โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote
“Social Sanction” คำนิยามนี้มีความหมายถึง วิธีการหรือกระบวนการทางสังคม เพื่อสร้างการควบคุม และสร้างบทลงโทษทางสังคม โดยยึดถือจากหลักศีลธรรม หรือจารีตประเพณีอันดีงานของสังคม ซึ่งอาจไม่ได้สร้างน้ำหนักเพียงพอเท่ากับบทลงโทษทางกฎหมาย
ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ไล่มาตั้งแต่กระบวนการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วม 19 พรรค การทำงานของ กกต. คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ล้วนมีเครื่องหมายคำถามปรากฏขึ้นในสื่อโซเชียลมีเดีย เมื่อประชาชนซึ่งอยู่ในสังคมออนไลน์ส่วนหนึ่งแสดงความคิดเห็นขัดแย้งต่อการทำงานของรัฐบาล
แน่นอนการกระทำส่วนหนึ่ง มาจากกระบวนการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อชักจูงประชาชนให้ต้องเลือกข้าง ต้องยอมรับว่าข้อมูลที่ไหลผ่านโซเชียลมีเดียทุกวันนี้มันรวดเร็วมาก ข่าวจริง ข่าวปลอม ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธในการทำลายฝั่งตรงข้าม ได้อย่างรวดเร็ว ฉับพลัน และตรงเป้าหมาย
นี่คือสิ่งที่รัฐบาล คิด เข้าใจ แต่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ และปล่อยให้มีการโจมตีโดยไม่สามารถตอบโต้ได้อยู่เรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นจุดอ่อนด้านการประชาสัมพันธ์
ขณะที่ในวันนี้ อาวุธทางโซเชียลนี้ กำลังเล่นงานรัฐบาลอีกครั้ง ท่ามกลางสมรภูมิการต่อสู้ของประเทศไทยกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งที่รัฐบาลดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมกำลังสูญเปล่า เมื่อฝ่ายตรงข้ามกระหน่ำยุทธวิธีปลุกระดมโดยใช้ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิด “โซเชียลแซงชั่น” ของภาคประชาชนขึ้นเป็นหน้ากระดานในโลกออนไลน์
แล้วรัฐบาลจะแก้เกมอย่างไรในสมรภูมินี้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องการในวันนี้คือ “ศรัทธาและความเชื่อมั่น” เมื่อประชาชนขาดศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล คำพูดที่ว่า “ประชาชนต้องดูแลตัวเอง” และ “ภาษีของประชาชน” มันจึงยิ่งดังก้องขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่อาวุธของรัฐบาล อย่าง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ในกำกับของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดูจะแก้เกมไม่ขาด เพราะขนาดข้อมูลบางส่วนของกระทรวงร่วมรัฐบาลเอง ศูนย์ฯยังทำให้ข้อมูลเท็จ กลายเป็นข่าวจริงไปได้ ก่อนที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องออกมายืนยันเป็นข่าวปลอมด้วยตัวเอง มันยืนยันถึงการทำงานที่ไม่เคยได้ “บูรณาการ” ข้อมูลร่วมกันเลย ต่างคนต่างทำ ต่างคิด
ดังนั้นวันนี้ “โซเชียล แซงชั่น” ของประชาชน กำลังจะกลายเป็นการอภิปรายนอกสภาฯ ที่รัฐบาลกำลังจะแพ้คะแนนโหวตอย่างไม่ต้องสงสัย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ