GGC-GIZ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายย่อย 4 จังหวัดภาคใต้ต่อยอดความสำเร็จ การผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืน สู่ ‘การผลิตปาล์มน้ำมันคาร์บอนต่ำ’
การลดผลกระทบภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ฐานที่ล้วนมีส่วนทำให้โลกร้อนมากบ้างน้อยบ้างผ่านกิจกรรมต่างๆ
โดยต้นตอใหญ่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดจากภาคการผลิตพลังงาน ภาคการคมนาคมขนส่ง โดยมีภาคการเกษตร เป็นอันดับถัดมา
ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักงานอาหารและยาแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า ตั้งแต่ปี 2543-2564 พบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั่วโลกเพิ่มขึ้น 14%
ทั้งนี้เพื่อมีส่วนลดผลกระทบโลกร้อนในภาคการเกษตรไทย ล่าสุด บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ประจำประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายย่อย 4 จังหวัดภาคใต้ ต่อยอดความสำเร็จ ประกาศยกระดับจากการผลิตปาล์มอย่างยั่งยืนสู่การผลิตปาล์มน้ำมันแบบคาร์บอนต่ำ
โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Sustainable Palm Oil Production and Procurement Project on Climate Mitigation and Adaptation หรือ SPOPP CLIMA) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้
ต่อยอดกลุ่มเกษตรกรรายย่อย
ปลูกปาล์มยั่งยืน ลดโลกร้อน
ทั้งนี้โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Sustainable Palm Oil Production and Procurement Project for Climate Mitigation and Adaptation หรือ SPOPP CLIMA) เป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จจากการรับรองกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ตามมาตรฐานการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน (Roundtable Sustainable Palm Oil หรือ RSPO) ภายใต้โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรือ SPOPP ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ และความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร
มุ่งสร้างองค์ความรู้คำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันทะลายสด
โดยมุ่งเน้นในการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน RSPO ในโครงการ SPOPP ให้สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาต่อยอดในการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันทะลายสด และมีแนวทางการจัดการสวนแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งการลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเป็นการเพิ่มความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันของไทยในตลาดโลกอีกด้วย
GGC ชูธุรกิจยั่งยืน สอดคล้องเป้าหมาย SDGs
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ GGC กล่าววิสัยทัศน์ภายในงานว่า GGC ได้ดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าและยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ในฐานะผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม
“เราคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนยั่งยืน มีเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20 % ภายในปี 2573 และในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero target) ภายในปี 2593 ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่สนับสนุนการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินธุรกิจและการผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ”
ปลูกปาล์มคาร์บอนต่ำ สอดรับก.ม.ปลอดทำลายป่า EU
นายกฤษฎา ยังกล่าวว่า จากความสำเร็จการดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรือ SPOPP ที่ผ่านมา GGC ได้นำมาเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้านยั่งยืนของบริษัทฯ ในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย GGC และ GIZ มีแผนร่วมกันดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Sustainable Palm Oil Production and Procurement Project for Climate Mitigation and Adaptation (SPOPP CLIMA) ในปี พ.ศ. 2567 – 2570
โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรในการปลูกปาล์มและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้น และคาร์บอนเครดิต เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของ GGC ในปี พ.ศ. 2593 และส่งเสริมการปลูกปาล์มยั่งยืนที่สอดรับกับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า EU Deforestation-free Regulations: EUDR ที่จะเริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2568 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานความยั่งยืนต่าง ๆ ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะช่วยสนับสนุนให้เกิดกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันของไทยในตลาดโลกอีกด้วย” นายกฤษฎา กล่าว
พัฒนาเกษตรไทยยั่งยืน ปกป้องสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหาร
จูเลี่ยน ทอสส์ ผู้แทน ผู้ประสานงานกลุ่มโครงการเกษตรและอาหาร GIZ ประเทศไทย กล่าวในพิธีลงนามข้อตกลงว่า โครงการ SPOPP CLIMA มีวัตถุประสงค์พัฒนาการเปลี่ยนแปลงของการเกษตรในประเทศไทยไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มโครงการฯ ที่มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับความเป็นอยู่ และเสริมสร้างความยืดหยุ่นของเกษตรกร ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และบรรเทาภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สร้างต้นแบบเกษตรกรกว่าพันราย หวังขยายผลโครงการในพื้นที่ระยะยาว
“ความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร กลุ่มโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันผ่านโครงการ SPOPP CLIMA จะช่วยยกระดับความยั่งยืน และห่วงโซ่คุณค่าการจัดการสวนปาล์มน้ำมันคาร์บอนต่ำที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ การทำงานพัฒนาร่วมกันครั้งนี้จะนำไปสู่การต่อยอดเพื่อสร้างต้นแบบเกษตรกรกว่าหนึ่งพันคนและวิทยากรที่มีความรู้และศักยภาพอีกไม่น้อยกว่า 50 คนเพื่อขยายผลในพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลในการคำนวณการฝึกอบรมคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ปาล์มทะลายสดของเกษตรกรภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ นำมาสู่การจัดการสวนปาล์มคาร์บอนต่ำในประเทศไทยในระยะยาวต่อไป”