อ่านบทวิเคราะห์เจาะลึก! จริงเท็จแค่ไหน กับกรณี “ประชาธิปัตย์เรือแตก” กรรมการบริหารพรรคแห่ลาออก หรือพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทยกำลังถึงจุดจบ??
หลังจากกระแส “ความวุ่นวายในพรรคการเมือง” ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในพรรคพลังประชารัฐ หากแต่เริ่มลุกลามมายังพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทยอย่าง “ประชาธิปัตย์” ก็เริ่มมีเชื้อไฟปะทุความขัดแย้งภายในเหมือนกัน
ลักษณะโมเดลการก่อหวอดของบรรดาสมาชิกพรรค ส.ส. เริ่มในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ “ไม่พอใจ” กับการทำงานของหัวเรือของพรรค หรือหัวหน้าพรรค และอยากให้มีการเปลี่ยนตัว
ฝั่งประชาธิปัตย์เรื่องจึงมาลงกับหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งคู่ก็เป็นคนสำคัญในคณะรัฐมนตรี และรัฐบาลด้วย ทั้งในตัวของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี และคุมกระทรวงพาณิชย์ในตำแหน่งรัฐมนตรีอีกหน้าที่ รวมไปถึงตัวของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาฯ พรรคและรมว.เกษตรและสหกรณ์
ข่าวการเมืองชิ้นนี้ ทำให้สายตาเบนจากพลัประชารัฐ มาสู่ประชาธิปัตย์ในทันที
และเกิดข้อสงสัยตามมาว่าพรรคเก่าแก่ ที่มีแนวทางอุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่นในเรื่องการเมืองส่งต่อกัน พรรคที่เก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ก็ไม่ค่อยจะมีเรื่องเสียหายภายในออกมาสู่สาธารณะมากนัก แล้วเหตุใดมูลเหตุที่อาจนำไปสู่ “พรรคแตก” จึงเกิดขึ้น
ThaiQuote สอดส่องไปต้นทางการก่อหวอดครั้งนี้ ก็พบว่ามีกลุ่ม ส.ส.บางส่วนในพรรค ที่อาจจะไม่แฮปปี้มากนักเมื่อต้องมาอยู่ใต้ร่มเงาการบริหารของจุรินทร์ และต้องเดินตามพรรคเลือดใหม่แต่มาแรงจนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐมาตลอดกว่า 1 ปี ศักดิ์ศรีของนักการเมืองเก๋าเกมบางกลุ่มจึงบีบคั้นให้ต้องแสดงออกมาเช่นนี้
กระนั้นก็ดูเหมือนว่าเหตุผลเพียงเท่านี้ไม่อาจจะเพียงพอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะการที่จุรินทร์ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกพรรคเอง แต่เมื่อไม่พอใจการก่อหวอดรวมกลุ่มเป็นพลังกดดันเพื่อให้ออก รวมกับเหตุผลในข้างต้น ก็คงไม่มีน้ำหนักอะไร
ข่าวการเมืองข่าวนี้ถูกประโคมอย่างหนักในวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนจะถูกสำทับให้ชัดเจนขึ้นในวันต่อมาว่า “ไม่มีอะไร” จากโฆษกของประชาธิปัตย์เองที่ออกโรงมาสยบข่าว ที่ระบุว่า “เป็นการลือกัน”
ข่าวการเมือง ข่าวออนไลน์ เลยรอฟังเสียงคำชี้แจงของราเมศ รัตนเชวง โฆษกประชาธิปัตย์ และเปิดฉากด้วยว่า “ไม่จริงเลยกับเรื่องที่เกิดขึ้น” และการขัดแย้ง การขัดข้อง และความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้างในพรรค ไม่ได้มีน้ำหนักพอที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียหาย และทุกอย่างยังเหมือนเดิม หากสมาชิกพรรคมีปัญหา ขัอข้องหมองใจก็ขอเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคได้ หรือเดินตรงเข้าหาทั้งหัวหน้า และเลขาธิการพรรคได้เสมอ
“สมาชิกเดินตรงไปหาหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคได้เลย หากต้องการพูดคุย หรือประชุมพรรคเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาธิปัตย์ เพราะกรรมการก็เข้ามาบริหารตามครรลองของประชาธิปไตย พรรคอื่นจะขัดแย้งก้เป็นเรื่องของแต่ละพรรค แต่สำหรับเรา ประชาธิปัตย์ เรามีวัฒนธรรม”
ตอนหนึ่งจากถ้อยแถลงของโฆษกประชาธิปัตย์
กระนั้นก็ตาม ในการแถลงของราเมศ คอการเมืองพอได้เห็นภาพจากคำถามของสื่อมวลชนว่า ใครที่ทำเรื่องนี้ ที่กุกระแสเรื่องนี้ จะต้องถูก “คาดโทษ” จากประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะราเมศตอบคำถามว่า เรื่องการคาดโทษนั้น มีอยู่ในระเบียบของพรรคอยู่แล้ว แต่ชั่วโมงนี้ยังไม่รู้ว่าใครทำ
“ส่วนจะไม่ให้ลงเลือกตั้งหรือเปล่า พรรคยังไม่คุยเรื่องนี้” โฆษกประชาธิปัตย์เอ่ยถึงประเด็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การมีประเด็นการเมืองเช่นนี้ออกมา ประชาธิปัตย์เองก็ไม่อาจปฏเสธการมีอยู่ของข่าวลือว่า “แตกหัก” และหากออกมารูปนี้จริงจะยิ่งอาจสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงต่อพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดพรรคนี้
เพราะลำพังแต่เดิมคอการเมืองของเมืองไทย คนที่ติดตามข่าวการเมืองย่อมรู้ว่าขณะนี้กระแสทิศทางของลมเปลี่ยนผ่านไปแล้ว บางทีคนไทยอาจจะต้องการอะไรที่ใหม่ ไม่ใช่คนหน้าเดิมเข้ามาทำงาน และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาก็พ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่าให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ เช่นกัน
แต่บารมีของบิ๊กเนมยังคงออกดอกผลให้เป็นหนึ่งหน่วยในรัฐบาลชุดนี้ได้ แต่หากว่าสูญเสียกำลังพลทำงานออกไป แน่นอนว่าความเชื่อถือ ภาพลักษณ์ก็กระทบตาม และมันจะ “ง่ายมากยิ่งขึ้น” หากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัฐบาลที่ถือเป็นปกติ อย่างการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี หรือการปรับ ครม. เป็นต้น
แต่หากออกมารูปแบบนี้จริง และบางส่วนของสมาชิกขอลาจาก หรือบีบคั้นกันจนคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้อยู่ไม่ได้ ก็เชื่อว่าจะมี “ตาอยู่” รอรับ และรอเสียบ เพื่อเข้าไปกุมบังเหียนพรรคประชาธิปัตย์เป็นแน่แท้
ส่วนใครจะมาแทน ชื่อว่า “วัฒนธรรม” ของประชาธิปัตย์ที่คงไว้ในรูปเดิม ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มคนหน้าเดิม ที่จะเข้ามาทำงานแทน
ข่าวที่น่าสนใจ
หึ่ง ส.ส.ปชป. ล่ารายชื่อ บีบ กก.บห.พรรคลาออก แจงเบื่อเป็นลูกไล่ พปชร.
“สิระ” ยันเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดี “กร่าง” ไม่จริง