จากเดิมเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานถ่านหิน แต่จากนี้เป็นต้นไปอังกฤษจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งแรกที่จะเลิกใช้พลังงานถ่านหิน
ลอร์ดเดเบน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นี่เป็นวันที่น่าจดจำเพราะท้ายที่สุดแล้วอังกฤษก็สร้างความแข็งแกร่งของตนขึ้นมาจากถ่านหิน ซึ่งก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม
จุดกำเนิดโรงงานถ่านหิน
โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งแรกของโลก โรงไฟฟ้า สะพานโฮลบอร์น (Holborn Viaduct) สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2425 ที่กรุงลอนดอน โดยนักประดิษฐ์โทมัส เอดิสัน ซึ่งนำแสงสว่างมาสู่ท้องถนนในเมืองหลวง
นับตั้งแต่จุดนั้นจนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ถ่านหินเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของอังกฤษโดยใช้เพื่อบ้านเรือนและธุรกิจ
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ถ่านหินเริ่มถูกบังคับให้ออกจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซ แต่ถ่านหินยังคงเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงข่ายไฟฟ้าของอังกฤษในอีกสองทศวรรษต่อมา ในปี 2555 ก็ยังคงผลิตไฟฟ้าได้ 39 % ของอังกฤษ
การเติบโตของพลังงานหมุนเวียน
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเติบโตมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าก๊าซเรือนกระจกของโลกจำเป็นต้องลดลง และเนื่องจากถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด จึงเป็นเป้าหมายหลัก
ในปี 2551 อังกฤษได้กำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเป็นครั้งแรก และในปี 2558 แอมเบอร์ รัดด์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แจ้งต่อโลกว่า อังกฤษจะยุติการใช้พลังงานถ่านหินภายในทศวรรษหน้า
เดฟ โจนส์ (Dave Jones) ผู้อำนวยการด้านข้อมูลเชิงลึกระดับโลกของเอ็มเบอร์ (Ember) ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการ ‘เริ่มต้น’ ที่จะยุติการใช้พลังงานถ่านหินได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นการให้ทิศทางที่ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมและยังแสดงถึงความเป็นผู้นำและสร้างมาตรฐานให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม ตามที่ลอร์ดเดเบนกล่าว
“ผมคิดว่ามันสร้างความแตกต่างอย่างมาก เพราะคุณต้องการใครสักคนที่จะชี้ให้เห็นและพูดว่า พวกเขาทำได้แล้ว ทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ?” เขากล่าว
การเติบโตของพลังงานสะอาด เร่งให้โรงงานถ่านหินต้องยุติ
ในปีพ.ศ. 2553 พลังงานหมุนเวียนผลิตพลังงานได้เพียง 7% ของพลังงานทั้งหมดของอังกฤษ และภายในครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2567 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่
การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานสีเขียวทำให้สามารถปิดถ่านหินได้โดยสมบูรณ์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยมีวันปลอดถ่านหินครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2560
การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้กำหนดวันสิ้นสุดการใช้พลังงานถ่านหินถูกเลื่อนเร็วขึ้นหนึ่งปี และในวันจันทร์ที่ผ่านมา โรงงาน แรทคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ (Ratcliffe-on-Soar) ก็ได้กำหนดปิดโรงงานเช่นกัน
คริส สมิธ ทำงานในโรงงานแห่งนี้มาเป็นเวลา 28 ปีในทีมสิ่งแวดล้อมและเคมี เธอกล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่สำคัญมาก โรงงานแห่งนี้ดำเนินกิจการมาโดยตลอด และเราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้โรงงานแห่งนี้ดำเนินงานต่อไป มันเป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้ามาก
ลอร์ดเดเบนดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ในช่วงที่เหมืองถ่านหินหลายแห่งของอังกฤษถูกปิด และคนงานหลายพันคนต้องตกงาน เขากล่าวว่าคนงานในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันต้องเรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
“ผมสนใจเป็นพิเศษถึงวิธีที่รัฐบาลนี้ และรวมถึงรัฐบาลก่อน พยายามทำให้แน่ใจว่างานใหม่ ซึ่งมีงานสีเขียวอยู่เป็นจำนวนมาก จะย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ที่กำลังได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลง”
“ในพื้นที่น้ำมันในทะเลเหนือ เราควรดักจับและกักเก็บคาร์บอน และควรนำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาใช้ด้วย” เขากล่าว
ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า
แม้ว่าถ่านหินจะเป็นแหล่งพลังงานที่ก่อมลพิษมาก แต่ข้อดีของถ่านหินก็คือสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ต่างจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ถูกจำกัดด้วยสภาพอากาศ
เคธี่ โอนีล (Kayte O’Neill) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ ผู้ปฏิบัติงานระบบพลังงาน (Energy System Operator) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของอังกฤษ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีนวัตกรรมมากมายเพื่อช่วยให้เราแน่ใจถึงเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงการเปิดไฟให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
เทคโนโลยีที่สำคัญที่ช่วยให้เกิดเสถียรภาพซึ่งเคธี่ โอนีลพูดถึงก็คือเทคโนโลยีแบตเตอรี่
ดร. ซิลเวีย วาลุส ผู้จัดการโครงการวิจัยสถาบันฟาราเดย์ กล่าวว่าวิทยาศาสตร์ด้านแบตเตอรี่มีความก้าวหน้าอย่างมาก
“เทคโนโลยีใหม่ ๆ ยังคงมีช่องว่างเสมอ แต่ในปัจจุบันมีการให้ความสำคัญอย่างมากกับวิธีที่จะทำให้เทคโนโลยีมีความยั่งยืนมากขึ้นและมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า” เธอกล่าว
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ อังกฤษต้องเป็นอิสระจากจีนมากขึ้นในการผลิตแบตเตอรี่ของตัวเองและนำแรงงานที่มีทักษะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์นี้ เธอกล่าวอธิบาย
ประวัติศาสตร์ยาวนานของถ่านหินในอังกฤษ
ตั้งแต่สมัยโรมันจนถึงการปิดโรงงานแรทคลิฟฟ์
การเปลี่ยนผ่านของอังกฤษไปสู่อนาคตที่ใช้พลังงานคาร์บอนต่ำได้มาถึงจุดสำคัญด้วยการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ที่แรทคลิฟฟ์-ออน-ซอร์ ( Ratcliffe-on-Soar) ในนอตทิงแฮมเชียร์
การปิดโรงไฟฟ้าอายุ 57 ปีนี้เมื่อวันจันทร์ ถือเป็นการสิ้นสุดการผลิตพลังงานถ่านหินในสหราชอาณาจักรที่มีอายุกว่า 140 ปี ซึ่งเป็นเรื่องราวทางอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของอังกฤษ
ระหว่างช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของอังกฤษเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2425 จนกระทั่งโรงไฟฟ้า Ratcliffe ปิดตัวลง โรงไฟฟ้าถ่านหินของอังกฤษใช้ถ่านหินไป 4,600 ล้านตัน และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10,400 ล้านตัน ตามการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์จาก Carbon Brief ซึ่งมากกว่าที่ประเทศส่วนใหญ่เคยผลิตได้จากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด
สหภาพแรงงาน นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และนักการเมืองต่างต้อนรับการสิ้นสุดของยุคสมัยนี้ในฐานะตัวอย่างว่าอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษควรยุติลงอย่างไรในขณะที่ยังคงรักษาแรงงานและชุมชนเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่จะมองย้อนกลับไปและไตร่ตรองถึงบทบาทสำคัญของถ่านหินในการขับเคลื่อนอังกฤษยุคใหม่:
การพึ่งพาถ่านหินของอังกฤษมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน
การพึ่งพาถ่านหินของอังกฤษมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาอังกฤษเชื่อว่าชาวโรมันอาจเริ่มทำเหมืองถ่านหินในพื้นที่เน็ตเทิลบริดจ์ เมืองซัมเมอร์เซ็ต ประเทศอังกฤษ ใกล้กับฟอสส์เวย์ เพื่อหาถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการให้ความร้อนแก่ห้องอาบน้ำและหลอมเหล็ก แต่ถ่านหินได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของอังกฤษในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ความต้องการถ่านหินพุ่งสูงขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1700 เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรก อุตสาหกรรมการทำเหมืองถ่านหินของอังกฤษซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการ แต่การประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำในปี ค.ศ. 1712 ได้ปลดล็อกศักยภาพของแหล่งสำรองถ่านหินอันอุดมสมบูรณ์ของอังกฤษในแหล่งถ่านหินทางตอนกลางของสกอตแลนด์ ทางใต้ของเวลส์ มิดแลนด์ และทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ
เครื่องยนต์นิวโคเมนที่ขับเคลื่อนด้วยถ่านหินจะสูบน้ำที่ท่วมเหมืองเป็นประจำออกไป ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งสำรองที่ลึกกว่าและมีปริมาณมากขึ้น ในช่วงต้นทศวรรษปี 1700 มีการขุดถ่านหินประมาณ 3 ล้านตันทุกปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30 ล้านตันในช่วงทศวรรษปี 1830
ในช่วงต้นทศวรรษปี ค.ศ. 1800 ถ่านหินถูกนำมาใช้ในการผลิตก๊าซสำหรับให้แสงสว่างในเมืองและเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการขยายเส้นทางรถไฟของอังกฤษที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1882 อังกฤษจึงได้เปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินสาธารณะแห่งแรกของโลกที่ Holborn Viaduct ในลอนดอน โรงไฟฟ้าแห่งนี้สร้างขึ้นโดยบริษัท Edison Electric Light ของ Thomas Edison โดยในช่วงแรกนั้นสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับไฟถนนเกือบ 1,000 ดวงตั้งแต่ Holborn Circus ไปจนถึง St Martin’s Le Grand รวมถึงบ้านพักอาศัยส่วนตัว โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กอื่นๆ ก็ได้ผลิตตามขึ้นมา
ศตวรรษเชื้อเพลิงฟอสซิล
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้าในอังกฤษเกือบ 100% จนกระทั่งถึงปี 1950 โรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 96% และในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และ 1970 คณะกรรมการผลิตไฟฟ้ากลางของรัฐอังกฤษได้เปิดตัวโรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นใหม่
ในปี พ.ศ. 2509 Ferrybridge C เริ่มผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำแอร์ในเวสต์ยอร์กเชียร์ โดยเปิดดำเนินการด้วยกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์จากหน่วยผลิตขนาด 500 เมกะวัตต์จำนวน 4 หน่วย ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในยุโรปที่ผลิตไฟฟ้าจากหน่วยผลิตขนาดนี้
ภายในสองปี โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใกล้เคียงกันก็ผุดขึ้นทั่วไปในแหล่งถ่านหินของอังกฤษ ได้แก่ Ratcliffe-on-Soar, Cottam และ West Burton A เริ่มผลิตไฟฟ้าในนอตทิงแฮมเชียร์ และโรงไฟฟ้า Eggborough ก็เริ่มดำเนินการในนอร์ธยอร์กเชียร์ด้วย
ภายในสิ้นทศวรรษ โรงไฟฟ้าถ่านหิน Ironbridge และ Rugeley เริ่มผลิตไฟฟ้าในเวสต์มิดแลนด์ส โดยรวมแล้ว มีโรงไฟฟ้าขนาดดังกล่าวประมาณ 12 แห่งเริ่มผลิตไฟฟ้าในช่วงปีระหว่างปี 1966 ถึง 1974 โดยโรงไฟฟ้า Drax ขนาดยักษ์ในนอร์ธยอร์กเชียร์เป็นโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์
หลังจากภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงระหว่างการหยุดงานของคนงานเหมืองในปี 1984-1985 พลังงานถ่านหินก็ไม่สามารถกลับสู่ระดับสูงสุดที่บันทึกไว้ในช่วงต้นทศวรรษได้ ในช่วงทศวรรษ 1990 การที่อังกฤษหันมาใช้พลังงานก๊าซและความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นได้บ่งชี้ถึงจุดเริ่มต้นของการลดลงอย่างยาวนานของพลังงานถ่านหิน
ขับเคลื่อนด้วยพลังงานถ่านหิน
สหัสวรรษ(ในรอบ 1,000 ปี) เริ่มต้นด้วยถ่านหินคิดเป็น 36% ของไฟฟ้าทั้งหมดในอังกฤษโดยโรงไฟฟ้าก๊าซและเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้นในระบบไฟฟ้า โรงไฟฟ้า ถ่านหินมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกฎระเบียบที่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อช่วยลดมลพิษ
ภายในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลอังกฤษได้ผ่านพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกำหนดให้ต้องลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวม 6 ประเภท รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 80 % ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนเป็นสองเท่าของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซรุ่นใหม่
ในปี 2556 ภาษีใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อชดเชยต้นทุนการปล่อยคาร์บอนทำให้ราคาก๊าซเพิ่มขึ้น ภาษีนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุด 10 แห่งของสหราชอาณาจักร ต้องปิดตัวลงในช่วงทศวรรษต่อมา
ในปี 2558 รัฐบาลได้วางแผนยุติการผลิตพลังงานจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2568 ในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลทั่วโลกได้ประชุมกันที่กรุงปารีสเพื่อหารือเรื่องสภาพอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพอากาศในปี 2559 ที่จะรักษาระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลกใม่ให้สูงกว่า 2 องศาเซลเซียส
ภายในปี 2563 พลังงานถ่านหินลดลงเหลือเพียง 1.8% ของส่วนผสมพลังงานไฟฟ้าของอังกฤษ และในปี 2564 รัฐบาลได้เลื่อนการห้ามไปจนถึงเดือนตุลาคม 2567 การตัดสินใจที่จะเร่งยุติยุคพลังงานถ่านหินของอังกฤษได้รับการประกาศเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศของสหประชาชาติ Cop26 ในเมืองกลาสโกว์ซึ่งการเรียกร้องให้ยุติการใช้ถ่านหินกลายเป็นประเด็นสำคัญ
เดิมทีโรงงาน แรทคลิฟฟ์ (Ratcliffe) มีแผนจะปิดตัวลงในช่วงปลายปี 2565 แต่เจ้าของบริษัทซึ่งก็คือบริษัทพลังงานยูนิเปอร์ (Uniper) ของเยอรมนี กล่าวในเวลาต่อมาว่าโรงงานจะยังคงดำเนินการต่อในระหว่างวิกฤตก๊าซทั่วทั้งยุโรปที่เกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียตามข้อตกลงกับรัฐบาล
ไมเคิล แชนค์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัยหนึ่ง และเสริมว่า “คนงานในอุตสาหกรรมถ่านหินสามารถภาคภูมิใจในงานที่ทำเพื่อประเทศของเรามาเป็นเวลา 140 ปี เราเป็นหนี้บุญคุณต่อคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าในฐานะประเทศ”