เตือนผู้ผลิตหมอนยางพารา หยุดผสมแร่โมนาไซส์ ชี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เตือนผู้ผลิตหมอนยางพารา หยุดผสมแร่โมนาไซส์ ชี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ


เตือนผู้ผลิตหมอนยางพารายกเลิกผสม แร่โมนาไซต์ ชี้เสี่ยงการแพร่กระจายสารกัมมันตภาพรังสี มีผลต่อสุขภาพ กระทบส่งออก ประเทศปลายทางชะลอการนำเข้า

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่มีการตีพิมพ์บทความในประเทศเกาหลีใต้เกี่ยวกับหมอนยางพาราของไทยมีการแพร่กระจายสารเรดอนที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ข่าวดังกล่าวทำให้ยอดจำหน่ายหมอนยางพาราของไทยไปเกาหลีลดลงมาก และอาจกระทบถึงตลาดอื่นต่อไป กรมฯ จึงได้จัดประชุมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดยปัจจุบันภาพรวมการส่งออกกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราพิกัดศุลกากร (HS Code) 94049090 ซึ่งประกอบด้วย สิ่งของเครื่องนอนและเครื่องตกแต่งที่คล้ายกันติดตั้งสปริงหรือยัดหรือติดภายในด้วยวัสดุใดก็ตาม หรือทำด้วยยางเซลลูลาร์หรือพลาสติก ปี 2561 (มค. –ธค.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 65,431,840 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,098 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น +16.40%

นายพิสิฏฐ์ สุนทราภัย ผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวว่า ปส. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการนำสินแร่โมนาไซด์ซึ่งมีธาตุกัมมันตรังสีทอเรียมเป็นองค์ประกอบไปใส่ในที่นอนและหมอน ซึ่งทอเรียมจะสลายตัวเกิดธาตุกัมมันตรังสีเรดอน ซึ่งการนำวัสดุกัมมันตรังสีไปเติมใส่ในสินค้าอุปโภคแม้จะปริมาณเล็กน้อยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

ดังนั้นกรณีการเติมสินแร่โมนาไซด์ลงไปในหมอนถูกพิจารณาว่า ไม่สมเหตุสมผลเนื่องจากมิได้ทำให้คุณสมบัติจำเพาะของหมอนดีขึ้นจึงไม่เกิดประโยชน์ แต่มีโทษคือเกิดความเสี่ยงที่ผู้ใช้จะได้รับอันตรายจากรังสีในระยะยาว อนึ่งสินแร่โมนาไซด์ในธรรมชาติได้รับการยกเว้นในการกำกับดูแลเนื่องจากมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นช่องว่างในการควบคุม

อย่างไรก็ตาม ปส.ได้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพและความปลอดภัยในระยะยาวของผู้บริโภคที่สัมผัสสินค้าที่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ พร้อมให้ความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดกฎระเบียบและมาตรฐานการผลิตหมอนยางพาราที่ปราศจากวัสดุกัมมันตรังสีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทุกภาคส่วนหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้เสนอให้ สมอ. พิจารณาการให้หมอน/ที่นอนยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์บังคับ โดยกำหนดไม่ให้พบปริมาณสารรังสีในตัวผลิตภัณฑ์ (หรือข้อกำหนดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) รวมถึงทั้งการแสดงสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากอันตรายจากกัมมันตภาพรังสี

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

สายป๊อดเฮ! ฟีเจอร์ใหม่ FB เพิ่มเพื่อนที่แอบชอบ ใจตรงกันสานสัมพันธ์ทันที