อย. ส่งแพทยสภาฟัน 2 หมอ ร่วมขบวนค้ายาลดความอ้วน

อย. ส่งแพทยสภาฟัน 2 หมอ ร่วมขบวนค้ายาลดความอ้วน


อย. เผย พบหมอ 7 ราย และ คลินิก 33 แห่ง ร่วม ขบวนการลักลอบขายยาลดความอ้วน “เฟนเตอร์มีน” สั่งฟัน 2 รายในฐานะสมคบ อีก 5 ใช้เป็นพยาน เตือนผลข้างเคียง เหตุเป็นอนุพันธ์ “ยาบ้า” ส่งผลต่อระบบเลือด ความดัน อัมพาตฯ และถึงตายได้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงการตรวจจับเครือข่ายลักลอบขายยาลดความอ้วน “เฟนเตอร์มีน” ว่า ยาดังกล่าวอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ซึ่งมีการควบคุมการขายและการใช้ โดย อย.จะกำหนดบริษัทที่นำเข้า และเป็นผู้จำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลที่ต้องการใช้ยาดังกล่าว

ปัจจุบันมีสถานพยาบาลขึ้นทะเบียนในการใช้ยาจำนวน 526 แห่ง เป็นโรงพยาบาลรัฐ 4 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 38 แห่ง และคลินิก 484 แห่ง โดย อย.กำหนดโควตาให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งซื้อได้ไม่เกิน 5,000 เม็ดต่อครั้ง ซึ่งแต่ละแห่งจะแจ้งจำนวนที่ต้องการซื้อมา ส่วนการใช้ยาจะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ และต้องทำรายงานมายัง อย.ทุกเดือนว่า จ่ายให้ใครปริมาณเท่าไร ซึ่งหากใช้ไม่หมดไม่ต้องส่งคืน แต่สามารถเก็บไว้ใช้ต่อได้โดยไม่ต้องทำการสั่งซื้อใหม่

สำหรับ การตรวจจับเกิดจากตรวจพบความผิดปกติในการสั่งซื้อตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 โดยพบคลินิกหลายแห่งมีคำสั่งซื้อมากผิดปกติจนเต็มโควตา จึงตรวจสอบในเชิงลึกพบการกระทำเป็นกระบวนการ ลักลอบนำยาดังกล่าวออกจากคลินิกไปขายต่อให้แก่นายทุน นำมาซึ่งการตรวจจับทั้ง 33 จุดทั่วประเทศ ทั้งคลินิก สถานที่ประกอบการ บ้านของนายทุน โดยพบว่า มีคลินิกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 แห่ง แบ่งเป็น

คลินิกใน จ.หนองบัวลำภู 1 แห่ง อุดรธานี 1 แห่ง นครราชสีมา 2 แห่ง อุบลราชธานี 1 แห่ง พิษณุโลก 2 แห่ง และตาก 2 แห่ง มีแพทย์เกี่ยวข้องทั้งหมด 7 ราย โดยมี 2 รายที่ทางตำรวจออกหมายสมคบ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยแพทย์ทั้งสองรายเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลด้วย ส่วนอีก 5 ราย ได้รับหมายเรียกให้มาเป็นพยาน

ทั้งนี้ ได้มีการประสานเลขาธิการแพทยสภาเพื่อให้ดำเนินการทางจริยธรรมกับแพทย์ทั้ง 2 ราย และจะสรุปรายชื่อคลินิกส่งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ดำเนินการเอาคลินิกที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดำเนินการกับคลินิกในต่างจังหวัด

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า นอกจากยาเฟนเตอร์มีน แล้ว ยังพบว่ามีการลักลอบนำยาไดอะซีแพม ซึ่งเป็นยานอนหลับในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 มาใช้ด้วย เนื่องจากเวลาทำยาลดความอ้วนมักจะมีการผสมยานอนหลับเข้าไปด้วย และยังตรวจพบว่า การทำรายงานซึ่งการตรวจจับครั้งนี้ ตำรวจแจ้งเบื้องต้นประมาณ 40 กว่าล้านบาท หากแพทย์ที่เกี่ยวข้องมีความผิดจริง และเป็นตัวการสำคัญ นอกจากจะมีโทษรุนแรง คือ ขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 โดยไม่รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 4-20 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสน-2 ล้านบาท และ

ขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 โดยไม่รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2-10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสน-1 ล้านบาท ยังเข้าข่ายที่จะถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดทรัพย์ด้วย หลังจากนี้ จะมีการทำระบบการติดตามการใช้ยาให้เข้มแข็งมากขึ้น

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ยาเฟนเตอร์มีน มักใช้รักษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่อ้วนมาก ๆ เพื่อให้น้ำหนักลดลงมา และค่อยปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยยานี้มีผลข้างเคียง เนื่องจากเป็นอนุพันธ์ของยาแอมเฟนตามีนหรือยาบ้า จึงส่งผลต่อระบบเลือด ความดันโลหิตสูง เลือดออกในสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ หากไม่เสียชีวิตก็อาจมีอาการมึนงง นอนไม่หลับ จึงต้องใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ คือไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ และตรวจติดตามโดยแพทย์

อย่างไรก็ตาม การลักลอบขายยาลดความอ้วนนั้น มักพบว่า จะมีการผสมเป็นสูตร เช่น ยานอนหลับ ยาระบาย และฮอร์โมน เพื่อให้ผอมเร็วขึ้น สำหรับกลุ่มที่ไม่ควรใช้ยาเฟนเตอร์มีน คือ 1.กลุ่มที่แพ้ยาดังกล่าว 2.คนที่มีการใช้ยาบางตัวหรือยาทางด้านจิตเวช เพราะอาจทำให้มีอาการมากขึ้น 3.ผู้ที่ใช้ยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitors (MAOI) และ 4.กลุ่มโรคหัวใจและความดัน