ดิจิทัลวอลเล็ต เรือธง รัฐบาลเศรษฐา แจกเงินหมื่นดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจ ในยุคทั่วโลกมุ่งไปสู่ความยั่งยืน แก้โจทย์โลกร้อน ถูกที่ถูกเวลาหรือไม่ มีปัจจัยท้าทายและความเสี่ยงใดต้องขับเคลื่อนเคียงนโยบาย
รัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ยังคงเดินหน้า ตามประกาศโครงการ “ดิจิทัลวอลลเล็ท” แจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท โดยมีการปรับเงื่อนไขการแจกให้กับทุกคน ลดลงมาเหลือ 50 ล้านคน เลือกลุ่มคนเงินเดือนน้อยกว่า 70,000 บาท เงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท เป้าหมายเริ่มทำตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2567 กำหนดให้นำไปซื้อสินค้า อาหาร และเครื่องดื่ม ภายในรัศมีเขตอำเภอที่อาศัย คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5-6 แสนล้านบาท โดยใช้วิธีการออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท
เป้าหมายของการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต มี 2 ด้าน
1.กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการบริโภคประชาชน
2.วางโครงสร้างพื้นฐานสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ฐานข้อมูลสู่การจัดการภาครัฐ (E-Government)
ในยุคที่เมกะเทรนด์ทั่วโลกขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมกันกับเผชิญกับความเสี่ยงทั้งสงคราม และโลกองเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของคนทั่วโลก แต่รัฐบาลไทยกำลังหมุนวนอยู่กับการแจกเงินหมื่น (Digital Wallet) รวมความเห็น สาเหตุที่ทำไม่รัฐบาลต้องเดินหน้า ตอบโจทย์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระตุ้นวงล้อเศรษฐกิจหมุนได้ได้ยาวไกลและยั่งยืนได้หรือไม่
ไทยพัฒน์ แนะหาไฮไลท์ดึงจุดสนใจ
เอื้อประโยชน์แทนดิจิทัลวอลเล็ต
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มองว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศคำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน และส่งมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นสิ่งที่ถอยไม่ได้ หากไม่ทำก็อาจจะมีความผิดทางกฎหมาย จึงอยู่ในฐานะ”กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” รัฐบาลต้องหาทางเดินหน้า ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์ในด้าน จังหวะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่ายังไม่ถึงระดับวิกฤติที่จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหาวิธีการกู้เงินมาขับเคลื่อนนโยบาย เงินมูลค่ากว่า 5-6 แสนล้านบาท ควรจะเก็บไว้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ในด้านของความยั่งยืน นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ของพรรคเพื่อไทย ให้วิเคราะห์ทางด้าน ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakholders) ก่อนเป็นรัฐบาลคือกลุ่มคนฐานเสียงของพรรค แต่เมื่อชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาล Stakeholders ของรัฐบาลคือประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น หากต้องการให้เกิดความยั่งยืนยอมรับ รัฐบาลควรคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
“การเป็นผู้นำรัฐบาล จะต้องหาเป้าหมายการดำเนินนโยบายให้ชัดเจนว่าStakeholders คือใคร ไม่เพียงตอบโจทย์เพียงฐานเสียง ซึ่งต้องยอมรับว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็น เรือธงหลักของพรรค ที่สร้างความสนใจให้กับประชาชน นอกเหนือจากนี้รัฐบาลจะต้องดึงความสนใจจากดิจิทัลไปสู่นโยบาใหม่ ที่สร้างโอกาสให้คนและผลประโยชน์ให้คนไม่แพ้กัน” เขากล่าว
BBL ตั้งพ.ร.บ. มากรั่นกรองเป็นทางถูกต้อง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ให้ความเห็นถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท (Digital wallet) ว่าการที่รัฐบาลจะนำเงินงบประมาณ 6 แสนล้านบาท มาใช้จ่ายโดยมีการปรับเป็นการออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต้องทำให้เป็นขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย มีการกรั่นกรองและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“การกู้เงินจากธนาคารเป็นความกังวลใจ อาจทำให้ปัญหาตามมา การใช้เงินจำนวนมากโดยที่ไม่ผ่านความเห็นจากสภา และไม่มีการขออนุญาตไม่ใช่เรื่องดี เมื่อนายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้ พ.ร.บ. เป็นทางเลือกที่ดี นำเรื่องเข้ารัฐสภาจะปกป้องตัวรัฐบาลตามกระบวนขั้นตอนตามกฎหมาย ยังมีเวลาการเข้าสภา และตัดสินใจว่าจะใช้ตัวเลขประมาณไหน แต่อย่างน้อยเห็นชัดเจนว่านโยบายถอยจากแจกเงินทุกคน เหลือเพียงแจก 50 ล้านคน” นายกอบศักดิ์กล่าว
ดิจิทัลวอลเล็ต ท้าทายศก.โลกยังวิกฤติ
5 แสนล้าน กงล้อหมุนยังสั้น
นายกอบศักดิ์ วิเคราะห์ถึงนโยบายนี้ควรจะทำหรือไม่ จากมุมมองเศรษฐกิจโดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2566 คาดจะอยู่ที่ 3% และปี 2567 คาดว่าจะเติบโตที่ 3-4% ซึ่งได้รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ซึ่งเพิ่มกว่า 1% ชดเชยจีดีพีที่หายไปจากท่องเที่ยว ฟื้นจาก 28 ล้านคน เป็น 35 ล้านคน ด้านการส่งออกยังทรงตัว เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวและยังอยู่ในภาวะวิกฤติในหลายประเทศ อาทิ ยุโรป จีน
การทำดิจิทัลวอลเล็ตในสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นเศรษกิจในระยะสั้น โดยไม่มั่นใจว่าเงินตั้งต้น 5 แสนล้านบาทจะเกิดการหมุนของเม็ดเงินจะได้กี่รอบ และยังไม่คิดว่าจะหมุนได้หลายรอบ อย่างน้อยนโยบายนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ส่วนผลกระทบจากการทำนโยบายดังกล่าว ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 2-3% ส่งผลให้หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น 62-63% จากเดิมอยู่ที่ 61% ทางด้านอันดับความเชื่อมั่น (เครดิตเรทติ้ง) ยังไม่มีผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการจะดำเนินการ ไม่ควรลงทุนสูง และทำให้เกิดความยุ่งยาก จึงน่าจะใช้แพลตฟอร์มเดิมแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”ที่มีอยู่เดิม เพราะมีฐาน ของคนใช้เป็นประจำอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน
“ไม่ควรทำให้ซับซ้อน และไม่ต้องลงทุนสูงหรือลงทุนแพลตฟอร์มใหม่ และทำให้ตรงไปตรงมาที่สุด เงินเกือบ 6แสนล้าน ถ้าทําไม่ตรงไปตรงมาจะมีปัญหา จึงต้องออกพ.ร.บ.”นายกอบศักดิ์กล่าว
แบงก์ชาติ เงินดิจิทัลยังไม่จำเป็น
ชี้วิกฤติหนี้ น่าห่วงกว่าบริโภค
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาที่หนักที่สุดสำหรับประเทศในเวลานี้ “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยสูง คิดเป็น 91% ของ GDP ส่วนอัตราการผลิตของประเทศกลับลดลง ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่เกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชน บ่งชี้ว่าภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง
ดังนั้น ธปท. มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงไม่จำป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ผลของโครงการต่อเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่สำคัญจะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึง “เสถียรภาพ” การคลัง กำหนดกรอบระยะปานกลางให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น แนะนโยบายดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท เน้นทำเฉพาะเจาะจง เพราะเหตุทุกคนไม่ได้ต้องการทั้งหมด
เป็นห่วงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ดังนั้นต้องคำนึงถึง “เสถียรภาพทางการเงินและการคลัง” เพื่อไม่เกิดการซ้ำรอย ประเทศสหรัฐ ดำเนินนโยบายจนไม่วางแผนวินัยการคลัง ทำให้ลดความน่าเชื่อถือ (Down Grade) ประเทศ ดังนั้นจึงต้องควบคุมดูแลเสถียรภาพทางกาเรงิน ควบคู่กับเสถียพภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพราคา และเสถียรภาพระบบการเงิน
“ควรดำเนินนโยบายคำนึงถึงเสถียรภาพฝั่งการคลัง ในพร้อมกับการตีโจทย์ให้สามารถขับเคลื่อนโครงการและมาตรการต่าง ๆ ตามแผนของรัฐบาล โดยไม่ทำลายหรือกระทบเสถียรภาพจนเกินไป หรือสร้างผลข้างเคียงให้กับระบบ”ผู้ว่าธปท.กล่าว
บริบทการเติบโตเศรษฐกิจตัวเลข ไม่ได้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค เพราะอัตราการบริโภคในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ที่ผ่านมายังขยายตัวได้ดี ภาคที่ยังเติบโตต่ำและมีความจำเป็นในช่วงเวลานี้ คือ การลงทุน เพราะไทยขาดการลงทุนขนาดใหญ่มายาวนาน
จับกลุ่มให้ชัด คู่กับ วิเคราะห์มิติดุลการคลัง
อย่างไรก็ตาม หากรัฐยังคงต้องทำ ให้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงให้ชัด (Targeted) และกลุ่มที่ต้องการเงินเป็นหลัก ดีกว่าแจกทุกราย เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ และช่วงช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
ที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องมีการวางภาพการดำเนินโครงการให้ชัดเจน เกี่ยวกับผลกระทบต่อดุลงบประมาณที่เกิดจากโครงการในทุกระยะ ครอบคลุมทุกมิติ
“ผลต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออกมา ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในรูปแบบ e-Money ซึ่งก็เป็นรูปแบบปัจจุบัน จะมีผลต่อเงินเฟ้อและผลต่อฐานะการคลัง และหากเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล จะเห็นว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลาง” ผู้ว่าธปท.กล่าวทิ้งท้าย.