อาเซียนออกมาตรฐานด้านการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมที่มุ่งเน้นการลงทุนอย่างยั่งยืน เพิ่มความโปร่งใสให้กับผู้ลงทุน และลดปัญหาด้านการฟอกเขียว
เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตพบว่าในช่วงนี้เมื่อ 56 ปีที่แล้ว ได้มีการรวมตัวของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม “อาเซียน” นั่นเอง หลายคนคงตกใจว่า การรวมตัวกันของสมาชิกอาเซียนมีระยะเวลานานเกือบ 50 ปีเชียวหรือ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะรูปแบบการดำเนินงานต่าง ๆ ของอาเซียนก็เริ่มแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อไม่กี่ปีให้หลังนี่เอง
ถ้าให้เปรียบอาเซียนเป็นคนก็เป็นเพียงคนที่เดินผ่านกันไปมาไม่ได้รู้จักมักจี่กันมากนัก สำหรับบางคนไม่สามารถเรียก อาเซียน ได้ว่าเป็นคนรู้จักอย่างเต็มปากด้วยซ้ำ อาจด้วยเหตุผลที่ว่า อาเซียนเป็นคำกระแสที่เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป และแม้ว่าการรวมกลุ่มกันของอาเซียนจะเน้นย้ำว่ามีประชาชนและความหลากหลายเป็นศูนย์กลางที่ทรงคุณค่าอันสำคัญก็ตาม แต่ประชาชนหลายคนก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนมากนัก
ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ อาเซียนในสายตาคนส่วนมากจึงถูกลดความสำคัญลง และในวาระครบรอบของการรวมกลุ่มอาเซียนในเดือนสิงหาคมนี้ จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจว่านอกจากเพลงอาเซียนร่วมใจแล้ว อาเซียนยังมีอะไรให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้อีกบ้าง
อาเซียนเกิดขึ้นเมื่อไหร่?
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” ได้ถือกำเนิดในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 โดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย ณ เวลานั้น ได้เป็นผู้ริเริ่มการร่วมมือกับ อีก 4 ประเทศ อันได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ซึ่งได้มาหารือร่วมกันที่แหลมแท่น จ. ชลบุรี อันนำมาสู่การลงนามในปฏิญญากรุงเทพ เพื่อก่อตั้งอาเซียน ที่วังสราญรมย์ ไทยจึงถือเป็นทั้งประเทศผู้ร่วมก่อตั้งและเป็น ‘บ้านเกิด’ ของอาเซียน
จุดประสงค์ของอาเซียนคืออะไร?
แม้จุดประสงค์ที่ร่วมมือกันจะกล่าวไว้เพียงการร่วมมือเพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าแท้จริงแล้วจุดประสงค์หลักอีกหนึ่งอย่างอาจเป็นไปได้ในเรื่องของจุดประสงค์ทางการเมือง เนื่องจากทั้ง 5 ประเทศเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศได้ ดังนั้น การจะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพจำเป็นต้องอาศัยเกราะคุ้มกันที่แข็งแรงและความมั่นคงทางการเมืองเสียก่อน
จุดประสงค์ความมั่นคงทางด้านการเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 5 ในตอนนั้นตระหนึกถึง และมุ่งมั่นที่จะกำจัดภัยคุกคามที่เกิดจากการแทรกแซงเสถียรภาพระหว่างประเทศ จึงได้ร่วมมือกันแสดงจุดยืนและร่วมมือกันก่อตั้งอาเซียนขึ้น การร่วมมือได้มีการขยับขยายจนมีสมาชิกครบทั้ง 10 ประเทศ
ในปี พ.ศ.2542 โดยมีประเทศ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม สปป. ลาว เมียนมา และกัมพูชา เพิ่มเข้ามา แต่ล่าสุดอาเซียน เห็นชอบหลักการ ยอมรับ ติมอร์ เลสเต เป็นประเทศสมาชิกชาติที่ 11 แล้ว แต่ ณ ตอนนี้ยังคงเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในการประชุมต่างๆ ของอาเซียนอยู่เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นประเทศชาติที่ 11 อย่างเป็นทางการ
อาเซียน ในสายตานักวิชาการหลายท่านในช่วงแรกอาจจะไม่ใช่ผู้เล่นที่สำคัญมากนัก แต่จากความท้าทายทางด้านความหลากหลายทั้งวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และวิกฤตการณ์หลายอย่างที่ประเทศสมาชิกประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ ทำให้นักวิชาการมีมุมมองต่อการรวมตัวของอาเซียนที่เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นการร่วมมือที่น่าจับตามอง รวมถึงมีโอกาสและศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคได้อย่างถูกทิศทางในอนาคตอีกด้วย นี่จึงเป็นอีกความคาดหวังของสายตาชาวโลกต่อกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้อาเซียนต้องพัฒนาแผนงานของตนเองอยู่ตลอดเพื่อไปสู่การยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามยังคงมีอีกหลายปัญหาที่อาเซียนยังต้องร่วมกันหาทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของเศรษฐกิจที่เป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่กลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญ เศรษฐกิจของอาเซียนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดทุนประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดทุนของประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ยังมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่า มีความหลากหลายน้อยกว่า จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกลดบทบาทในเวทีโลกได้สูง
โดยในปัจจุบันในเรื่องของเศรษฐกิจไม่ได้คำนึงถึงแค่ตัวเม็ดเงินในระยะสั้นเท่านั้น แต่ตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย โดย องค์การสหประชาชาติ หรือ UN มุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิมภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 ในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อบรรลุผลสำเร็จการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) 17 ข้อ ภายในปี 2573 เรียกได้ว่านี่เป็น ทศวรรษแห่งการลงมือทํา เพื่อไปสู่ความยั่งยืน
ESG กับประเทศไทย
ประเทศไทยเองในฐานะหนึ่งในประเทศอาเซียนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ค้นหาแนวทางบรรเทาผลกระทบเหล่านี้และให้ความสำคัญกับการลงทุนที่คำนึงถึง ESG หรือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล พร้อมไปกับการมุ่งเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนให้แข็งแกร่ง ก.ล.ต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะที่มีภารกิจหลักในการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการคำนึงถึง ESG ด้วย เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการมุ่งสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
โดย ก.ล.ต. ได้ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum : ACMF) ออกมาตรฐานกลางของอาเซียนด้านการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืน (ASEAN Sustainable and Responsible Fund Standards : SRFS) เพื่อให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนมีข้อกำหนดพื้นฐานด้านการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของกองทุนรวมที่สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
มาตรฐานนี้จะเพิ่มความน่าสนใจและโปร่งใสให้กับผู้ลงทุนทั่วโลก และช่วยลดปัญหาด้านการฟอกเขียว (greenwashing) ซึ่งจะช่วยให้กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนในตลาดทุนอาเซียนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้นด้วย มาตรการเหล่านี้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของอาเซียนที่ได้เพิ่มความโปร่งใส และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคและเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้าอื่นในเวทีโลก
แม้ว่าการรวมกลุ่มกันของประเทศอาเซียนในช่วงแรกจะเกิดจากสภาวะทางการเมือง และเป้าหมายที่มุ่งหวังให้การเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงกันในภูมิภาคนี้ แต่ในด้านอื่นๆอย่างเศรษฐกิจและวัฒนธรรมก็เป็นอีกสองเสาหลักสำคัญที่อาเซียนให้ความสำคัญ และกำลังจะหาทางพัฒนาความร่วมมือในเชิงคุณภาพเพื่อให้ทุกฝ่ายและประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนมากขึ้นจริง ๆ
อย่างไรก็ตามในวาระที่เวียนวนกลับมาครบรอบการรวมกลุ่มอาเซียนในครั้งนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นบริบทที่หลากหลายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเข้ามาใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ประชาชนในอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในทุกมิติ และทำให้อาเซียนเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นที่ไม่เพียงแต่ในสายตาชาวโลกเท่านั้น แต่ต้องเป็นสายตาของชาวอาเซียนเองด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=9862
https://www.bltbangkok.com/news/24426/
https://www.stou.ac.th/Schoolnew/polsci/UploadedFile/TB-82327-11.pdf
https://shorturl.asia/9VQ6w