‘บางกอกเคเบิ้ล’ ธุรกิจสายไฟฟ้า ประกาศทิศทางสู่องค์กร Net Zero 2045

‘บางกอกเคเบิ้ล’ ธุรกิจสายไฟฟ้า ประกาศทิศทางสู่องค์กร Net Zero 2045

ธุรกิจสายไฟฟ้า นับเป็นอีกธุรกิจที่เผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล สู่พลังงานสะอาด การนวัตกรรม มาตรฐานการผลิต และความปลอดภัย ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อคงความเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ค้ำยัน การผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ   

 

 

หากกล่าวว่า ‘ไฟฟ้า’ คือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนชีวิต เมือง อุตสาหกรรม และการสัญจรบนท้องถนน ‘สายไฟฟ้า’ ก็เปรียบเสมือน ‘กระดูกสันหลัง’ ที่ค้ำยันให้โครงสร้างพื้นฐานทั้งบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ ในบ้าน ในอาคาร ในโรงงานขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคงในทุกสภาพแวดล้อม 

สายไฟฟ้า จึงต้องมีทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ยิ่งในยุคที่ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว พลังงานสะอาด สายไฟฟ้ายิ่งต้องมีนวัตกรรมและมาตรฐาน รองรับการเปลี่ยนผ่านทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไปจนถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger อย่างมีประสิทธิภาพ 

ล่าสุด บางกอกเคเบิ้ล ผู้ผลิตสายไฟฟ้า และสายเคเบิ้ล จัดงานฉลองครบรอบ 60 ปี ภายในงานมีนิทรรศการโชว์บทบาทของสายไฟในการพัฒนาเมือง พร้อมทั้งประกาศเป้าหมายในการร่วมเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยสู่โลกแห่งอนาคต

 

 

นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) กล่าวว่า บางกอกเคเบิ้ล ถือเป็นบริษัทคนไทยรายแรกที่บุกเบิกและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านจากการใช้ไฟฟ้าแบบ 110 โวลต์ เป็น 220 โวลต์ และเดินหน้าพัฒนาสายไฟฟ้าของบริษัทเรื่อยมาตลอด 6 ทศวรรษ เพื่อมีส่วนร่วมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.การพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสายไฟฟ้าให้เป็นเสมือนเส้นเลือดที่ส่งพลังงานไปยังพื้นที่ต่างๆ เชื่อมโยงประเทศ ภูมิภาค ชุมชน และสังคมเมือง รวมถึงเชื่อมโยงมนุษย์กับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เส้นทางคมนาคม สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้สอดคล้องกับทิศทางพัฒนาการของโลก

2.การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เดินหน้าส่งมอบสายไฟฟ้าคุณภาพและมาตรฐานสูงสุด สำหรับใช้ทั้งในครัวเรือนและในระดับประเทศ เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่เกิดจากอัคคีภัยและอุบัติเหตุทางไฟฟ้า พัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบทางไฟฟ้า (Lab) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยเป็นของตัวเอง เดินหน้าพัฒนาโรงงานผลิตสายไฟสู่ Smart Factory           

3.การเสริมสร้างภูมิทัศน์ของเมืองมหานคร ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับเมืองมหานคร” ร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ และเมืองหลักต่างๆ ในประเทศไทยให้เป็น มหานครไร้สาย ด้วยการนำสายไฟลงดิน พัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองให้ทันสมัยและยั่งยืน

 

 

พัฒนานวัตกรรม-ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

รองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานทดแทน

“เราพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้ง 3 ด้าน เรายังมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว ด้วยสายไฟฟ้าที่รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไปจนถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger เราจะไม่หยุดเพียงแค่การส่งผ่านพลังงาน แต่จะมุ่งมั่นสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่พลังงานสะอาด เริ่มจากการตั้งเป้าให้องค์กรของเราเป็นองค์กร Net Zero ภายในปี ค.ศ.2045 โดยจะมี Big Move ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเร็วๆ นี้” นายพงศภัค ระบุ

 

 

สายไฟฟ้า จิ๊กซอว์ โครงสร้างพื้นฐานพลังงาน

รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า สายไฟฟ้า นับเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการปรับเปลี่ยนทิศทางพลังงานของประเทศให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม รวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีสายไฟฟ้าคุณภาพสูง ประสิทธิภาพยอดเยี่ยม เพื่ออัปเกรดสายไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ ให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ ยังคงต้องสอดคล้องกับการนำพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050 และ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2065 เรายังมีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้า ทั้งการพัฒนา Smart Grid ควบคู่กับการแก้ปัญหาอื่นๆ ด้านพลังงาน เรามองว่า บางกอกเคเบิ้ล ในฐานะบริษัทสายไฟของคนไทย ดำเนินธุรกิจมายาวนาน จะเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญที่มีส่วนช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

 

สายไฟฟ้าปลอดภัย ได้มาตรฐาน 

นำองค์กรธุรกิจสู่ความยั่งยืน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ต่างให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุภายในโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์ (Zero Accident) สายไฟฟ้าที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ผ่านการออกแบบอย่างเหมาะสมให้รองรับต่อทุกสภาพแวดล้อม ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โรงงานต่างๆ สามารถลดอุบัติเหตุทางไฟฟ้า และลดความเสียหายต่อเครื่องจักร ตลอดจนทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลในโรงงาน สายไฟฟ้า จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ในการช่วยนำพาองค์กรธุรกิจและองค์กรในภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนผ่านสู่เส้นทางความยั่งยืน

“วันนี้ ภาคธุรกิจจำนวนมาก ต่างทยอยประกาศทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งเร็วกว่าทิศทางของประเทศ นั่นหมายความว่า องค์กรเอง ก็ต้องทยอยเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาด และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม” นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) ผู้ผลิตและพัฒนาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ.2507 ให้บริการครอบคลุม 7 กลุ่มการใช้งาน ได้แก่ 

 

1.ระบบผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission) 

2.ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (Distribution) 

3.ระบบไฟฟ้าภายในบ้านพักและอาคาร (Construction and Building) 

4.ระบบขนส่งและคมนาคม (Transportation and Mobility) 

5.ระบบไฟฟ้าในโรงงาน และภาคอุตสาหกรรม (Industrial) 

6.พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และ 7.ระบบไฟฟ้าในรถยนต์ (Automotive) เพื่อสร้างความปลอดภัยและขับเคลื่อนเมืองสู่อนาคต 

ปัจจุบัน มีลูกค้าโครงการขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ใช้สายไฟฟ้าของบางกอกเคเบิ้ล อาทิ โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์