‘จากภาพนี้เราจะรอด’ ทำไมอาจารย์หมอที่นั่งข้าง “บิ๊กตู่” จึงสำคัญต่อการสกัดโควิด-19

‘จากภาพนี้เราจะรอด’ ทำไมอาจารย์หมอที่นั่งข้าง “บิ๊กตู่” จึงสำคัญต่อการสกัดโควิด-19


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ทำไมรูปถ่ายเพียงรูปเดียวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ประชุมร่วมกับ “กลุ่มบุคคลหนึ่ง” จึงกลายเป็นความหวังของคนในชาติว่าพวกเขาจะ “รอด” จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

เที่ยงวันค่อนบ่ายของวันที่ 16 มีนาคม 2563 แมตท์แรกของการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ภาพออกมาสู่สาธารณะว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังนั่งคุยกับคณะบุคคลหนึ่งอยู่

และคณะบุคคลนี้เองที่ทำให้สังคมส่วนใหญ่ที่รู้จักบุคคลในภาพ เชื่อได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 สำหรับเมืองไทยน่าจะ “เอาอยู่” หากรัฐบาลเดินตามรอยคำแนะนำของกลุ่มบุคคลนี้

 

 

“จากภาพนี้ เรามีโอกาสรอด”

นั่นคือหนึ่งตัวอย่างของคำนิยามจากศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่เห็นภาพดังกล่าว ก่อนที่โลกออนไลน์จะเห็นพ้องกับความคาดหวังของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผู้นี้ด้วย

เพราะคณะบุคคลที่ร่วมวงประชุมกับผู้นำประเทศไทย พวกเขาคือกลุ่ม “หมอ” ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นระดับอาจารย์หมอของเมืองไทย ผู้สร้างหมอขึ้นมาในประเทศนับหมื่นชีวิตให้ทำงานต่อประเทศชาติ

ข้างกายนายกฯ ที่รับฟังคำแนะนำ จึงประกอบไปด้วย “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ” ถัดมาคือ “นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีศิริราช” และ “นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์”

ทั้งหมดถูกเรียกตัวด่วนเพื่อคุยกับนายกรัฐมนตรี ในการให้คำปรึกษาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

พวกเขาไม่ใช่แค่บรมครูของหมอทั้งประเทศ หากแต่ยังมีชื่อเสียงระดับโลกด้านวงการแพทย์อีกด้วย จากนั้นเราจึงเห็นมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลออกมา โดยเฉพาะกับการประกาศไม่ให้สงกรานต์ 13-15 เมษายนนี้ ซึ่งมันมีความหมายอย่างมากต่อการหยุดแพร่ระบาด เพราะมาตรการนี้จะช่วยให้เกิดการหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายคน อันเป็นอีกปัจจัยของการกระจายไวรัส

ก่อนหน้าภาพนี้จะออกมา นพ.ยง ที่เป็นหนึ่งในวงประชุมกับพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาให้ความเห็นถึงโควิด-19 ว่า

“เราจะหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายของประชากรได้อย่างไร ปีนี้ขอโยกย้ายปีใหม่ของไทย ในช่วงสงกรานต์ ให้ไม่เป็นวันหยุด แล้วเมื่อโรคสงบแล้ว ค่อยหยุดชดเชยให้ แทนช่วงที่มีการระบาดของโรค ถ้าเป็นเช่นนี้ทุกคนจะต้องยอมรับ สังคมเราก็น่าจะยอมรับได้ อีกประการหนึ่ง social distance การรวมกันของคนหมู่มาก ทุกคนจะต้องเข้าใจ ว่าจะเป็นแหล่งของการกระจายโรคอย่างรวดเร็ว (super spread) งานสังคมจำเป็นที่จะต้องงด การจัดประชุมวิชาการ ก็ต้องหาทางออกด้วย tele-conference สนามมวย การแข่งขันกีฬาต่างๆ โรงเรียนกวดวิชาก็จะต้องปิดการสอน เพื่อลดการระบาดของโรคให้ได้”

แน่นอนว่าแม้พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกสังคมถาโถมกระหน่ำถึงความชักช้า อืดอาดในการสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยว่าไวรัสโควิด-19 จะไม่คุกคามพวกเขามากจนเกินไป แต่การที่ภาพนี้ปรากฏออกมาว่าพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยัง “ฟัง” คำแนะนำของบรมครูหมอของเมืองไทย ก็น่าจะพอทำให้ความสบายใจเกิดขึ้นในความรู้สึกของคนไทยได้บ้าง

แน่นอนว่าในฐานะคนไทยด้วยกัน ก็ต้องปฏิบัติตามเช่นกัน เพราะเชื่อได้ว่าทุกมาตรการที่เสนอออกมาเพื่อควบคุมไวรัสจากรัฐบาล มันต้องถูกคัดกรองจากคนมีความรู้มีความสามารถมาแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก
Santisuk Marongsri

ศศิน เฉลิมลาภ

วิกิพีเดีย

 

ข่าวที่น่าสนใจ