โดย…คเชนทร์ พลประดิษฐ์
พายุ “โนอึล” ขณะนี้มีจุดศูนย์กลาง อยู่ในทะเลจีนใต้ และคาดการณ์ว่าจะขึ้นฝั่งประเวียดนามที่เมืองเว้ และดานัง ในช่วงเที่ยงของวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.63) โดยมีการคาดการณ์ว่า พายุลูกนี้จะมีโอกาสทวีความรุนแรงจากพายุโซนร้อน เป็นพายุไต้หวัน ในระดับ 5 นั้น
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ได้เผยกับ ThaiQuote ถึงสถานการณ์ความรุนแรงของพายุ “โนอึล” ว่า จากการคาดการณ์ล่าสุด พายุลูกนี้ อาจจะทวีความรุนแรง ประมาณ 80% จะเป็นพายุไต้ฝุ่น ในระดับ 4 ซึ่งมีความเร็วลมเกินกว่า 110 กม./ชม. โดยมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังใน 21 ประเด็นคือ
1.ความรุนแรง แน่นอนว่าพายุ “โนอึล” จะมีความรุนแรงมากกว่า พายุโซนร้อน “ฮีโกส” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งแรงกว่า พายุโซนร้อย “โพดุล” ที่เกิดนขึ้นในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่จ .อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด โดยคาดว่าพายุ “โนอึล” จะทวีกำลังเป็นพายุไต้ฝุ่นในขณะที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม
2.ความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากพายุลูกนี้ มีเส้นทางการเคลื่อนตัวที่คล้ายกับพายุ “โพดุล” แต่ตอนปลายของพายุจะมีความแตกต่างกันคือ พายุ “โพดุล” จะไปวกขึ้นไปทางทิศเหนือ โดยไม่กระทบภาคเหนือของไทยส่วน พายุ “โนอึล” นั้น จะเคลื่อนตัวตรงไปยังภาคเหนือของประเทศไทยต่อเนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดขอบเขตความเสียหายต่อประเทศไทย มากว่า พายุ “โพดุล”
ความกังวลที่มีต่อพายุ “โนอึล” คือจะสร้างความเสียหายมากกว่า พายุที่เราเจอมาทั้ง 2 ลูก โดยลูกนี้ถือว่ามีความรุนแรงที่สุด และมีผลกระทบต่อ 2 ภาคของประเทศ ผิดกับ “โพดุล” ซึ่งกระทบเฉพาะภาคอีสาน และ “ฮีโกส” ที่กระทบเฉพาะภาคเหนือ ” อ.เสรี แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบจากพายุ “โนอึล”
ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้นจากพายุลูกนี้ อ.เสรี กล่าวว่า จะมีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.กลางคืน อยู่ที่ประมาณ 100 มิลลิเมตร (มม.) ต่อเนื่องถึงช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย.63 ที่จะเพิ่มเป็น 200 มม.ขึ้นไป ดังนั้นจึงมีความกังวลว่า อาจเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเฉียบพลัน และน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยเฉพาะ อ.โพธิ์ทอง อ.เสลภูมิ อ.หนองพอก อ.เมยวดี และ จ.ยโสธร เกือบทั้งจังหวัด
ขณะที่ภาคเหนือ เนื่องจากพายุได้ลดระดับความรุนแรงลงก่อนเข้าสู่ภาคเหนือ แต่ควรเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ในส่วนของ จ.เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ แพร่ เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
ด้านแนวทางระวังป้องกันของประชาชนในพื้นที่ หากเป็นในส่วนของภาคเหนือ ควรตเตรียมการขนย้ายสิ่งของ และการอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก คือ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ และ อ.วังชิ้น จ.แพร่
ขณะที่ในภาคตะวันออกเฉียง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ควรขนย้ายสิ่งของ รถยนต์และทรัพย์สินมีค่า ออกจากพื้นที่
ในส่วนของภาครัฐจำเป็นจะต้องเตรียมการให้พร้อมในช่วยเหลือประชาชนตามหลักการปฏิบัติ พร้อมทั้งเตรียมแผนฟื้นฟูและเยียวยาประชาชนจากเหตุการณ์ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน หรือหากมีน้ำท่วมขังอาจนานเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น
ผลกระทบจากพายุ “โนอึล” ในส่วนของตัวพายุเอง จะอ่อนกำลังลง และพัดผ่านประเทศไทยไปในวันที่ 20 ก.ย.63 ในส่วนของการประเมินค่าความเสียหายคาดการณ์ว่า พายุ “โนอึล” จะสร้างความเสียหายได้ในระดับ ที่นำเอาตัวเลขความเสียหายจาก “โพดุล” และ “ฮีโกส” มารวมกัน เพราะว่าว่า เส้นทางของพายุ “โนอึล” นั้นมีผลกระทบสร้างความเสียหายต่อทั้งภาคิอีสาน และภาคเหนือ ในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม อ.เสรี ยังได้แสดงความคิดเห็นอีกว่า พายุ “โนอึล” อาจจะไม่ใช่พายุที่มีความรุนแรงที่สุดของปีนี้ เนื่องจากยังมีพายุ อีกประมาณ 2 ลูก ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย คือในช่วงกลางเดือนตุลาคม ที่มีแนวโน้มของพายุจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออก และ กลางเดือนพฤศจิกายน ที่มีพายุอีก 1 ลูก จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ของไทย
“ต่อจากนี้จนถึงปลายปี จากการคาดการณ์จะมีพายุอีก 2 ลูก เข้าสู่ประเทศไทย ในบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แน่นอนว่าอาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ไม่มากก็น้อย โดยสาเหตุในปีนี้มีพายุหลายลูกที่มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานินญ่า ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้พอดี” อ.เสรี กล่าวในตอนท้าย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ