“ความหมายของการบวช”

“ความหมายของการบวช”


โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ป.อ.ปยุตโต)

การบวชนี้ จึงถือว่าเป็นการฝึกฝนตนเอง คือการศึกษาในการที่จะพยายามละหรือขจัดกิเลสสิ่งเศร้าหมองจิต ความชั่วร้ายต่าง ๆ ให้หมดไป

กิเลสตัวสำคัญที่เด่นชัด อันจะพึงละก็ คือ ความเห็นแก่ตัว ที่ทำให้คนแสวงหาแต่สิ่งเสพเครื่องบำรุงบำเรอตัวเอง หลงละเลิงมัวเมาในกามหรืออามิสต่าง ๆ และข่มเหงรังแกแย่งชิงเบียดเบียนกัน

บรรพชาคือการบวช จึงมีความหมายด้วยว่า เป็นการละเว้นปลีกตัวออกไปจากการเบียดเบียน และปลีกตัวออกจากกาม ทั้งกิเลสกาม และวัตถุกาม

อีกความหมายหนึ่งที่พ่วงมาด้วย ก็คือ สละเครื่องห่วงกังวลภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทอง วัตถุสิ่งของต่างๆ ไม่มีความผูกพันยึดติดในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมีความหมายต่อไปว่า จะได้มีชีวิตที่เป็นอิสระ

เพราะฉะนั้น คำว่า บวชนี้ จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “ไปได้ทั่ว” คือ เป็นอิสระ

ชีวิตของพระภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าทรงเปรียบไว้ว่า เหมือนกับนกที่มีแต่ปีกสองปีก จะไปไหนเมื่อไรก็ไปได้ แต่เมื่อมีภาระอะไรต่าง ๆ ในกิจการของสงฆ์มากขึ้น อย่างสมัยนี้จะเห็นว่า ชักจะไปไหนไม่ค่อยได้ จึงจะต้องมีสติเตือนตนอยู่เสมอว่าอุดม คติของชีวิตพระนั้นมุ่งสู่ความเป็นอิสระ เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตนโดยไม่ต้องมีความพะวักพะวงในสิ่งต่าง ๆ

ทั้งหมดนี้เป็นความหมายตามรูปศัพท์ แต่โยงมาหาสาระด้วย

ส่วนคำว่า “อุปสมบท” แปลว่า การเข้าถึงภาวะที่สูงขึ้นไป คือ เข้าสู่ชีวิตในชุมชนของพระภิกษุ โดยมีการบวชที่สมบูรณ์ คือ ผู้บรรพชาแล้วที่ได้รับมติเห็นชอบจากสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง

เมื่อบวชแล้ว ก็ไม่ใช่เสร็จแค่นั้นแล้วมาอยู่เฉย ๆ แต่การบวชเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น จะต้องเพียรพยายามปฏิบัติเพื่อบรรลุผลที่เป็นจุดหมายของการบวชต่อไป

การที่จะบรรลุผลของการบวช ก็ต้องมีการ “เรียน” คือ ศึกษาฝึกหัดพัฒนาชีวิตของเรา ทั้งกาย วาจา จิตใจ และปัญญาให้ดีให้ประณีต ให้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะละบาปกุศลได้หมด และเจริญกุศลให้เต็มที่ หลุดพ้นจากกิเลสและปวงทุกข์ มีชีวิตจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นอิสระ สงบสุขอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “บวชเรียน” หมายความว่า บวชเพื่อเรียน หรือว่าการบวชก็คือชีวิตแห่งการเรียน

“เรียน” เป็นคำไทยง่าย ๆ หมายถึง การเรียนรู้ศึกษาฝึกหัดพัฒนาให้ชีวิตทุกด้านดีขึ้น อย่างที่พูดแล้วข้างต้น ตรงกับภาษาพระเรียกว่า “สิกขา”

สาระสำคัญของการบวชทั้งหมดก็อยู่ที่การศึกษาอบรมที่ทางพระเรียกว่า สิกขานี่แหละ.