หยุดสงคราม 18 ปี ‘สหรัฐฯ-ตาลีบัน’ กับความสำคัญของเก้าอี้ประธานาธิบดีที่รองก้น “ทรัมป์”

หยุดสงคราม 18 ปี ‘สหรัฐฯ-ตาลีบัน’ กับความสำคัญของเก้าอี้ประธานาธิบดีที่รองก้น “ทรัมป์”


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

“หลังจากที่เราคงอยู่ในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน มันสมควรที่จะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพา ‘คนของเรา’ กลับบ้าน”

อาจจะเป็นอีกหนึ่งวลีทองคำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในยุคสมัยที่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในฐานะประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และอาจจะเป็นอีกหนึ่งผลงานที่โลกจะต้องจดจำเขาในอีกภาพหนึ่ง

คำพูดดังกล่าวของทรัมป์ เกิดขึ้นหลังจากที่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซัลเมย์ คาลิลซาด ทูตพิเศษของสหรัฐฯ จับมือกันกับ มุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ หัวหน้าฝ่ายการเมืองของกลุ่มก่อการร้ายตาลีบัน ภาพที่แพร่ออกทั้งโลกเกิดขึ้นภายใต้การลงนาม “ร่วมกัน” เพื่อให้ทั้งคู่ขัดแย้งที่อยู่ในภาวะสงครามมาตลอด 18 ปี จะก่อกระทำการสันติภาพร่วมกัน และยุติเหตุรุนแรงทั้งหมดให้ได้โดยเร็วที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้น

เงื่อนไขที่ว่าไม่มีอะไรมากเกินกว่าที่กลุ่มตาลีบันจะหยุดความขัดแย้งและยึดมั่นภายใต้ข้อตกลง แลกกับการที่สหรัฐฯ พร้อมด้วยชาติพันธมิตรที่อยู่ในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ จะถอนทหารออกไปจากอัฟกานิสถาน พื้นที่สงครามที่ยาวนานมาถึง 18 ปีทั้งหมดภายในระยะเวลา 14 เดือน

พร้อมกับการที่กลุ่มตาลีบันยืนยันว่า จะไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใดๆ ก็ตาม มาใช้พื้นที่แห่งนี้เพื่อปฏิบัติการใดๆ อีกต่อไป ตราบใดที่พวกเขายัง “คุมอยู่”

และระหว่างนี้จะเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศด้วยการเมืองและสันติภาพระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและหยุดการนองเลือดและล้มตายของทหารสหรัฐฯ ทหารนาโต้ รวมไปถึงทหารของกลุ่มก่อการร้ายตาลีบันที่ต้องสังเวยจากสงครามไปหลายหมื่นหลายพันคน

ประเด็นสำคัญของโลกครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่พอจะทำให้สดใสมากขึ้น หลังมีความพยายามเดินหน้าเพื่อหยุดสงครามครั้งนี้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่การเอาอาวุธ กำลังคน เทคโนโลยี เข้าไปห้ำหั่นกันให้ตายกันไปข้าง

แต่ผลนัยยะทางการเมืองของสหรัฐฯ แล้ว ไม่อาจปฏิเสธไปได้ว่านี่คือผลงานชิ้นโบแดงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันอย่างทรัมป์ ยิ่งกับภาวะที่เขาจะก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อลุ้นให้เก้าอี้ผู้นำของโลกตัวนี้ยังเป็นที่รองรับการทำงานของเขาเองเป็นสมัยที่สอง มันจึงมีผลอย่างทันทีต่อคะแนนความนิยมทั้งจากคนที่ชอบ และไม่ชอบตัวเขาเองก็ตาม

เพราะวลีหลังภาพการจับมือครั้งประวัติศาสตร์ที่ออกจากปากผู้นำสหรัฐฯ จึงเป็นถ้อยคำสื่อต่างประเทศเรียกได้ว่าสวยหรูอย่างมาก โดยเฉพาะการแสดงออกให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตลูกหลานพญาอินทรี ที่ต้องไปทำการรบยังดินแดนตะวันออกกลาง

ด้วยคำว่าที่ว่า “พาพวกเขากลับบ้าน” ซึ่งมันย่อมกินใจและชนะใจของทั้งผู้เป็นทหารสหรัฐฯ ครอบครัวของพวกเขา ที่น้อยที่สุดก็จะได้เห็นสมาชิกในครอบครัวอยู่กับบ้านอย่างพร้อมหน้ากัน ขณะเดียวกันก็เตรียมปูทางอันสวยหรูที่เตรียมสู่การหย่อนบัตรเลือกประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนศกนี้

ผลพวงแห่งสันติภาพ จึงอาจมองได้ว่าเป็นผลดีเหมือนกันกับการครองอำนาจของทรัมป์ต่อไปอีก 1 สมัยหรืออีก 4 ปี แต่ทั้งนี้ การจะไปสู่จุดนั้นได้ เชื่อว่าทรัมป์เองก็ต้องพยายามอย่างสุดขีด เพื่อให้ข้อตกลงนี้เดินหน้าอย่างที่ต้องการเช่นกัน

Infact ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงสันติภาพ “สหรัฐฯ-ตาลีบัน” ความสำคัญคืออะไร

– สหรัฐฯ บุกเข้าอัฟกานิสถาน ที่ตั้งของกลุ่มตาลีบันที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีนครนิวยอร์กในปี 2544 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสงคราม 18 ปี

– สหรัฐฯ สูญเสียชีวิตทหารราว 2,400 นาย และยังมีทหารอีกกว่า 13,000 นาย ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถาน

– ใน 135 วันแรกของการลงนามในข้อตกลง สหรัฐฯ จะถอนกำลังให้เหลือ 8,600 นาย ส่วนกองกำลังนาโต้จะลดกำลังลงเช่นกัน

– เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างกันภายใต้เงื่อนไขนี้

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ