ถอดรหัสเมื่อพ้นโควิด-19 สถานะ “คลัง” จะยั่งยืนในทิศทางไหน

ถอดรหัสเมื่อพ้นโควิด-19 สถานะ “คลัง” จะยั่งยืนในทิศทางไหน


วงพูดคุย “ความยั่งยืนทางการคลังหลังโควิด-19” สะท้อนมุมเศรษฐกิจชาติจะเดินไปทิศทางไหนในอนาคต หลังต้องสำรวจบาดแผลจากพิษโควิด-19

 

จากที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งวงพูดคุยในฟอรั่มนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลังของไทยหลังโควิด-19 และพุ่งไปหาประเด็นที่สำคัญสำหรับคนไทย คือ “การรับมือกับโควิด-19 ในยกแรกสร้างภาระการคลังมากแค่ไหน และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการคลังจะกลับมายั่งยืนได้อีก”

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ถอดเนื้อหาในวงพูดคุยโดยหยิบยกเอาประเด็นสำคัญมาเผยแพร่ โดยระบุว่า ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ และ ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล เล่างานวิจัยเกี่ยวกับภาพการคลังของไทยปีนี้และมองไปข้างหน้า โดยมีใจความว่า หากเงื่อนไขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อแย่ลงมากเพราะผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นตัวกลับมาได้ช้า รวมถึงมาตรการลดภาษีต่างๆ อาจทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีนี้และปีหน้าหายไปจากที่เคยคิดไว้ปีละประมาณ 2 – 2.5 แสนล้านบาท

ซึ่งถ้ารัฐบาลยังคงวงเงินงบประมาณรายจ่ายตามแผนการคลังระยะปานกลางที่วางไว้ก่อนเกิดโควิด-19 ประมาณ 3.3 – 3.4 ล้านล้านบาทในปีนี้และปีหน้า ก็อาจเห็นการขาดดุลการคลังสูงเกิน 4% ต่อ GDP หรือปีละ 6 – 7 แสนล้านบาท (สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่ขาดดุล 2 – 3% ต่อ GDP หรือราว 4 แสนล้านบาท) และขนาดการขาดดุลอาจลดลงได้ช้าในระยะต่อไป

เนื่องจากภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบทำให้ GDP ต่ำลงไปมาก ประกอบกับหนี้สาธารณะที่จะสูงขึ้นเพราะรายได้ที่ไม่พอวงเงินงบประมาณรายจ่าย จนทำให้รัฐบาลต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเยอะขึ้น รวมกับการกู้นอกงบประมาณตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ และส่วนที่อาจต้องกู้เพื่อมาชดเชยภาระการคลังอื่นๆ นอกงบประมาณ

ทำให้นักวิจัยทั้งสองท่านประเมินว่า ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยน่าจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสิ้นปี 2562 ที่ประมาณ 41% ของ GDP ไปใกล้เพดานหนี้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 60% ในปี 2564 ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เองได้เคยกล่าวไว้ นอกจากนี้ หนี้ที่เห็นอาจมีแนวโน้มที่จะไปต่อ ถ้ายังมีการกู้ใหม่สูง แต่เศรษฐกิจกลับยังไม่ฟื้นไประดับเดิม

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินรายงาน Fiscal Monitor เดือน เม.ย. 2563 ว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ในโลกจะสูงขึ้นมากเช่นกัน สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น จากเฉลี่ย 105% เป็น 122% ต่อ GDP สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 53% เป็น 62% ต่อ GDP หากมองยาวขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า บทวิเคราะห์ของ Capital Economics ประเมินไว้ว่า หนี้สาธารณะของทั้ง 2 กลุ่มประเทศจะสูงขึ้นจากตอนนี้อีกราว 15 – 30% และ 5 – 15% ต่อ GDP ตามลำดับ

จึงพอเห็นได้ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงดูไม่น่าแปลกใจนัก เพราะรัฐบาลทั่วโลกสร้างหนี้เพิ่มขึ้นแบบมีที่มาที่ไปเพื่อรับมือโควิด-19 ขณะที่ระดับ GDP ที่ใช้เป็นตัวหารของสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เองก็ลดลงมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะสามารถบริหารจัดการให้หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นมากให้กลับมายั่งยืนอีกครั้งได้อย่างไร

เมื่อมองย้อนไปในช่วงหลังวิกฤตการเงิน 2540 หนี้สาธารณะของไทยก็เคยขยับไปใกล้เพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP จากที่เคยต่ำกว่า 20% แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการหนี้ให้กลับมายั่งยืนได้ ซึ่งอาศัย 3 แรงช่วยกัน คือ (1) GDP เติบโตได้เร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยจ่ายของยอดคงค้างหนี้ (2) ลดขนาดการขาดดุลงบประมาณได้ต่อเนื่อง และ (3) ลดภาระผูกพันทางการคลังและเงินกู้นอกงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง

หากหนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังปัจจุบันไปบ้าง ก็อาจพอจะขยับเพดานขึ้นได้บ้างในระยะสั้น เพราะจริงๆ ก็เป็นกรอบที่กำหนดขึ้นมาเองเพื่อให้ประเทศมีวินัยการคลัง ตราบใดที่รัฐบาลสามารถสื่อสารถึงความจำเป็นและสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลได้ว่า รัฐบาลไม่ได้ก่อหนี้เกินตัว และสามารถบริหารจัดการหนี้ให้กลับมายั่งยืนได้อีกครั้ง โดย

(1) ใช้จ่ายเงินกู้อย่างคุ้มค่าเพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจ และใช้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำในช่วงนี้เพื่อลดต้นทุนเงินกู้ระยะยาว

(2) มีแผนปฏิรูปรายได้และรายจ่ายในอนาคตเพื่อลดขนาดการขาดดุลและเพื่อให้มีเงินมาชำระคืนหนี้

(3) ไม่สร้างภาระผูกพันทางการคลังที่ไม่โปร่งใสและไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้พลวัตหนี้สาธารณะยั่งยืนได้ด้วย 3 แรงข้างต้นดังที่ได้กล่าวไว้

การรับมือกับศึกโควิด-19 บนสังเวียนระดับโลกในเวลานี้ ช่วงพักยกอาจต้องกลับมาสำรวจบาดแผลทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลังที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมหากระฆังยกสองเกิดดังขึ้นมาอีก

ขอบคุณข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ผ่าผลประเมิน SMEs รายภูมิภาค “เหนือ-อีสาน-กลาง” ฟื้นตัวปีนี้ ส่วน ”ใต้” รอปีหน้า

ช่วยลูกหนี้เฟส 2 “ธปท.” ให้แบงก์เพิ่มวงเงินบัตรเครดิต ลดดอกเบี้ย แถม Cashback