กรมบัญชีกลางเตรียมขยายเพดานวงเงินบำเหน็จเพิ่ม 100,000 บาท

กรมบัญชีกลางเตรียมขยายเพดานวงเงินบำเหน็จเพิ่ม 100,000 บาท


กรมบัญชีกลางร่างหลักเกณฑ์ขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพ ขยายเพดานวงเงินผู้รับบำนาญอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เพิ่ม 100,000 บาท

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับบำนาญ (ช.ค.บ.) และการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

โดยกรมบัญชีกลางได้ร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอรับบำเหน็จดำรงชีพ ที่ขยายเพดานวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญมีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มอีก 100,000 บาท จากเดิมขอรับในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 400,000 บาท เป็นให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้รับบำนาญที่มีสิทธิ์ขอรับบำเหน็จดำรงชีพเพิ่มให้ติดต่อส่วนราชการต้นสังกัด เพื่อกรอกแบบฟอร์มการขอรับเงินและยินยอมให้หักเงินชำระหนี้ จากนั้นกรมบัญชีกลางจะประสานความร่วมมือกับธนาคารทุกแห่ง ขอให้ธนาคารตรวจสอบข้อมูลผู้รับบำนาญที่ยื่นใช้สิทธิ์บำเหน็จค้ำประกันในการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ว่าผู้มีสิทธิ์แต่ละรายที่ยื่นความประสงค์มียอดเงินกู้คงเหลือเท่าใด และส่งข้อมูลกลับมายังกรมบัญชีกลาง

เพื่อนำข้อมูลหนี้คงเหลือมาหักกลบลบกันกับบำเหน็จดำรงชีพที่มีสิทธิ์ได้รับ เพื่อชำระหนี้บำเหน็จค้ำประกันคืนให้กับธนาคารก่อน เช่น กรณียอดหนี้เกินกว่าจำนวนเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับเพิ่ม เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกนำมาหักชำระหนี้ที่คงเหลือทั้งหมด แต่ถ้ายอดหนี้ไม่เกินจำนวนเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับเพิ่ม จะนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้กับธนาคารก่อนแล้วจึงจะได้รับเงินส่วนที่เหลือ

และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบำนาญ กรมบัญชีกลางได้ขอให้ธนาคารเปิดบัญชีให้กับผู้รับบำนาญตามข้อมูลที่กรมส่งให้ โดยไม่ต้องไปติดต่อกับธนาคารด้วยตนเอง ในเรื่องของการเปิดบัญชีธนาคาร กรมบัญชีกลางจะหารือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดำเนินการผ่อนคลายเงื่อนไขนี้เช่นเดียวกับการเปิดบัญชีให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้

“กรมบัญชีกลางจะดำเนินการจ่ายเงินดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง กฎหมายดังกล่าวต้องการช่วยเหลือผู้รับบำนาญ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้คงที่ได้บรรเทาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว