ทางออก “พลังประชารัฐ” สลับขั้ว “อุตตม-บิ๊กป้อม” พยุงเรือพล.อ.ประยุทธ์

ทางออก “พลังประชารัฐ” สลับขั้ว “อุตตม-บิ๊กป้อม” พยุงเรือพล.อ.ประยุทธ์


โดย..กองบรรณาธิการ ThaiQuote

จับกระแสจากคำพูด ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำสามมิตร พรรคพลังประชารัฐ วานนี้ (4 มิ.ย.63) ที่แจ้งหมายเรียกนักข่าวมานั่ง “กินก๋วยเตี๋ยว คุยการเมือง” ณ ร้านกินเส้น ย่านสนมาบินน้ำ ที่ว่า “วันจัดการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะต้องไม่เกิน วันที่ 15 ก.ค.63 หรือภายใน 45 วัน นับจากวันที่ 1 มิ.ย.ที่กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมสิ้นสภาพนั้น

“สมศักดิ์” ยังกล่าวถึงประเด็นว่า “ไม่ว่าคนเก่า หรือคนใหม่ ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการเลือกของสมาชิกพรรคทั่วประเทศ พร้อมทั้งให้ ส.ส.ใช้เวลา 45 วันนี้ ลงพื้นที่เช็กข้อมูลอัปเดตของประชาชนว่าเขาต้องการอย่างไร”

เป็นคำพูดในเชิง ไม่ได้บีบให้มั่น คั้นให้ตาย กันขนาดนั้น แม้ใจนึงจะเชียร์บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และต้องเลือกเส้นทางของการขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยชอบธรรม ใจนึงก็ต้องคิดถึงเสียงประชาชน เพราะรู้ทั้งรู้อยู่ว่าชื่อเสียงของบิ๊กป้อม ก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนักในสังคม

ส่วนอุตตม สาวนายน รมว.คลัง รักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเอง แม้จะไม่ถนัดในเชิงการบริหารงานดูแล ส.ส.ในพรรค แต่ในทางการทำงานบริหารโครงการต่างๆ ก็ยังถือเป็นมือดีที่สุดภายใต้ปีกของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คนเคยทำงานร่วมกันอย่าง “สมศักดิ์” จึงต้องเลือกทางออกที่ดูจะสมูทที่สุด
มันจึงอาจเป็นไปได้ว่า ภายใต้เวลา 45 วัน ถึงขณะนี้ก็เหลือเพียง 40 วันเศษ การเจรจาระหว่างกลุ่มขั้วต่างๆในพรรค เพื่อจัดสรรปันส่วนจึงเป็นไปอย่างเมามัน

โดยกลุ่ม 4 กุมาร เองต้องทำใจว่า ต่อจากนี้จำเป็นที่จะต้องสละตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในพรรค และรัฐบาลเพื่อแลกกับการที่ยังคงไว้ในฐานะรัฐมนตรีเพียง 1 -2 ตำแหน่ง แม้เป็นหนทางที่ริบหรี่แต่ก็ต้องตั้งโต๊ะเจรจากันเสียก่อน

ด้าน วิเชียร ชวลิต รักษาการนายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวกับเราถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า “ขณะนี้ยังไม่การกำหนดวันที่แน่นอนในการจัดประชุม โดยในที่ประชุมจะมีการเลือกทีละตำแหน่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับวาระในที่ประชุม ที่จะมีการพิจารณา อาจมีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ขึ้นมาก่อน โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนในที่ประชุมจะเป็นสมาชิก หรือ ส.ส.ก็ได้เป็นผู้เสนอชื่อ และขอมติรับรองชื่อดังกล่าว พร้อมลงคะแนนเสียงเลือก ต่อจากนั้นจึงเลือกกรรมการบริหารที่ต้องลงคะแนนเลือกทีละคน”

จึงพลันให้เกิดแนวคิดว่า ระหว่าง “บิ๊กป้อม” และ “อุตตม” นั้น อาจมีการสลับตำแหน่งกันก็เป็นได้ หากมีการยอมหลีกทางเพื่อให้ “บิ๊กป้อม” ขึ้นหัวหน้าพรรค ส่วน “อุตตม” นั่งในตำแหน่ง ประธานยุทธศาสตร์พรรค ทำหน้าที่วางนโยบายซึ่งเป็นงานถนัด

ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี “บิ๊กป้อม” ยังคงเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และ “อุตตม” ยังคงนั่งคุม กระทรวงการคลัง ที่เดิม และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน อาจโยกสลับไปต้องไปนั่งคุมกระทรวงอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงพลังงาน ซึ่งอาจคงไม่พ้น กระทรวงอุตสาหกรรม กับงานที่อยู่ในทางถนัด คือ การปลุกปั้น SMEs นี่คือแนวทางที่ดูจะอะลุ้มอล่วยที่สุด ป้องกันพรรคแตก และส่งผลกระทบให้รัฐบาลร่อแร่

แน่นอนว่ามันอาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือก หากวัดตามผลงาน พร้อมทั้งคำนึงถึงความไม่เสียหายด้านการบริหารตามทิศทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ วางไว้ ทีมเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแต่ขยับให้กระชับขึ้น

ไล่เปิดปฏิทิน เดือน มิ.ย. และ ก.ค. การเปิดประชุมพรรคใหญ่ อาจจะมีกำหนดให้ต้องอยู่ในเดือน ก.ค. ตามไทม์ไลน์ ที่สอดคล้องไปกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะคลายล็อกระยะ 4 ในต้นเดือน ก.ค. และส่วนใหญ่การจัดประชุมพรรคก็มักจะเป็นในวันหยุด โดยต้นเดือน ก.ค. วันที่ 5 ก.ค. เป็นวันอาสาฬหบูชา ติดต่อด้วยวันเข้าพรรษา

ดังนั้นวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค. น่าจะเป็นวันที่มีการจัดประชุมพรรค เพื่อให้ทันอยู่ในกำหนด 45 วัน ขณะเดียวกันวันดังกล่าวยังถือเป็นวันดี ถือฤกษ์ยาม “วันอธิบดี” วันที่จะเข้าปกครอง ควบคุมดูแลองค์กรหรือหมู่คณะต่างๆ ประกอบด้วย โชคดี มีอำนาจในทางเจริญ

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

มวยล้มต้มคนดู จับตาคลื่นระลอก 2 วัดกำลังภายในพลังประชารัฐ

“จ่าพิชิต” เบรก “Thaiflix” ชี้ คอนเทนต์ไทยจะเอาอะไรไปสู้ระดับโลก