วิเคราะห์เจาะลึก เก้าอี้ดนตรีใน “รวมพลังประชาชาติไทย” หรือ รปช. เมื่อหม่อมเต่ายื่นลาออกจากพรรค แต่โควตา รมต.ยังอยู่ และคนชื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” จะผงาดในเงาของ กปปส.
โดย….กองบรรณาธิการ ThaiQuote
บ่ายค่อนเย็นของวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ข่าวการเมืองก็พุ่งไปหาการประชุมของคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เพราะตอนหนึ่งของวงประชุมเกิดข้อวิพากษ์และประเมินการทำงานของรัฐมนตรีของพรรคหนึ่งเดียว “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ที่อยู่ในฐานะหัวหน้าของพรรค
ผลสอบของหม่อมเต่าต่อตัวกรรมการบริหาร รปช. ผลลัพธ์คือการให้เกรด “สอบตก” หรือไม่ผ่านการทำงาน โดยเฉพาะกับเหตุผลของกรรมการบริหาร รปช. ที่ชี้ไปถึงเรื่องของประกันสังคมที่ตอบโจทย์การจ่ายเงินเยียวยาโควิด-19 อย่างล่าช้า ซึ่งมันส่งผลให้ รปช. และ ก.แรงงาน โดนถล่มยับจากทุกภาคส่วนในสังคม
คล้อยหลังเพียงไม่กี่สิบนาทีดีนัก คนสนิทของหม่อมเต่า ก็โผล่ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น “หัวหน้าพรรค” ของ ม.ร.ว.จัตุมงคลในทันที แต่ยังคงทำหน้าที่ตำแหน่ง รมว.แรงงานต่อไป
แรงกระพือโหมขึ้นมาทันที และต่อเนื่องมายังข่าวการเมืองในวันนี้ด้วย พลันที่หนังสือลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคของหม่อมเต่าถูกส่งมา ก็มีเพียงมติชนออนไลน์ ที่มีโอกาสไปแหวกการ์ดเข้าถึงตัว ม.ร.ว.จัตุมงคล ก่อนที่จะได้ไป 4 คำถามถึงมูลเหตุของการลาออกจาก รปช.
ใจความการเผยความในใจถึงเรื่องร้อนแรงทางการเมือง หม่อมเต่าระบุว่า ไม่มีเหตุผลใดเป็นพิเศษ เพียงแต่ก็เหมือนกับคู่รักสามี-ภรรยา ที่หย่าร้างกัน และแน่นอนว่าจะไม่มีทางกลับไปครองคู่กันเหมือนเดิม
พร้อมสำทับลงไปอีกว่า คนอย่างหม่อมเต่านั้นเมื่อลาออกแล้วก็ให้ออกได้เลย ขอให้มีผลทันที และหากว่าการเป็นหัวหน้าพรรคแต่ไม่ได้สะท้อนความเห็นใดได้ ก็ไม่ขออยู่จะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดหม่อมเต่าไม่ได้สนใจหากว่าตัวเองจะต้องถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะเปลี่ยนตัว แต่ระหว่างนี้จะทำหน้าที่ รมว.แรงงานต่อไปให้ดีที่สุด (มติชน ออนไลน์)
ที่ผ่านมา คนไทยรู้กันดีว่า พรรค รปช. คือพรรคที่ได้แรงสนับสนุนอย่างมากจาก “กำนันคนดัง” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. ที่ก่อนการเลือกตั้งประกาศก้องจะหนุนพรรคนี้เข้าสู่ระบบการเมือง ด้วยการชู “ความเป็นคนดี” เพื่อเป็นจุดหลักของการหาเสียง สอดรับกับที่ผ่านมาโดยตลอดว่า กปปส.คือคนดี ที่นายสุเทพก็ปูภาพลักษณ์จนจำลงไปในคอการเมืองไทย เมื่อรวมกับเสียงจากสังคมที่ผ่านมา ความั่นใจที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สุเทพหวังอย่างมากว่า ความนิยมของตัวเองจาก กปปส. ยังไม่ได้จางหายไป และน่าจะผงาดได้ดีหลังการเลือกตั้ง
กอปรกับการเชิดชู “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล ที่ครั้งนั้นไม่เคยข้องแวะทางการเมืองมาก่อน แต่สุเทพประกาศในทุกพื้นที่ที่หาเสียง ว่าหม่อมเต่านี่แหละ จะเป็นคนที่นำพรรค รปช. ในสนามการเมือง อีกทั้งภาพลักษณ์การเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ คนชั้นสูงที่ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยใดๆ ก็น่าจะสอดรับกับแนวทางที่ กปปส.พยายามเดินให้สังคมเห็นมาอย่างตลอด
แต่แล้วเมื่อพ้นเลือกตั้งไป รปช.ได้ที่นั่งเก้าอี้ ส.ส.มาแค่ 5 ตัว กระนั้นก็ยังได้ตำแหน่ง รมว.แรงงาน ที่ถือเป็นงานสร้างชื่อของรัฐมนตรีมานักต่อนักไปครองได้ เมื่อเทียบกับความใหญ่ของพรรค แรงหนุนจากบิ๊กเนม กับพรรคอย่างเสรีรวมไทย ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ก็ยังกวาดมาได้ถึง 10 ที่นั่ง แต่ท้ายสุดโชคอาจไม่เข้าข้าง “คนดี” ที่คงจะไม่เหมาะกับงานบริหารทางการเมือง ทำให้หม่อมเต่าเจอแรงเสียดทานอย่างหนักจากคนในพรรคเสียเอง กระทั่งก่อเกิดแรงต้านว่าไม่เอาคนชื่อหม่อมเต่าใน รปช.อีกแล้ว
วกกลับมาที่เรื่องของ รปช. กับสุเทพ และหม่อมเต่า หลังการยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค เช้าวันที่ 17 มิถุนายนก็ยังไม่เห็นแอคชั่นใดๆ จากสันหลังของพรรคที่ยึดโยงเอาไว้อยู่ นั่นคือความเห็นจากสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะแน่นอนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เรารู้กันมาตลอดว่ากำนันคนดังแห่งปักษ์ใต้หนุนหลัง ม.ร.ว.จัตุมงคลอย่างเต็มที่ และมันไม่อาจปฏิเสธ หรือจะหยุดความคิดได้ว่า การบีบคั้นที่แสดงออกมาจากคณะกรรมการบริหาร รปช. จะมีใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่
นั่นยังเป็นคำตอบที่ต้องตามกันต่อในข่าวออนไลน์ของวันนี้ รวมถึงข่าวการเมืองอีกด้วย แต่กระนั้น หากมองไปข้างหน้าว่าช็อตต่อจากนี้ รปช. และกำนันสุเทพ หากยังอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคนี้ ทิศทางของพรรคข้างหน้า ใครจะเข้ามากุมบังเหียน
แน่นอนว่า ความรวดเร็ว การช่วงชิงจังหวะ เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมแทบทุกครั้งสำหรับประเด็นทางการเมือง เพราะหลังจากที่ ม.ร.ว.จัตุมงคลยื่นหนังสือลาออก ก็มีเสียงเรียกชื่อของ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นักวิชาการ นักการเมือง และกรรมการบริหารรปช. ก็โผล่เข้ามาเป็นอีกทางเลือก หรืออีกกระแสก็ว่าต้องการ “คนการเมือง” ที่เชี่ยวกรากพอควรมาคุมพรรค
ซึ่งใน รปช.เองก็พอมองเห็นหน้ากันอยู่บ้าง ซึ่งแนวทางหลังน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่สมาชิกพรรคบางส่วนต้องการ เพราะหากจะสู้กับสมรภูมิการเมืองที่มีทั้งเล่ห์ และเหลี่ยม ก็ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ มีพวกพ้องในวงการเมือง เข้ามาช่วยทำงานด้านนี้เพื่อให้ รปช. มีเกรงขามและใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
แต่เชื่อได้ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงแรงงานจะยังคงอยู่กับ รปช. เพราะแว่วว่าสุเทพ เดินทางเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนนกกระจอกจะกระซิบกันว่า สิ่งที่สุเทพคุยกับนายกฯ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในกระทรวงแรงงานนั้น รปช. จะดูแลให้จนจบรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าเรื่องใดจะเกิดขึ้นก็ตาม
บารมีของสุเทพน่าจะยังคงอยู่พอทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจเชื่อมั่น ดังนั้นโควตารัฐมนตรีของกระทรวงแรงงานก็น่าจะอยู่กับ รปช. แต่ตัวหม่อมเต่าเองอาจจะไม่อยู่ในเก้าอี้ได้นานนัก รวมไปถึงคนใหม่ที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคแทนที่เจ้าของที่นั่งเดิม ก็น่าจะเป็นคนที่ถูกจับตาอย่างมากแน่นอน เพราะจะยิ่งทำให้ภาพของ รปช.ชัดเจนมากขึ้นว่าจากนี้ พวกเขาจะเอาอย่างไรต่อไปกับการเมืองไทย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
คำขู่ในประชาธิปัตย์ สะท้านปม “ยุบสภา” ลือวางตัวเพื่อเลือกตั้ง สะท้อนอะไร?
กกต.ยันเอง มีงบจัดเลือกตั้งท้องถิ่น 800 ล้าน รอรัฐบาลไฟเขียว จัดได้ทันที