ความสำเร็จของ “ประชารัฐรักสามัคคี” กับเกษตรอินทรีย์…การขับเคลื่อน“กินดี อยู่ดี”ด้วยพลังเครือข่าย

ความสำเร็จของ “ประชารัฐรักสามัคคี” กับเกษตรอินทรีย์…การขับเคลื่อน“กินดี อยู่ดี”ด้วยพลังเครือข่าย


การรวมพลังเกษตรกรที่มุ่งปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมี สู่การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อรักษาและใส่ใจสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค รวมถึงการต่อยอดการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ให้เกิดการผสานพลังในรูปแบบเครือข่าย สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น

 

งานมหกรรม SX SASTAINABILITY EXPO 2022 ที่จัดขึ้นนั้น มี 1 หัวข้อที่น่าสนใจบนเวทีการเสวนาคือหัวข้อเรื่อง เกษตรอินทรีย์…การขับเคลื่อน“กินดี อยู่ดี”ด้วยพลังเครือข่าย ซึ่งมีมูลนิธิสัมมาชีพ และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เป็นองค์กรขับเคลื่อนให้เกษตรกรออกจากวงจรของการผลิตการเกษตรโดยใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์และสามารถสร้างเครือข่ายทางการตลาดแบบยั่งยืนได้ ซึ่งตลอดเส้นทางกว่า 6 ปี ต้องเผชิญทั้งปัญหาและความท้าทายเป็นอย่างมาก ทาง Thaiquote จึงขอนำเสนอเพื่อให้เห็นว่า เกษตรอินทรีย์สามารถขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนได้จริง หากสามารถสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมาได้

ในการเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ จากสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย คุณทิวาพร ศรีวรกุล ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กาญจนบุรี และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีน่าน(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และคุณฑิฆัมพร กองสอน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีน่าน และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีน่าน(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ร่วมการเสวนา

 

 

ดร.อนุรักษ์บอกว่า เรื่องของการผลิตอยู่ที่ข้อ 12 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การพูดคุยจะบอกว่าการสร้างเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนั้นมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร จากอุปสรรคและความท้าทายที่ผ่านมานั้น ประสบความสำเร็จอย่างไร

ต่อมา คุณทิวาพร ศรีวรกุลได้กล่าวว่าการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของกาญจนบุรีถือว่าเป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากโคราช และเชียงใหม่ แต่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มากที่สุดในผืนป่าตะวันตก มีที่โดยประมาณ 11 ล้าน 7 แสนไร่ ฉะนั้นกาญจนบุรีจึงเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่สมบูรณ์จากสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 2-3 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ การปลูกผักจะงดงาม ดังนั้นบริษัทส่งออกจึงนิยมที่จะวิ่งไปซื้อที่กาญจนบุรี จึงมีพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ที่มาก และหลากหลาย มีการสร้างเครือข่ายจึงต้องปลูกอยู่บนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

“ลักษณะการขับเคลื่อนของเรา มีบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้ว 6 ปี เป็นธงนำ มีนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ในการนำพืชเกษตรอินทรีย์เข้าโรงพยาบาล ประชารัฐรักสามัคคีที่กาญจนบุรี มียอดการส่งผักเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มดำเนินการมากว่า 40 ล้านบาท ในขณะเดียวกันก็ส่งออกต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าผู้บริโภคต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ระหว่างทางที่จะได้ยอดการขายกว่า 40 ล้านบาทนั้น ล้มลุกคลุกคลานมากพอสมควร เฉพาะในกลุ่มของการปลูกผักมีเครือข่ายไม่น้อยกว่า 100-200 แปลง แต่ก็สามารถสร้างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ” คุณทิวาพรบอก

ทางด้านคุณฑิฆัมพร หรือที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกว่า “แม่กำนัน” กล่าวว่ากรณีของจังหวัดน่านนั้น จุดเริ่มต้นจากแต่ละปีเกษตรกรผลิตฝักทองเข้าตลาดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านกิโลกรัม เนื่องจากจังหวัดน่านถูกมองว่าเป็นเมืองที่มีภูเขา แต่เป็นภูเขาหัวโล้น แต่เนื่องจากเราเป็นคนที่ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว พอเราทำแผนเพื่อการพัฒนา ทำให้เรารู้ปัญหาจึงคิดว่าเราจะมาฟื้นให้ป่าน่าน และสิ่งแวดล้อมของน่านที่ดีขึ้น เนื่องจากน่านเป็นพื้นที่การปลูกข้าวโพด ส่งผลให้สิ่งแวดล้อม และความสมบูรณ์ของดินเสีย เป็นผลมาจากปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช เป็นต้น จึงหันมามองว่าเราควรกลับมาพัฒนาพื้นที่ทำกินของเราให้ก่อประโยชน์มากที่สุด

 

 

ดังนั้น จึงคิดว่าหากเราต้องการเข้ามาฟื้นฟูให้ที่ดินทำกินให้มีความเป็นธรรมมากที่สุดทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค จึงคิดทำแผนชุมชน 1 ไร่เกษตรอินทรีย์ และชวนพี่น้องมา เขาก็มีปัญหาว่าหากดำเนินการอย่างที่เราวาดฝันไว้นั้นสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ไหม ซึ่งเราก็บอกว่ายังไม่ได้ แต่ต้องการทำให้เกิดการปลูกทุกสิ่งที่เรากินได้ก่อน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ขนาด 1 ไร่ แต่ขอสักประมาณ 1 แปลง 1 งานก่อน เพื่อกันพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการปล่อยสารพิษลงไปสู่กระบวนการปลูก เราคิดภายในคำว่า “พืชรายวัน” “พืชรายเดือน” เพื่อตอบโจทย์ว่า ปลูกแล้วมีรายได้เข้ามาทุกวันเป็นรายวัน มีพืชที่ทำให้เกิดรายได้รายเดือน หากทำสำเร็จเกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องไปปลูกไร่ข้าวโพด ตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งไข่โครงการก็มีทีมไทยเบฟที่เข้าไปทำโครงการ 1 ตำบลสัมมาชีพ 1 บริษัท ซึ่งทางชาวบ้านมีพืชพื้นถิ่นคือฝักทองไข่เน่า เนื่องจากอายุในการเก็บเกี่ยวมีประมาณ 3 เดือน จึงคิดว่า 1 ไร่ ทำวนกันไป 3 ครั้ง ก็สามารถที่จะมีรายได้เข้ามาจ่ายดอกเบี้ย ธกส.ได้ก่อน จึงได้ไปชวนเครือข่ายทั้งจังหวัดน่านมาร่วมโครงการ “เกษตรอินทรีย์ วิถีน่าน จากภูผาสู่สากล” โดยนำฝักทองเป็นตัวนำ ตอนแรกยังไม่คิดถึงเรื่องของการส่งออก คิดแต่เพียงว่าจะได้เข้าห้าง ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้ายากมาก ห้างแรกที่เข้าคือท้อป ต่อมาก็บิ๊กซี ปัจจุบันเราไม่ต้องเดินไปหาตลาด แต่ตลาดค้าส่ง ตลอดจนตลาดส่งออกเดินมาหาเราแล้ว

“ทางบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเข้ามาช่วยเป็นอย่างมาก โดยมาช่วยตั้งเครือข่ายของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เครือข่ายน่านกันก่อน หลังจากนั้นก็มีการปลูกฝักทองกันทั่วทั้งจังหวัด ผลผลิตออกมามากประมาณ 8 ตัน แต่ไม่มีทางออกด้านตลาด จึงได้กระจายให้กับท้อป บิ๊กซี แม็คโคร ด้วยความทุลักทุเลด้วยความที่ไม่มีการวางแผนเรื่องเครือข่ายการขายไว้ก่อน และจากจุดนี้เองก่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่าย มีการเชื่อมโยงกับตลาด ทำให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ จนทุกวันนี้มีวิสาหกิจทั้งหมด 39 แห่ง จากเริ่มต้นประมาณ 18 แห่ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ทำบทบาทในฐานะการรับรองคุณภาพแปลงการผลิต จนทุกวันนี้มีส้มด้วย ซึ่งส้มของเราได้ GI” แม่กำนันบอกพร้อมกับเล่าต่อว่า

นอกจากนี้ในการทำงานดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องการรับรองมาตรฐานทุกประเภท แม้แต่ GAP ก็ยังทำไม่ได้ เพราะพื้นที่เพาะปลูกของน่านอยู่ในเขตป่าสงวน ถือว่าผิดตั้งแต่ยังไม่ได้ปลูก จึงหันมาทำมาตรฐาน SDG ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีมูลนิธิสัมมาชีพเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือให้เกิดเครือข่ายเหล่านี้ ซึ่งในระยะแรกเกษตรกรเกือบทั้งหมดทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี ดังนั้นทางมูลนิธิสัมมาชีพ จึงสร้างกุศโลบาย ให้เกษตรกรแต่ละคนจัดตั้งแปลงเกษตรอินทรีย์ของตนเองอย่างน้อย 1 แปลง โดยเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อการบริโภคก่อน เพราะขณะนั้นจากการสำรวจของสาธารณสุขอำเภอ ปรากฏว่าเกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งมาก อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร จึงใช้จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้าน

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทางเครือข่ายจังหวัดน่านเผชิญคือ การซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก โดยไม่มีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง ทางบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจึงได้เข้ามาส่งเสริมให้ฝักทองไข่เน่าของน่านมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง และสามารถทำเป็นสินค้า GI ได้ และกำลังได้รับการยอมรับจากตลาดเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้

โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเกษตรกรสามารถปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้นทำได้ แต่ต้องรวมพลังเป็นเครือข่ายตลอดวงจรการผลิตและการตลาด.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.มหิดล สร้างชุมชนแข็งแกร่ง ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการ “วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์”
https://www.thaiquote.org/content/248255

นำหมุดหมาย 17 ข้อด้านความยั่งยืน มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ-มหานครแห่งเอเชีย”
https://www.thaiquote.org/content/248179

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Change หรือไม่ สภาพดินฟ้าอากาศจะเปลี่ยนไปอย่างไร
https://www.thaiquote.org/content/247988