ผศ.ดร.ธรณ์ เผย แผนบันได 3 ขั้นสู่สวรรค์อ่าวมาหยา เริ่มจากปกป้องและฟื้นฟู ต่อด้วยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ตบท้ายลงมือทำ เชื่อสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ 2 ปี
วันที่ 12 พ.ค.62 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยงชาญด้านทะเล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ถึงแผนปฏิบัติการฟื้นฟูมาหยา 2 ปี ที่แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน “แผนบันไดสามขั้นสู่สวรรค์อ่าวมาหยา”
โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า
“ปฏิบัติการฟื้นฟูมาหยา 2 ปี เริ่มต้น ! #แผนบันไดสามขั้นสู่สวรรค์อ่าวมาหยา
แผนขั้นแรกของกรมอุทยานที่ทำกันมาตลอดช่วง 10 เดือน คือปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติที่ทรุดโทรม
ไม่ให้เรือเข้าหน้าอ่าว ดูแลฉลามหูดำ ฟื้นฟูปะการัง
เมื่อเราทำได้ จึงมาถึงแผนขั้นสอง หาวิธีการท่องเที่ยวที่ไม่รบกวนมาหยา
จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ไม่คิดจำนวนคนต่อวัน แต่เป็นต่อรอบ เพื่อปรับให้เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง
เตรียมจัดทำท่าเรือ/เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ทั้งหมดนั้น เราได้เตรียมพร้อมแล้ว จนมาถึงขั้นสาม = ลงมือทำ
การไปมาหยาหนนี้จึงไปเพื่อตรวจสอบแผนการขั้นสองเป็นครั้งสุดท้าย
เพื่อให้แผนขั้นสามสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ 2 ปี
เริ่มจากจำนวนคนต่อรอบ
ข้อมูลจากการศึกษาตั้งแต่ก่อนปิด/หลังปิด สรุปจำนวนที่ 250-300 คนต่อรอบ แต่ละรอบประมาณ 60 นาที
จำนวนรอบต่อวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาพท้องทะเล สภาพความพร้อม ฯลฯ
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการทดลองก่อนเปิด เพื่อที่จะบอกได้ว่า จะมีได้วันละกี่รอบ ตอนนี้ผมจึงยังบอกไม่ได้
แต่ที่บอกได้ พร้อมยืนยันด้วยถ้อยคำของท่านผู้อำนวยการสำนักอุทยานฯ
เราจะไม่มีทางรับคนมากมายเหมือนเดิมอีกแล้ว (ดูคลิปจ้ะ)
เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา จะมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติแบบยกระดับจากพื้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อป่าชายหาด
สมัยก่อนเราปล่อยให้เดินกันตามสบาย
พื้นหลายบริเวณโดนเหยียบย่ำ ไม่มีทางที่ลูกไม้จะขึ้นได้ อีกทั้งพืชคลุมดินถูกทำลาย
ท่านผอ.อุทยานนำไปดูชัดๆ พร้อมบอกว่า ปิดมาสิบเดือน ไม้ล่างฟื้นขึ้นมาตั้งเยอะครับ
เส้นทางแบบยกระดับและเลือกแนวที่เหมาะสมจะช่วยให้มาหยามีสุดยอดป่าชายหาดอีกครั้ง (ดูอีกคลิปจ้ะ)
เส้นทางยังทำแบบลูปวอล์ค ให้คนเดินวนได้
ยังช่วยกระจายคนไปตามจุดต่างๆ ไม่แออัดยัดเยียดกันเหมือนเดิม
ถึงตรงนี้ต้องบอกเพื่อนธรณ์ ป่าชายหาดอ่าวมาหยาสวยจริงๆ
เมื่อไม่มีคนอลหม่าน ไม่มีเสียงล้งเล้ง
มีแต่เสียงลมพัดยอดไม้…ฟิ้วๆ
สุดท้ายเมื่อมาถึงชายหาด เราจะเปิดให้ลงเพียงบริเวณเดียว
ทั้งนี้เพื่อลดการทรุดตัวของทรายที่บางจุดจมลงทรายไหลจนรากไม้โผล่
ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ถูกจำกัดไว้ในแต่ละรอบและการกระจายตัวตามเส้นทาง
จะทำให้ฝูงคนไม่ท่วมหาดเหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
สุดท้ายคือการลงน้ำ
ผมยังยืนยันแนวคิดเดิม ผมไม่อยากให้ใครลงน้ำแถวนี้
เพราะที่นี่เป็นแหล่งชิลใจของฉลามหูดำไปเรียบร้อยแล้ว
แม่ฉลามมาคลอดลูก 3-4 ครั้ง เจ้าหน้าที่เจอลูกฉลามตัวเล็กว่ายเป็นประจำ
รวมทั้งปูไก่ริมชายหาดและงูทะเลที่เลื้อยขึ้นมาวางไข่ อันเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
อ่าวมาหยาไม่ใช่อ่าวเดียวของพีพี ยังมีอีก 15 จุดที่นักท่องเที่ยวเล่นน้ำได้ ดำน้ำดูโน่นนี่ได้
แต่ที่นี่เป็นแหล่งสำคัญของสรรพสัตว์ในทะเล
เราก็ควรชั่งน้ำหนักและยินยอมเพื่อธรรมชาติบ้าง
คนมีที่ชิลหลายแห่ง ฉลามก็ควรมีที่ชิลบ้างสิฮะ
นั่นคือปฏิบัติการฟื้นฟูมาหยาในช่วงแรก ยังมีอีกหลายช่วงที่อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง
รวมถึงปฏิบัติการ 8 เดือนที่ผ่านมา เราฟื้นฟูปะการัง 10 ชนิด กว่า 30,000 กิ่ง
Xxxx
ตอนนี้ สิ่งที่อยากจะบอก คืออาจารย์ธรณ์ตัวดำขึ้นเยอะ
ถึงจะดำแค่ไหน ผมก็ยังอมยิ้ม และกระโดดยิปปี้เป็นระยะ
แม้จะเสียวันหยุดไป ไม่ได้ตังค์สักบาท แถมเหนื่อยแฮ่กตัวดำปิ๊ดปี๋
แต่ผมได้ความสุข…เยอะด้วย
ความสุขที่สามารถทำให้ฝันของเพื่อนธรณ์เป็นจริง
คำสัญญาที่ให้ไว้แก่กัน แรงสนับสนุนที่ช่วยกันมาตั้งแต่แรกเริ่ม
ไม่เสียเปล่า…
แค่นั้นก็พอให้คนตัวดำยิ้มตลอดเวลา
และกระโดดยิปปี้เป็นระยะแล้วครับ
หมายเหตุ – เชื่อว่าเพื่อนธรณ์คงมีใจให้คนตัวดำคนนี้มากขึ้น…หรือเปล่านะ ”
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ชัยชนะของธรรมชาติ สั่งปิด “อ่าวมาหยา”ต่ออีก 2 ปี