“คนบินไทย” กับ “คนในรัฐบาล” ศึกภายในแต่เป้าหมายเดียว “อุ้มเจ้าจำปี”

“คนบินไทย” กับ “คนในรัฐบาล” ศึกภายในแต่เป้าหมายเดียว “อุ้มเจ้าจำปี”


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

 

น่าสนใจว่า เนื้อหาในประกาศของกระทรวงแรงงานที่เผยแพร่ล่าสุดต่อสาธารณะเมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะมีนัยยะบางส่วนแอบแฝงว่าเข้ากับสถานการณ์ “การฟื้นฟูการบินไทย” ที่พันเกี่ยวกับ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” บ้างหรือไม่

โดยเฉพาะประเด็นที่ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เจ้ากระทรวงแรงงาน ในฐานะรัฐมนตรีกำกับดูแลทุกข์สุข “แรงงาน-นายจ้าง” ทั้งประเทศ ลงนามคำสั่งล่าสุดในข้อที่ 3 และข้อที่ 4 ซึ่งระบุว่า

“ข้อ 3 ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

ข้อ 4 ในกรณีที่มีการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน อยู่ก่อนวันที่มีประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ”

สิ่งนี้หมายความง่ายๆ ว่าห้ามไม่ให้ลูกจ้าง ต้องหยุดงานเพื่อประท้วง และไม่ให้นายจ้าง ไปปิดงานลูกจ้างจนนำไปสู่ความวุ่นวาย

และหากวกกลับมาประเด็นที่อาจจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องวุ่นๆ ในการบินไทย เพราะต้องไม่ลืมว่าวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา หรือก่อนหน้าที่สังคมจะเห็นประกาศของกระทรวงแรงงานเพียงแค่ 1 วัน สัญญาณจากเหล่า “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” หรือกลุ่มลูกจ้างพนักงานของการบินไทยเอง ออกมาระบุว่าไม่เห็นด้วยหากภาครัฐ จะใช้วิธีการยุบการบินไทยออกจากรัฐวิสาหกิจ และปรับสัดส่วนแก้ไขปัญหาการขาดทุนด้วยการเลิกจ้างพนักงานของการบินไทย

แอคชั่นจากฝั่ง “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” จึงเป็นการโยนหินไปถามรัฐบาล ว่าหากจะเดินตามนี้ในแผนฟื้นฟูการบินไทยก่อนที่สายการบินแห่งชาตินี้จะเป็นแค่ตำนาน กลุ่มพนักงานจะไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน

นั่นเพราะมันกระทบกับเรื่องปากท้องของเหล่าพนักงานการบินไทย และความภาคภูมิใจในการทำงานกับสายการบินแห่งชาติ อันเป็นสมบัติของประเทศ หากพวกเขาอาจต้องยุติการทำงานกับการบินไทย

ส่วนแอคชั่นจากฝั่งรัฐบาลล่าสุด ก็คลอดแผนคร่าวๆ ให้เห็นกันบ้างแล้ว และมันย่อมทำให้เกิดความหวาดวิตก ว่าพนักงานการบินไทยจะเห็นด้วยกับแผนของรัฐบาลหรือไม่

แผนของรัฐบาลถูกเผยแพร่โดยแหล่งข่าว และสำนักข่าวมติชน ได้เผยแพร่เรื่องนี้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยใจความว่า รัฐบาลได้ส่งต่อให้กระทรวงการคลัง ไปช่วยการบินไทย ด้วยการค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นให้ในวงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาทเพื่อมาเคลื่อนสายการบินแห่งชาติไทยในขณะนี้ไว้ก่อน เพื่อพยุงให้รอดพ้นจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19

แต่…เงื่อนไขในประการนี้ หากจะให้คลังประกันกู้เงินให้การบินไทย หากเซย์เยส เจ้าจำปีจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐบาล คือ การบินไทยจะต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของคณะรัฐมนตรี หรือครม.

ซึ่งประเด็นนี้นี่เอง ที่ทำให้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย มีข้อกังวลตามมาทันที เพราะในเงื่อนไขนี้ การบินไทยจะต้องลดพนักงานออกไปอย่างน้อย 30% เป็นการลดต้นทุนเพื่อสู้กับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก รัฐบาลให้เหตุผลว่าพนักงานการบินไทยมีจำนวนมาก ทำให้รายได้ต้องมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ค่อนข้างสูง

แต่ความกังวลก็ใช่จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะหากการลดพนักงานการบินไทยเป็นความจำเป็นจริงๆ และการชดเชยสำหรับผู้ที่ต้องถูกปลดออกจากการทำงานก็ต้องเป็นเรื่องที่น่าพอใจ ซึ่งนายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย ก็ออกมาระบุพร้อมเชื่อว่าหากรัฐบาลเดินตามนี้ คนการบินไทยก็คงไม่มีปัญหา

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน 4-5 ย่อหน้าข้างบน เกิดเมื่อก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม อันเป็นวันที่มีแถลงการณ์ออกมาจากสหภาพการบินไทยว่า จะไม่ยอมหากรัฐเลือกยุบการบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสหากิจ เพราะการบินไทยคือสมบัติของชาติ และต้องเป็นความภูมิใจของชาติต่อไป

ท่าทีไม่ยอมจึงค่อนข้างชัดเจนที่ส่งต่อไปยังรัฐบาล เพราะคล้อยหลังวันเดียว กระทรวงแรงงานโดยหม่อมเต่า ก็ออกประกาศกระทรวงมาไมให้นายจ้างปิดงาน ลูกจ้างห้ามหยุดงานประท้วง

มันจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐบาลต้องการใช้มาตรการนี้เพื่อสกัดเอาไว้ก่อนหากคนการบินไทยจะออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากไม่พอใจในแผนฟื้นฟูการบินไทย

แต่ท้ายสุด เชื่อได้ว่า รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังแน่นอน เพราะหากปล่อยให้การบินไทยพังคามือ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อไฟล์ผลงานรัฐบาลต่อหน้าประชาชนแน่นอน เพียงแต่ไม่ต้องการเพิ่มปัญหาโดยมีเรื่องกับสหภาพ หรือกับคนการบินไทย จึงอาจวางเกม “บล็อก” กันเอาไว้ก่อน

อ้างอิง

(สำนักข่าวมติชน)

(สำนักข่าวไทยโควท thaiQuote)

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ