อย่าเข้าใจผิด! “รถพยุงตัว” ไม่ใช่ “รถหัดเดิน” ประโยชน์น้อย-อันตรายสูง

อย่าเข้าใจผิด! “รถพยุงตัว” ไม่ใช่ “รถหัดเดิน” ประโยชน์น้อย-อันตรายสูง


ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาการเด็กและครอบครัว ร่วมกับหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี ชี้แจง รถมีล้อ คือ “รถพยุงตัว” ไม่ใช่ “รถหัดเดิน” นอกจากไม่ทำเด็กเดินได้ แต่ทำเด็กเดินได้ช้ากว่าปกติเกือบ 6 สัปดาห์ ประโยชน์น้อย อันตรายสูง แต่เป็นที่นิยมใช้ของพ่อแม่

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ร่วมด้วยหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี แถลงข่าวกรณี ” เด็กเสียชีวิตจากรถหัดเดิน” ว่า ช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้เด็กเล็กนั่งบนรถที่มีล้อ จนเกิดเหตุเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำและถูกรถชน รวมถึงบาดเจ็บเพราะถูกสุนัขรุมกัด

 

 

โดยล่าสุด จากเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นที่ จ.สมุทรปราการ ที่รถนั่งของเด็กวัย 8 เดือนไถลออกจากบ้านจนไปถูกรถบรรทุกทับศรีษะจนเสียชีวิต รถดังกล่าวมีลักษณะทรงกลม มีล้อที่หมุนได้รอบทิศทาง ซึ่งเรียกติดปากว่า “รถหัดเดิน” ซึ่งความจริงแล้วสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดให้เรียกว่า “รถพยุงตัว” และให้กำกับฉลากไว้ด้วยว่า “ผลิตภัณฑ์นี้ไม่ช่วยในการหัดเดินและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต” แต่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดนิยมซื้อมาให้ลูกใช้เพราะความเคยชินและไม่รู้ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่หาซื้อมาให้เด็กใช้ตั้งแต่อายุประมาณ 4 เดือน โดย 50% เชื่อว่าจะทำให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น แต่ผลการศึกษาระบุว่าการให้เด็กใช้เวลาบนรถพยุงตัวหลายชั่วโมงจะทำให้กลไกการเดินของเด็กผิดปกติ และจะทำให้เดินได้ช้าไปถึง 4-6 สัปดาห์ เพราะเด็กเล็กที่อยู่ในรถการเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกและไถไปข้างหน้า ทำให้ท่าทางการเดินและการทรงตัวไม่ดี ซึ่งกลไกการเดินที่ถูกต้องจะใช้ส้นเท้าลงก่อน ขณะที่ พ่อแม่อีก 40% ซื้อมาใช้เพราะเหตุผลว่าไม่มีคนดูแลลูก เพราะต้องทำงานบ้าน ติดภารกิจ แต่ในทางตรงกันข้าม 2 ใน 3 ของเด็กที่อยู่ในรถจะเกิดการบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงบาดเจ็บรุนแรง เช่น รถพลิกคว่ำ ตกจากที่สูง ไปเผชิญจุดเสี่ยง น้ำร้อนลวก เด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ จมน้ำ รถชน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ รถนั่งที่มีล้อลักษณะของรถนั่งที่มีล้อนี้ถ้าพ่อแม่ขาดความระมัดระวังเพียงนิดเดียว เด็กอายุเพียง 6 เดือนเขาสามารถไถรถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วกว่า 3 เมตรต่อวินาที ดังนั้น รถลักษณะนี้จึงมีประโยชน์น้อย ไม่ช่วยการเดิน และอันตราย แต่หากจำเป็นจะต้องใช้ควรเลือกรถนั่งที่ไม่มีล้อซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเคลื่อนที่ ความเสี่ยงน้อย อย่างไรก็ตาม การดูแลที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยประมาณนี้คือ การทำคอกกั้น มีพื้นที่ให้เด็กได้คลานในบริเวณที่เหมาะสมก็เพียงพอแล้ว โดยเด็กช่วง 0-3 ปีจะต้องอยู่ใกล้พ่อแม่หรือผู้ดูแลในระยะวงแขน ซึ่งเป็นระยะที่สามารถโอบอุ้มคว้าตัวได้ทันที ถ้าโตขึ้น 3-6 ปีอยู่ในระยะมองเห็นตลอดเวลาและเข้าถึงทันเวลา” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า รถพยุงตัวในหลายประเทศ เช่น แคนนาดา อเมริกา ประกาศห้ามขายเพราะอันตรายสำหรับเด็ก ส่วนประเทศไทย ไม่มีการห้ามแต่ สคบ.ให้เปลี่ยนคำเรียกและมีคำเตือนกำกับมีเพียง แต่ปัจจุบันของเล่นและของใช้สำหรับเด็กหลายชนิดนั้น ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของพ่อแม่และผู้ปกครอง เพราะไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)กำกับ

นอกจากรถพยุงตัว ยังมีเตียงนอนเด็ก เก้าอี้สูง เป้อุ้มเด็ก ก็ไม่มีมาตรฐานควบคุม การใช้ มอก.มากำกับมีเพียงบางรายการแต่ไม่ครอบคลุมของใช้ทารกทั้งหมด ที่อยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องออกมาตรฐานควบคุมและตรวจจับเมื่อวางตลาด สคบ.ช่วยกำกับติดตาม ตรวจจับที่วางตลาด มาร่วมกันควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญฝากผู้ปกครองต้องเรียนรู้และเลือกใช้ให้ถูกต้อง รู้ว่าของที่ขายในท้องตลาดไม่ได้ควบคุมโดยหน่วยงานทั้งหมด ต้องเลือกที่ปลอดภัยที่สุดและจัดสิ่งแวดที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พร้อมทั้งดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ปชช. ไม่เห็นด้วย 15 รมต.ลาออกไปนั่ง ส.ว.