ส่งออกไทยเดือน มี.ค. หดตัวน้อยกว่าคาด แม้มีปัจจัยฐานสูง สะท้อนสัญญาณบวกที่ชัดเจนขึ้น

ส่งออกไทยเดือน มี.ค. หดตัวน้อยกว่าคาด แม้มีปัจจัยฐานสูง สะท้อนสัญญาณบวกที่ชัดเจนขึ้น


มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน มี.ค. 2023 อยู่ที่ 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐสูงสุดในรอบปี และนับเป็นสถิติมูลค่าการส่งออกรายเดือนที่สูงเป็นอันดับสองนับตั้งแต่มีการส่งออก แม้ยังหดตัว -4.2%YOY แต่หดตัวน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ -14.0% (Reuter poll) ค่อนข้างมาก

 

นอกจากนี้ยังหดตัวน้อยลงจาก -4.7%YOY ในเดือน ก.พ. แม้มีปัจจัยฐานสูงในเดือน มี.ค. 2022 ซึ่งมูลค่าส่งออกรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 70,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -4.5%YOY และหากเทียบเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล มูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. ขยายตัว 3.9%MOM_sa นับว่า %MOM ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) หดตัวเพียง -0.4%YOY เทียบกับ -2.5%YOY ในเดือน ก.พ. และหากหักทั้งผลของทองคำและอาวุธ ยุทธปัจจัย มูลค่าการส่งออกหดตัว -1.5%YOY สะท้อนให้เห็นสัญญาณบวกของการส่งออกที่ชัดเจนมากขึ้น

สินค้าส่งออกกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเป็นเดือนที่ 6

การส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือน มี.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัว 1.2% โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะสินค้าหลัก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัวสูง 94.5% ต่อเนื่องจาก 95.0% ในเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และปัจจัยฐานต่ำ นอกจากนี้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 47.9% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 61.6% ในเดือนก่อน ในด้านการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ที่ 7.1% เทียบเดือนก่อนที่ขยายตัว 5.6% นำโดยการส่งออกน้ำตาลทราย (ขยายตัว 73.9% ดีขึ้นจาก 21.4% ในเดือน ก.พ.) และการส่งออกเครื่องดื่ม (ขยายตัว 13.2%) ขณะที่ (3) สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 6 เดือนต่อเนื่องที่ -5.9% แต่หดตัวน้อยลงเทียบ -6.2% ในเดือน ก.พ. โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่หดตัวแรง -41.2% ต่อเนื่องจาก -75.3% ในเดือนก่อน รวมถึงเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และ 11 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวได้ และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1% เทียบกับ -10.0% ในเดือนก่อน จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่กลับมาขยายตัว 1.1% เทียบกับ -3.7% ในเดือน ก.พ.

ภาพรวมตลาดส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. มีทิศทางที่ดีขึ้น

การส่งออกไปตลาดคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่พลิกกลับมาขยายตัวหรือหดตัวน้อยลง นำโดย (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว1.7% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เช่นเดียวกับ (2) ตลาดญี่ปุ่นขยายตัวครั้งแรก 10.2% ในรอบ 7 เดือน (3) ตลาดจีนแม้ยังหดตัว -3.8% แต่น้อยลงจาก -7.9% ในเดือนก่อน ซึ่งถือว่าปรับดีขึ้นในรอบ 9 เดือน สะท้อนอุปสงค์การนำเข้าสินค้าจากจีนที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจีนเปิดประเทศ ขณะที่ (4) ตลาดยุโรป (EU28) หดตัวรุนแรง -5.3% เทียบกับ -0.5% ในเดือนก่อน นำโดยการส่งออกไปยังตลาดสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสที่ -43.5% และ -38.6% ตามลำดับ สำหรับ (4) ตลาด ASEAN 5 และ CLMV หดตัวน้อยลงที่ -2.1% และ -3.5% ตามลำดับ เทียบกับ -6.4% และ -4.9% ในเดือนก่อน ขณะที่ (5) ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวชะลอลงที่ 2.9% เทียบ 23.3% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานสูง และ (6) ตลาดรัสเซียขยายตัวครั้งแรกในรอบปี อยู่ที่ 138.0% นับเป็นตลาดที่เติบโตเป็นอันดับ 1 จากปัจจัยฐานต่ำ

ดุลการค้าเกินดุลครั้งแรกในรอบปี จากการนำเข้าที่หดตัวแรง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 24,935.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวแรง -7.1% เทียบเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.1% และหากพิจารณามูลค่าการนำเข้าหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) พบว่าหดตัวมากขึ้น -7.9% สะท้อนอุปสงค์การนำเข้าสินค้าที่เริ่มชะลอลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือน มี.ค. ขยายตัวครั้งแรกในรอบปีที่ 2,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SCB EIC มองการส่งออกสินค้าของไทยยังน่าห่วงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่จะทยอยปรับดีขึ้นและกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้คาดว่า %YOY จะยังหดตัวในไตรมาส 2 ตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงและปัจจัยฐานสูง อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกไทยยังเปราะบางตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก แต่ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณบวกจาก (1) ดัชนี Flash Manufacturing PMI [1] ของสหรัฐ ในเดือน เม.ย. ที่กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน ส่วนหนึ่งจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ (Domestic) สอดคล้องกับกิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่หดตัวน้อยสุดในรอบ 6 เดือน โดยยอดขายสินค้าหดตัวน้อยลงมากตามอุปสงค์ในต่างประเทศที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตของยูโรโซนยังน่าห่วง เนื่องจากหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 3 ปี (2) มูลค่าการค้าของจีนในเดือน มี.ค. พลิกกลับมาขยายตัวสูง 14.8%YOY ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การส่งออกของจีนในไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 0.5%YOY แม้การส่งออกในเดือน ม.ค. – ก.พ. จะหดตัว ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนมีแนวโน้มจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตามอุปสงค์จากจีนที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ และยอดการนำเข้าในไตรมาส 1 ที่กลับมาขยายตัวในรอบกว่าครึ่งปี อีกทั้ง สินค้าคงคลังและสินค้าคงคลังอุตสาหกรรมก็ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเช่นกัน และ (3) ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน เม.ย. หดตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกที่ -11.0%YOY อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (รวมเซมิคอนดักเตอร์) หดตัวมากขึ้น สะท้อนอุปสงค์โลกที่ชะลอลงมาก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ได้ปรับมุมมองปริมาณการค้าโลกในปี 2023 เพิ่มเป็น 1.7%YOY เทียบประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 2022 ที่ 1.0% สะท้อนทิศทางการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 2.6% ทั้งนี้ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นเป็น 3.2% ในปี 2024 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยอุปสงค์จากคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย (รวมจีน) มีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.6% เทียบปีก่อนที่หดตัว -0.4% ขณะที่อุปสงค์การนำเข้าจากภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปหดตัวเล็กน้อย -0.1 และ -0.6 ตามลำดับ ดังนั้น แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยจะยังน่าห่วงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นและกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยกระทรวงพาณิชย์คงประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 1-2%

สินค้าส่งออกกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมยังหดตัว

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ปี 2023 ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทยเติบโตต่อเนื่อง
https://www.thaiquote.org/content/249726

เปิด 11 อุตสาหกรรมรับอานิสงส์เม็ดเงินเลือกตั้ง หนุน GDP อุตฯ-MPI เพิ่ม
https://www.thaiquote.org/content/250113

9 พรรคการเมืองตอบโจทย์ประชาชน เห็นพ้องสร้าง ‘หลักประกันรายได้’ ผู้สูงอายุ
https://www.thaiquote.org/content/250105