มอร์เตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” คืบ 65% ค่าผ่านทางสูงสุด 200 บาท

มอร์เตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” คืบ 65% ค่าผ่านทางสูงสุด 200 บาท


กรมทางหลวงเผย มอร์เตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” มีความคืบหน้า 65% 27 ก.พ.นี้ เปิดขายซองประมูลระบบดำเนินงาน-บำรุงรักษา คาดราคาค่าผ่านทางอยู่ระหว่าง 20-200 บาท เปิดใช้งานจริงปี 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุด โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา หรือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 มีระยะทางรวม 196 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางยกระดับช่วงลำตะคอง ระยะทาง 18 กิโลเมตร งบประมาณการก่อสร้างรวมประมาณ 59,400 ล้านบาท

โดยนายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า ภาพรวมงานก่อสร้างด้านโยธามีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 65 ล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย เนื่องจากต้องปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างใหม่ แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบการเปิดใช้งานจริงในปี 2564 โดยการก่อสร้างทั้งหมดแบ่งเป็น 40 สัญญา ขณะนี้คืบหน้าถึงช่วงที่ 25-35

และในวันที่ 27 ก.พ. – 27 มี.ค.62 จะเปิดขายซองประมูลให้เอกชนที่สนใจร่วมลงทุน PPP จากนั้นจะเปิดให้ ยื่นซองประมูลวันที่ 27 มิ.ย.62 คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้ผู้ชนะการประมูล จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี จากผลการศึกษาคาดว่าหากมีการเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณรถได้ 40,000 – 50,000 คันต่อวันในปีแรก

ด้านนายสุทธิชัย สนธิมุล ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างทางที่ 2 เปิดเผยว่า อัตราค่าผ่านทาง บางปะอิน-นครราชสีมา เอกชนจะเสนอราคาให้รัฐ เบื้องต้น ราคาค่าผ่านทางต่ำสุดจะเริ่มต้นที่ 20-200 บาท (แรกเข้า 10 บาท + 1.25 บาท ต่อกม. ) โดยชำระที่จุดปลายทางลง เพื่อไม่ให้กระทบการจารจร ตลอดเส้นทางมีอาคารเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง ได้แก่ ด่านบางปะอิน ด่านวังน้อย ด่านหินกอง ด่านแก่งคอย ด่านสระบุรี ด่านทับกวาง ด่านปากช่อง ด่านสีคิ้ว และด่านนครราชสีมา

ขณะที่นายยุทธนา หยิมการุณ รองปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่าโครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนรูปแบบรัฐและเอกชน หรือ PPP จะช่วยลดภาระการลงทุน ในส่วนที่นอกเหนือจากโครงการหลัก เพราะเอกชนที่ชนะการประมูลต้องเป็นฝ่ายลงทุน และบริหารรายได้ เพื่อนำส่งให้รัฐ โดยเอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (มอเตอร์เวย์สายอีสาน) เป็นเส้นทางที่จะสามารถแบ่งเบาการจราจรระหว่างกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนถนนพหลโยธิน (ช่วงบางปะอิน-สระบุรี) และถนนมิตรภาพ (ช่วงสระบุรี-นครราชสีมา) ซึ่งมีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ทางหลวงพิเศษสายนี้จะช่วยให้การสัญจรเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มสี่เหลื่อมเศรษฐกิจอินโดจีนอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลข่าว : workpointnews

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ด่วน! ญี่ปุ่นต้องการ “แรงงานชาย” ทำงาน 3 ปี