เปิดผลงาน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ก่อนรับช่วงต่อ รมว.คลัง

เปิดผลงาน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ก่อนรับช่วงต่อ รมว.คลัง


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ภายหลังมีการเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา โปรดเกล้าแต่งตั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” หรือ รมว.คลังคนใหม่เพื่อให้มาทำงานภายใต้ปีกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และทำให้หลายคนรอลุ้นว่า “รมว.คลัง” ใหม่ถอดด้ามคนนี้ จะสามารถฝ่าแรงต้านทางการเมือง เพื่อประคองตัวเอง รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญอยู่นี้ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

สำหรับ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” นอกจากจะเป็น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ก่อนหน้านั้นเขายังเคยดำรงตำแหน่ง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ เลขาฯ สภาพัฒน์ อีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่เคยฝากฝีมือ ผลงานในด้านเศรษฐกิจสำหรับเมืองไทยเอาไว้

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2499 ที่จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบัน อายุ 64 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยวิลเลียม รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับการทำงานได้รับการแต่งตั้งเป็น เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2553 ก่อนที่ในปี 2557 จะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ต่อมาในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แลละได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แทนพล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง โดยดำรงตำแหน่ง “เจ้ากระทรวงหูกวาง” ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2558 – 10 กรกฎาคม 2562 หรือเกือบ 4 ปีเต็ม

4 ปี ดังกล่าว “อาคม” มีบทบาทในการขับเคลื่อน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ร่วมกับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ “อุตตม สาวนายน” อดีต รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.คลัง ทั้งการผลักดันแผนการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สนามบิน การก่อสร้างสถานีรถไฟกลางบางซื่อ

แถมยังมี โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง งบลงทุนกว่า 1.43 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด 2.มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และ3.มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี

นอกจากนี้การพัฒนาสนามบินในเส้นทางเมืองรอง 6 จังหวัด ได้แก่ สนามบินสกลนคร สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินลำปาง สนามบินแพร่ สนามบินตรัง สนามบินหัวหิน และสนามบินนครศรีธรรมราช

รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขต กทม.และปริมณฑล ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สาย ระยะทาง 169.9 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ, สายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ, สายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์), สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

จะเห็นได้ว่าการทำงานในฐานะ รมว.คมนาคม ที่ผ่านมานั้น “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ได้เร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมกกะโปรเจกต์ ที่ปัจจุบัน ได้ทะยอยเปิดให้บริการไปแล้วส่วนหนึ่ง

ดังนั้นจะต้องวัดฝีมือกันหลังจากนี้ว่า เมื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็น รมว.คลัง ในยุครัฐบาลผสม ที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ จากไวรัสโควิด-19 ด้วยแล้ว “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” จะใช้ประสบการณ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ให้อยู่รอดตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะ “ปรีดี ดาวฉาย” เองก็เคยทำให้เห็นแล้วว่า แม้ฝีมือจะดีแค่ไหน แต่หากถูกคลื่นใต้น้ำที่มองไม่เห็นกระแทกใส่ ก็ไม่อาจทนทานอยู่ได้ และต้องถอนสมอออกไปในเวลาไม่ถึงเดือน

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ