เอสซีจี ผนึกพันธมิตร ร่วมเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม สู่เศรษฐกิจสีเขียว สังคมคาร์บอนต่ำ ยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย เพิ่มโอกาส เข้าถึงการเงินเพื่อความยั่งยืน
การเปลี่ยนผ่าน (Transition) เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการเนื่องจากโลกกำลังอยู่ท่ามกลางความท้าทายในการปรับตัวเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะกำหนดความอยู่รอดของเศรษฐกิจและสังคมไทย
โดยมีความท้าทายจากทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ และการเตรียมปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องใช้ความมุ่งมั่น และเงินลงทุน เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว และสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
ในงาน Pre-session ESG Symposium 2024 เร่งเปลี่ยน เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ยกระดับขีดความสามารถในการเติบโตในนิเวศสังคมคาร์บอน ร่วมกันเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว มีการหารือถึงกุญแจสู่การเร่งเปลี่ยนผ่านให้ผู้ประกอบการไทยได้มีความพร้อมในการปรับตัว โดยดึงทุกภาคส่วน เข้ามามีบทบาทพัฒนาศักยภาพ เสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ตลอดจนภาคการเงิน สามารถช่วยผู้ประกอบการไทยรายเล็กรายย่อย ร่วมเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เอสซีจี ผนึกพลัง ร่วมเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม
จันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขี้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย รวมถึงมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ( CBAM –Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นต้น
ทุนที่ผู้ประกอบการต้องยอมจ่ายให้กับการปรับราคาในการปล่อยคาร์บอน ในการผลิตคสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนด นำไปสู่ผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งนำเข้าและส่งออก ของไทยที่ส่งไปสหภาพยุโรป
ไม่เพียงเท่านั้นในไทยยังมี Taxonomy ซึ่งเป็นการจำแนกหมวดหมู่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เปรียบเสมือนเครื่องมือสำหรับใช้พิจารณาว่าอุตสาหกรรมใดปล่อยคาร์บอนในปริมาณเท่าใด
ก่อนจะถูกตลาดบีบบังคับให้ต้องจ่ายต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการและกติกาดังกล่าวมานี้ จึงต้องเร่งความพยายามที่จะร่วมกันปรับตัว ตามกติกา เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ลดปล่อยคาร์บอน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค ก็คือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่างก็ไม่มีความพร้อมภายใน และยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกผันผวน ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาวะสงคราม ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาพลังงานเพิ่มขึ้น รวมไปถึงต้นทุนทุก ๆ ด้าน ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ข้อจำกัดของเทคโนโลยี ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ธุรกิจบางรายยังไม่สามารถจะเปลี่ยนผ่านได้เร็วอย่างที่ตั้งใจ
ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องร่วมกันเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดเล็ก หรือ SMEs จำนวนมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มนี้เป็นกลไกหลักสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจประเทศ จึงต้องร่วมเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน
“เอสซีจีจะสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรหลาย ๆ ภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องช่วยกันปลดล็อกประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ และช่วยยกระดับขีดความสามารถของ SMEs ให้พร้อมเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จะมาส่งผลกระทบกับธุรกิจ”
จีนครองฐานการผลิตแกร่งโลกเหตุรัฐอัดฉีด SMEs
ปูเครือข่ายซัพพลายเชนเข้มแข็งจากภายใน
ด้านแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจโลก จะเห็นว่า อำนาจส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีจำนวนประชากรมหาศาล ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ต่างก็เร่งผลิตสินค้าของตัวเอง ทางอินเดียมีนโยบาย Made in India และจีนที่มีนโยบาย Made in China 2025
โดยใน 3 ประเทศต่างมีความแข็งแกร่งด้านการผลิตสินค้า โดยเฉพาะจีน ถือว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าหลากหลายในต้นทุนที่ต่ำ จากปัจจัยการผลิตต่างๆ นั่นเพราะเกิดจากภาครัฐของจีน ส่งเสริม SMEs ในประเทศให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตจากภายในและยังช่วยสนับสนุนปัจจัยการผลิตในต้นทุนที่ต่ำ อาทิ ราคาพลังงาน จัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเขตปลอดภาษี โดยมีเป้าหมายให้ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ จึงเกิดซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งหันมาพึ่งพากันเองภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยมีพลังงานสะอาดเข้ามามีส่วนในการผลิตสินค้ามากขึ้น เพราะรัฐบาลเข้าใจอุปสรรคและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
“การส่งเสริมพลังงาน ตอนนี้ จีนเป็นผู้นำเช่นกัน เขามีเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ มากมาย เปลี่ยนประเทศมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ปิดโรงงานไปหลายโรงที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม มีโรงงานสมาร์ทใช้พลังงานสะอาด มีรถขนส่งที่เป็นไฮโดรเจน สถานีน้ำมันที่เหลียวหนิง การขนส่งเริ่มใช้กรีนไฮโดรเจน นี่ก็คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเร่งเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการขนส่ง”
ทำไมไทยจึงต้อง ‘วิ่ง’ เปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม
นายแสงชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เร่งเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม เนื่องจากจำนวน SMEs ของไทย ผู้ประกอบการSMES ทั้งหมดในประเทศราว 3.2 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการในระบบเพียง 2 ล้านราย สัดส่วน 99.5% ของจำนวนประกอบการภายในประเทศ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อน GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) หรือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเพียง2,000 ราย ในจำนวนกลุ่ม SMEs กลับมีการจ้างงานสัดส่วนประมาณ 71% หรือ 12.8 ล้านราย ของภาพรวมการจ้างงานภายในประเทศ สะท้อนให้เห็นได้ว่า จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสัดส่วนจำนวนมาก แต่ขาดศักยภาพ จึงมีบทบาทสร้างมูลค่าในการขับเคลื่อนของประเทศเพียงเล็กน้อย
ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้ประกอบการSMEที่แท้จริงเกือบครึ่งของ GDP มาจากเศรษฐกิจนอกระบบ ที่ยังไม่เสียภาษีถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการทำให้ SMEs ที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้มีตัวตนชัดเจน ทำให้หน่วยงานภาครัฐเข้าพัฒนาเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการได้ตรงจุด
“ไม่อยากในการช่วยเหลือSMEs เป็นแค่วาทะกรรม จึงควรมีนโยบายเพื่อSMEsให้ตรงจุด และติดตามดูผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยดึงให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และผุ้เกี่ยวข้องร่วมมือกันขับเคลื่อน เพราเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหาศาล”
ความท้าทายสำคัญ ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างโอกาสให้กับเอสเอ็มอีไทยประกอบด้วย การสนับสนุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน ในสัดส่วน 75% ขณะที่ประเทศอื่นเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว ( Green Energy)แล้ว สัดส่วนกว่า 75%
ขณะที่เรื่องยกระดับด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ( AI) ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่อง Green ที่พอจะทำให้ SMEs เข้าถึงโอกาส มีการยกระดับผลิตภัณฑ์ สามารถเข้าถึงตลาดได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งแสวงหาตลาดใหม่ ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคน ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วันนี้ถ้าเราเดินเราอาจจะตาย ฉะนั้นเราต้องวิ่ง
ขับเคลื่อน 6 เรื่องเร่งด่วน
ปลดล็อกศักยภาพ SMEs ไทย
ทั้งนี้ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยังได้นำเสนอ 6 เรื่องที่ SMEs กำลังเผชิญ และเป็นมาตรการเร่งด่วนต้องดำเนินการ คือ
1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการกระจายรายได้ วันนี้กำลังซื้อหดหาย SMEs เร่งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะขาดโอกาสหลาย ๆ อย่าง ไทยจึงจำเป็นต้องกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก
2.การลดต้นทุน ค่าครองชีพ ลดต้นทุนให้กับ SMEs เพราะวันนี้ ไฟฟ้า น้ำมัน ราคาสูงขึ้น อย่างแรกไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน และทำให้เกิดเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง หรือให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy)
3.เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ และการแก้หนี้นอกระบบ ถ้าคนยังเป็นหนี้จะทำอย่างไร ให้เขาเรียนรู้การใช้เงินอย่างถูกต้อง
“ผลสำรวจสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มสภาพคล่องประมาณ 90% หมายความว่าตอนนี้ถ้าไปดูตัวเลขแบงก์ชาติ อัตราการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ติดลบปีที่ 5 และติดลบต่ำสุดในรอบหลายปี SMEs ต้องการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ และการแก้หนี้ วันนี้ภาครัฐต้องมีกระบวนการบริหาร เป็นเจ้าภาพ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูหนี้นอกระบบ สัญญาณร้าย 3 ไตรมาสที่ผ่านมา หนี้ในระบบไหลมาสู่หนี้นอกระบบเยอะขึ้น”
4.ยกระดับความสามารถของ SMEs เพราะปัญหาของ SMEs วันนี้คือแรงงาน ถ้าแรงงานที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ก็จะสามารถทำให้ SMEs เติบโตได้
5.การแก้ไขปัญหา กฏหมายที่เป็นอุปสรรค
ผลการศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า มีกว่า 1,094 กระบวนงาน ที่ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข ถ้าทำได้จะมีเงินเข้ามา หรือลดรายจ่าย ลดต้นทุนได้แสนกว่าล้านบาท
6.การปกป้องทุนข้ามชาติ
วันนี้ระเนระนาดไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ กลาง ย่อม จะทำอย่างไรที่จะปกป้องผู้ประกอบการไทยจากทุนข้ามชาติ ที่มีทั้งเศรษฐกิจนอกระบบ ธุรกิจที่ผลิตสินค้าบางราย สินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำ บางรายมาทำธุรกิจเองหมด ใช้วัตถุดิบและแรงงานของประเทศตนเอง แต่ใช้ของไทยอย่างเดียวคือที่ดินไทย
ธนาคารโลกร่วมเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
ในส่วนของภาคการเงิน ดร.อรศรัณย์ มนุอมร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคการเงินอาวุโส ธนาคารโลกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคการเงินเข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสังคม ระบบนิเวศสีเขียว จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเศรษฐกิจสีเขียวไม่เกิน 10-12% ของ GDP โลก
ต้องยอมรับว่า กิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกยังอยู่ในโซนสีน้ำตาล คือยังปล่อยคาร์บอนสูงอยู่แต่สามารถเดินทางลดคาร์บอนเพื่อเข้าสู่ความเป็นกรีนได้ ซึ่งมีกิจกรรมหลายประเภทที่อยู่ในส่วนนี้ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ ซึ่งในหลายประเทศก็คิดผลิตภัณฑ์ที่เป็น Transition Finance ออกมาโดยเฉพาะ เพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้
3 ปัจจัย ออกแบบนิเวศยั่งยืน
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในระดับโลก เชิงระบบนิเวศมี 3 ด้าน ประะกอบด้วย
ด้านแรก ต้องดูว่าในระดับโครงการการ การดำเนินโครงการได้นำปัจจัย ESG เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินโครงการแต่ละโครงการมากน้อยเพียงใด
ด้านที่สอง ระดับองค์กร ระดับพอร์ตโฟลิโอมีการใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงหรือไม่ และเครื่องมือนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายหลัก ๆ เช่น ความตกลงปารีส มากน้อยเพียงใด
ด้านที่สาม Fnancing Sustainability ประเมินว่า เมื่อนำ ESG เข้ามาในการตัดสินใจระดับโครงการ มีกรอบในการบริหารความเสี่ยงแล้ว สุดท้ายนำไปสู่การดำเนินโครงการจริงได้หรือไม่
“ภาพรวมทั่วโลก ประมาณ 64% มีเจตนารมย์ที่จะทำ มีกรอบการทำงานแรกออกมาแล้ว และกำลังพยามทำอยู่ มีการเปิดเผยข้อมูลบ้างแล้ว แต่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไปถึงขั้นสุด”
ตลาดการเงินพื่อความยั่งยืนเพิ่งเริ่มต้น
ดร.อรศรัณย์ กล่าวต่อว่า ในเชิงของการเงินจะเห็นว่าตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนเพิ่งเริ่มต้น ประเทศต่าง ๆ เพิ่งเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าพิจารณาในเชิงของวอลุ่มเครื่องมือทางการเงินจริง ๆ ในเรื่องของความยั่งยืน ไม่เกิน 2.5% ของตลาดทั้งโลกที่เรียกว่า sustainable finance โดยพบว่าประเทศไทยอยู่ระดับกลาง วอลุ่มของ sustainable อยู่ประมาณ 1% ของ GDP ตอนนี้ถ้าดูประเทศที่ตลาดใหญ่อย่างในยุโรปก็ประมาณ 10%
หากดูตลาดในอาเซียนจะพบว่าตลาดการเงินยังไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น
จากการสำรวจบริษัทใน 5 ประเทศอาเซียนที่เคยออก Green bond , Social bond ฯลฯ พบว่ามีน้อยกว่า 100 บริษัททั่วอาเซียน ที่ใช้ประโยชน์จากการเงินเพื่อความยั่งยืน และส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น ส่วน SMEs ยังมีจำนวนน้อยมากที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากการเงินเพื่อความยั่งยืน
“ในส่วนของไทยถือว่าน้อยกว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง เราก็โตขึ้นทำให้ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนของเราอยู่อันดับสองของอาเซียน น้อยกว่าสิงคโปร์ แต่มองว่าสามารถเติบโตได้อีก”
การออกกรีนบอนด์ในไทยนำไปใช้ในกิจกรรมใดบ้าง?
ดร.อรศรัณย์ บอกว่า ในระดับอาเซียนส่วนใหญ่กรีนบอนด์จะนำไปใช้กับภาคพลังงานและภาคอาคารเขียว ในขณะที่ของไทยส่วนใหญ่จะใช้กับภาคพลังงานและการขนส่ง ส่วนกรีนในภาคอื่น ๆ ยังไม่โตมาก เช่น ภาคอาคาร ภาคบริหารจัดการน้ำ หรือภาคที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ มองว่าในไทยสามารถโตได้อีก
ผลสำรวจ 100 สถาบันการเงินในอาเซียน
เคลื่อนตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการสำรวจ 100 สถาบันการเงินในอาเซียน 5 ประเทศ ถึงการขับเคลื่อนตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนให้เติบโต พบว่า
ประการแรก คือ กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่จะออกมาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของธนาคาร
ประการที่สอง คือ ผู้บริหารให้ความสำคัญและมีทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจน
ประการที่สาม คือ การนำข้อมูล ESG มาใช้ในการประกอบการตัดสินใจให้เงินกู้ เป็นการลดความเสี่ยงที่สำคัญในระดับพอร์ตโฟลิโอของแต่ละธนาคาร
นิยาม Taxonomy ระบบพจนานุกรมภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญการเงินอาวุโส ยังกล่าวถึง Taxonomy ที่กำลังดำเนินการอีก 4 ภาคส่วน ทั้งภาคการผลิต เหล็กปูนซีเมนต์ พลาสติก ภาคอาคารเขียว และภาคการก่อสร้างเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอาคารเขียว รวมถึงภาคเกษตรและภาคการบริหารจัดการขยะโดยระยะเวลาดำเนินการ (timelines) คาดจะออกกลางปี 2568
“Taxonomy คิดง่าย ๆ คือ เป็นคำนิยามเหมือนเป็นระบบพจนานุกรมที่ทุกภาคส่วนจะต้องแชร์ร่วมกันในการตีความว่ากิจกรรมอย่างหนึ่งเป็นสีเขียวหรือไม่ เพราะก่อนหน้าที่จะมี Taxonomy ความเขียวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละธนาคารใช้ต่างกัน แต่ถ้ามีตัวนี้เป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้อ้างอิงร่วมกัน จะได้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่ากิจกรรมแบบนี้มีความเขียวมากน้อยแค่ไหน น่าเชื่อถือมากแค่ไหน คำนิยามสามารถนำมาออกแบบสินเชื่อ ออกแบบเครื่องมือทางการเงินสีเขียว หรือแม้กระทั่งรัฐบาลอาจจะใช้เป็นการสร้างพื้นฐาน ให้สิทธิประโยชน์กับกิจกรรมสีเขียว”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง SMEs จากการสำรวจผู้เล่นในตลาดต่าง ๆ ในเชิงนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่จะแข่งขันได้ในตลาดโลก ข้อแรกคือ ระบบข้อมูลต้องพร้อม ต้องมีการส่งเสริม และเก็บข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก และเครื่องมือที่ใช้ในการเปิดเผยข้อมูล เช่น Taxonomy ทุกประเทศบอกว่าเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำ
หลายประเทศ เริ่มใช้ประกันภัยความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ
ทั้งนี้ การเงินเพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่แค่การลดก๊าซเรือนกระจก แต่อีกขาหนึ่งที่เป็นการตั้งรับ และปรับตัว กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะฝนฟ้า น้ำท่วม ตอนนี้ มาเลเซียเริ่มตื่นตัวแล้วว่านอกจากจะช่วย SMEs ลดคาร์บอน ยังต้องช่วย SMEs ปรับตัวจากภัยพิบัติธรรมชาติด้วย
การศึกษา SMEs ในมาเลเซีย พบว่า มีความบอบบางต่อสภาพภูมิอากาศน้ำท่วม และพบว่าถ้า SMEs เหล่านั้นไม่ได้เตรียมการที่จะรับมือกับน้ำท่วม หรือไม่มีเครื่องมือทางการเงินประกันภัยพิบัติ เวลาเหตุการณ์เกิดแล้วจะเสียรายได้มากกว่าสามเท่า หรือมากกว่าคนที่เข้าถึงสินเชื่อประกันภัย เพราะฉะนั้นในต่างประเทศเริ่มพูดกันแล้ว นอกจากเงินกู้ เครื่องมือการประกันภัยก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประเด็น ESG การบริหารความเสี่ยงให้กับ SME ได้เช่นกัน