เลขาสหประชาติ (UN) กล่าวเปิดประชุมประจำปีครั้งที่ 79 ณ กรุงนิยอร์ก ธีม ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ย้ำโลกถึงภาวะวิกฤติที่ปล่อยให้เป็นแบบเดิมไม่ได้ เร่งร่วมมือเปลี่ยนผ่านจัดทำแผน NDC ในปีหน้า ย้ำชัดสถาบันการเงิน ชาติร่ำรวย เติมเงินช่วยประเทศกำลังพัฒนา ยกระดับรับมือความท้าทาย ภัยพิบัติ โลกผันผวน AI ถูกควบคุมโดยคนขาดความรับผิดชอบ เสี่ยงแยกโลกเลือกข้าง
การประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 79 เป็นการอภิปรายทั่วไปของสหประชาชาติ (The general debate of the 79th session of the General Assembly-UNGA) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีขึ้นระหว่างวันที่ 24-30 กันยายน 2567 ภายใต้แนวคิด ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : ความร่วมมือกันเพื่อความก้าวหน้าของสันติภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต’
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ( António Guterres)เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวสุนทรพจน์ เปิดการประชุม เตือนผู้นำโลกอย่างขึงขัง
“สภาวะโลกเราอยู่บนความไม่ยั่งยืน เราไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ต่อไปได้”
ใจความของอันโตนิโอ ระบุว่า โลกอยู่ในภาวะวุ่นวายเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เกิดความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนจึงต้องอาศัยวาระการแก้ไขร่วมกันจากคนทั้งโลก หลังการแบ่งขั้วทางการเมืองทั่วโลกมีมากขึ้น และปัญหาโลกร้อนกำลังก่อตัวเพิ่มขึ้น เกิดภาวะสงครามเกิดการต่อสู้กันต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด มีการแสดงพลังขีปนาวุธใหม่ ๆ ออกมาเพื่อสร้างความน่าเกรงขาม กลายเป็นการสร้างความหวาดกลัว ‘เงามืดปกคลุมคนทั้งโลก’
ทั้งหมดคือ ‘ระเบิดเวลา’ ที่กลืนกินโลก
ในขณะเดียวกัน ปี 2024 เป็นปีที่มีการเลือกตั้งตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยกว่าครึ่งโลก แต่ผลการเลือกตั้งกลับมีพบผลลัพธ์ที่สำคัญที่ทำให้โลกต้องตัดสินใจทำงานร่วมกัน
ประการแรก “สถานการณ์บนโลกกลับดำเนินไปอย่างไม่ยั่งยืน และไม่สามารถเดินหน้าในแบบนี้ได้อีกต่อไป”
ประการที่สอง “ความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังผชิญยังมีโอกาสแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องได้รับความเชื่อมั่นจากความร่วมมือในการสร้างกลไกการแก้ปัญหาระหว่างประเทศอย่างจริงจัง”
3 สิ่ง กีดขวางความยั่งยืน เติมความไม่เท่าเทียมไว้ข้างหลัง
ในการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต (The Summit of the future) เป็นย่างก้าวแรกในโอกาสของการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ยังมีอุปสรรค 3 ปัจจัย ประกอบด้วย
1.โลกที่ยังมีคนไร้ความรับผิดชอบ
2.การละเมิดสิทธิ์ คุกคาม ทำผิดทางกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้โลกไม่เท่าเทียม
3.ความอยุติธรรมการเข้าถึงโอกาส กฎหมาย ทรัพยากร ก่อให้เกิดความไม่พอใจ เป็นภัยคุกคามก่อเหตุทำลายประเทศ ส่งผลทำให้ประเทศวิกฤติ ทั่วโลกจึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
“การขาดการตระหนักรู้ รับผิดชอบ ละเมิดกฎหมายและขาดความเสมอภาพ นำไปสู่ความไม่แน่นอน โลกจึงเผชิญกับความผันผวน จนคนไม่ยอมรับผู้นำทางทางการเมือง และไม่เชื่อถือในศีลธรรม เพราะมีผู้นำรัฐบาลได้สิทธิ์ พ้นโทษจากคุกฟรี ถือเป็นการเหยียบย่ำกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ รวมถึงเพิกเฉยต่ออนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”
เหตุการณ์ความวุ่นวายทั่วโลกที่มีชนวนมาจากการเมือง ประกอบด้วย กาซา กำลังเผชิญหน้ากับฝันร้ายภัยคุกคามสะเทือนไปถึงเลบานอนเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันทำให้กังวลว่าเลบานอนจะซ้ำรอยกาซา มีการก่อการร้าย จับตัวประกัน และเกิดการเข่นฆ่า ทำลายสิ่งปลูกสร้าง บ้านเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่UN กว่า 200 คน ต้องถูกฆ่าตาย เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นที่เมียนมาร์ , คองโก, เฮติ รวมถึงเยเมน การใช้ความรุนแรงนำไปสู่การบั่นทอนสภาวะความเป็นอยู่ประชากรโลกทุกข์ทรมานใจ ถูกก่อกวนสันติสุขในชีวิต
5 ปีคนจนเพิ่มขึ้นครึ่งโลก
คนรวยสินทรัพย์เพิ่ม 2 เท่า
โลกกำลังเผชิญกับความไม่เท่าเทียม และเกิดความไม่ยั่งยืนของโลก เพราะมนุษยชาติขาดจิตสำนึกร่วมกัน นี่คือรากฐานของปัญหาที่แทรกซึมมากับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างกัน ท่ามกลางการเผชิญกับปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค่าครองชีพขยายตัวขึ้น จากปัญหาเศรษกิจกำลังฟื้นตัวจากช่วงวิกฤติโควิด19
อัตราส่วนของประเทศที่ยากจนที่สุดมี 75 ประเทศ สัดส่วน 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่แย่ลงกว่า 5 ปีที่แล้ว นั่นเท่ากับว่า ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดยังครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากว่า 2 เท่า คิดเป็นสัดส่วน 1% ของประชากรโลก ที่มีโอกาสถือครองทรัพย์สินทางการเงินทั้งหมดถึง 43% ที่สำคัญกลุ่มคนรวย ยังได้รับการอุดหนุนทางด้านภาษี แทนการไปลงทุนด้านสุขภาพ การศึกษา และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคม
นำไปสู่ผลกระทบที่เกิดในผู้หญิงและเด็ก เกิดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาในวงกว้าง เช่น ในอัฟกานิสถาน เกิดการกดขี่ทางเพศผู้หยิง เด็กหญิงต้องอยู่ในระบบ และกฎระเบียบ มีผู้หญิงเพียง 10% ที่มีบทบาทในการตัดสินใจ และอภิปรายในการเมือง
“ขอเรียกร้องให้สถาบันการเมือง ภาคเศรษฐกิจระดับโลก ที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ กระจายความเท่าเทียม เสมอภาคทางเพศ และสิทธิ์ขั้นพื้นฐานต่างๆ”
เตือนสถาบันการเงิน ประเทศร่ำรวยอำนาจใกล้หมด
เร่งอุดหนุนงบช่วยประเทศยากจน 5แสนล้านเหรียญ
เช่นเดียวกันกับโครงสร้างของระบบการเงินโลก ที่เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อ 80 ปี ที่ผ่านมา ต้องเร่งต่อสู้ให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านการเงินไปสนับสนุนให้กับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ยากจนที่สุด ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่เข้าถึงได้ เพื่อให้ไปลงทุนด้านการศึกษา สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณประโยชน์ กับสังคม
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 (ปี พ.ศ.2573) สัดส่วนกว่า 80% ยังไม่ได้เดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง โดยแท้จริงหากเดินตามข้อตกลงปารีส ประเทศ G20 จะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำกระตุ้นให้เกิดการพัฒนายั่งยืน โดยการใส่เงินทุนไปราว 500,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ลงทุนในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน รองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
“ผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ยังเชื่อว่าตนเองมีอำนาจ จึงมักจะไม่เต็มใจเปลี่ยนแปลง สถานะเหล่านี้กำลังหมดพลังหากไม่ปรับตัว จะเกิดการปฏิรูป นำไปสู่ความแตกแยกทำให้สถาบันระดับโลก เริ่มสูญเสียความชอบธรรม ความน่าเชื่อถือ และประสิทธิภาพภัยพิบัติบีบให้รัฐจัดงบรองรับความผันผวนธรรมชาติ”
เลขาธิการ UN ยังระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายภัยพิบัติทางธรรมชาติมาซ้ำเติมและสร้างความไม่แน่นอน เกิดความไม่ยั่งยืน เริ่มจากเปลือกโลก หรือ ผืนดินกำลังเคลื่อนตัว ผลมาจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศกำลังก่อตัวทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณในหลายประเทศ ในแอฟริกา สัดส่วน 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพราะอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่าขีดจำกัดที่วางไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
“เรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่รุนแรง ไฟป่าที่โหมกระหน่ำ ภัยแล้ง และน้ำท่วมครั้งใหญ่ไม่ใช่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ ผลจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น ไม่มีประเทศใดรอดพ้น แต่ประเทศที่ยากจนที่สุด จึงเปราะบางและได้รับผลกระทบหนักที่สุด ภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้เกิดช่องโหว่ในงบประมาณของหลายประเทศในแอฟริกา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 5% ของ GDP – ทุกปี และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะ”
นานาชาติต้องทำแผน NDC ในปีหน้า
ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) ทุกประเทศ จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NDC -Naitonal Determined Contricutions) วางกลยุทธ์การจัดทำแผนเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ แผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อแสดงถึงแนวทางการลดคาร์บอน ตามข้อตกลงCOP28 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานลง 80% ในกลุ่มประเทศพัฒนา หรือ G20 และในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือกำลังพัฒนา ลดลง 65%
นี่จึงถือเป็นบทบาทของกลุุ่มประเทศพัฒนา และ G20 ในการทำหน้าที่ตั้งกองทุนลดการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damange Fund)
“ต้องร่วมมือกันพลิกสถานการณ์ที่บ้าคลั่งจนสู่วิกฤติที่หนักที่สุัด หากยังคงให้รางวัลแก่ผู้ก่อมลพิษทำลายโลก โดยที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเติบโตมีกำไร โดยที่คนทั่วไปต้องแบกรับต้นทุนของภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ เช่น เบี้ยประกันเพิ่มขึ้น การสูญเสียวิถีชีวิต ดังนั้นประเทศ G20 จึงต้องเปลี่ยนเงินจากเงินอุดหนุนและการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม กำหนดราคาคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาการลงทุนด้านนวัตกรรม เก็บจากฟอสซิล ผ่านกลไกทางกฎหมาย”
คนฉลาดขาดความรับผิดชอบ
หัวใส ใช้ AI แยกโลกเพื่อตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ปัญญาประดิษฐ์ (AI-Aritificial Intelligence) ส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลก ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา วัฒนธรรมการเมือง และการสื่อสาร แต่โลกกลับไม่ได้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น
“เรามีเสรีภาพมากขึ้น หรือ เกิดความขัดแย้งมากขึ้น?”
“เราไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้น – หรือความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น?”
“เราได้รับข้อมูลที่ดีขึ้น – หรือถูกควบคุมได้ง่ายขึ้น?”
เทคโนโลยีAI กลับทำให้บริษัทและบุคคลเพียงไม่กี่ราย สะสมอำนาจมหาศาลจากการพัฒนาAI โดยมีความรับผิดชอบหรือการกำกับดูแลเพียงเล็กน้อย หากไม่มีแนวทางการจัดระเบียบAI อาจจะนำไปสู่การแบ่งแยกทางความคิดเพื่อตอบสนอบความเชื่อของปัจเจกบุคคล
“การแตกแยกครั้งใหญ่ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเร่งในการแยกฝ่ายของโลก ทุกประเทศอาจจะต้องถูกบังคับให้เลือกข้างตามขั้วขัดแย้ง ผลกระทบมหาศาลต่อทุกคน ดังนั้น องค์การสหประชาชาติเป็นเวที สำคัญในการเจรจา สร้างฉันทามติ ส่งเสริมความร่วมมือด้านAI บนพื้นฐานของค่านิยมเคารพในกติกากฎบัตรและกฎหมายระหว่างประเทศ”
การเจรจาจึงเป็นสิ่งสำคัญดังที่เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต (The Summit of the Future ) เป็นหนทางในการเจรจาประนีประนอมระหว่างความแตกต่างที่จะสร้างเส้นทางร่วมกันนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับคนทั่วโลกได้
“ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเจรจาและการประนีประนอม เราสามารถร่วมมือกันเพื่อชี้นำโลกไปสู่เส้นทางที่ยั่งยืนมากขึ้น นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการเริ่มต้นของการเดินทาง เป็นเข็มทิศในพายุหมุน ก้าวไปสู่การนำพาสังคมโลก ไปสู่ความรับผิดชอบ สร้างความเสมอภาค และยุติธรรม ลดความไม่ผันผวน เพื่อขยายโอกาสให้กับประชากรทุกคนบนโลก ทำให้คนรุ่นต่อไปจะมองย้อนกลับมาที่เรา แล้วจะยอมรับในกติกาของสหประชาชาติ ที่ยืนข้างค่านิยมและหลักการที่ถูกต้องครองธรรม”