การเมืองจะกลับมาบนท้องถนนหรือไม่?

การเมืองจะกลับมาบนท้องถนนหรือไม่?


จากความไม่พอใจของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงกลุ่มใหญ่ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไป จึงนำมาซึ่งการแสดงออกด้วยการจัดตั้งแฟลซม็อบในสถาบันการศึกษาต่างๆ สิ่งที่น่าวิเคราะห์ต่อไปว่าแล้วจะลงถนนหรือเปล่า

นายไพศาล มังกรไชยา ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้ ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก Thaiquote เรื่อง“การเมืองจะกลับมาบนท้องถนนหรือไม่?” โดยได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์แฟลซม็อบของเหล่านิสิตนักศึกษาที่ทวีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ โดยประเมินว่าแฟลซม็อบดังกล่าวจะพัฒนาไปสู่ม็อบบนท้องถนนหรือไม่ เชิญฟังคลิปวิเคราะห์จากคุณไพศาล

(สามารถติดตามการไลฟ์สด มุมมองประเด็นดังของ คุณไพศาล มังกรไชยา ได้เป็นประจำที่ Thaiquote)

การเมืองในสภาได้ผ่านพ้นไปแล้ว ได้รับการไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป แต่เรื่องที่น่าจะคุยยิ่งกว่าคือแนวร่วมฝ่ายค้านแตกกันเละ โดยเฉพาะอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทยมีการกล่าวหากันว่า เป็นการอภิปรายแหกตาประชาชน เป็นปาหี่ ตั้งใจจะไม่อภิปรายบางท่าน จึงมีการดึงเกมกันมาจนทำให้คนของอดีตพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้อภิปรายถึง 4 ท่าน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะอภิปรายอีก 2 รัฐมนตรีคือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปเคลียร์กัน น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่บานไปมากกว่าการลงมติไม่ไว้วางใจ

แต่ว่าวันนี้จะคุยกันเรื่องแฟลชม็อบที่เกิดขึ้นตามสถาบันการศึกษากระจายไปหลายแห่ง เรื่องนี้มองแล้วมีอยู่ 3 ประเด็น

• ประการแรกมองว่าเด็กเหมือนผ้าขาว การที่ขึ้นแฟลซม็อบเพราะมีผู้ใหญ่มาปลุกปั่นยุยง

• ประเด็นที่สองขณะนี้เขาเคลื่อนไหวอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แล้วมีการติดแฮทแท็กซ์ หวือหวา และสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายข้อสำคัญ แล้วจะถึงขั้นรวมพลังพัฒนาไปสู่ท้องถนนมั้ย ทำให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่การเมืองท้องถนนอีกหรือไม่

• ประการที่สามการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบแฟลซม็อบจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่ เพราะบางคนมีไปเชื่อมโยงกับสมัยเดือนตุลาคม 2516

สำหรับเรื่องแรก เริ่มต้นจากเด็กเป็นผ้าขาวการเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องมีผู้ใหญ่ยุยง จะมีคนอยู่ 2 กลุ่มที่คิดในแนวนี้ ประเภทแรกเป็นการพูดแบบนักการเมือง เป็นการด่าเด็กแต่กระทบชิ่งไปหาผู้ใหญ่ ในความหมายนี้คือเด็กโง่ ไม่มีสติปัญญา ปั่นหัวต่อไป ซึ่งในกลุ่มการเมืองก็รู้กันอยู่ว่าเป้าดังกล่าวเป็นใคร มีตัวตนเป้าหมายกันอยู่

อีกอันหนึ่งคือไม่รู้เรื่องอะไรเลยอยากออกมาแสดงความเห็น ซึ่งความเห็นไม่ว่าจะแสดงออกจากนักการเมือง วิจารณ์แบบตีวัวกระทบคราด หรือเป็นเพราะว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ก็ตาม การพูดแบบนี้เหมือนเข้าไปเติมเชื้อเพลิงให้นิสิตนักศึกษา ไม่มีประโยชน์ เราต้องทำความเข้าใจว่าพรรคอนาคตใหม่เขาได้คะแนนมาประมาณ 6 ล้านเสียง และน้องๆ ที่ไปจัดแฟลซม็อบส่วนใหญ่คือฐานคะแนนเสียงของเขา

เขาคือหุ้นส่วน เขาคือกลุ่มก้อนเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่คือพรรคที่เขาเลือก ฉันใดฉันนั้น กลุ่มเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวก็คือฐานเสียง 15 ล้านเสียงของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เขาก็ไม่พอใจมารัฐประหารหรือโค่นล้มรัฐบาลที่เขาเลือก ฉะนั้นทฤษฎีเรื่องการปลุกปั่นพูดทางการเมืองได้เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคือของใครก็ของเขา มันเป็นเรื่องศรัทธาในอุดมการณ์ที่เขาเลือก ไม่ใช่เรื่องถูกผิด

ทุกคนมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ มีคนจำนวนมากก็ไม่เอาทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่มีใครไปจ้างไปซื้อ เขาไม่ชอบก็ออกมาเป็นม็อบต่างๆ อันนี้ก็เหมือนกัน พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองของเขา เมื่อพรรคอนาคตใหม่มีอันเป็นไป เขาก็ออกมาแสดงปฏิกิริยาของเขา

ตอนนี้ไม่มีพรรคอนาคตใหม่ ในอนาคตมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีอุดมการณ์ที่คนหนุ่มคนสาวเขาพึงพอใจ เขาก็ไปเลือกและเป็นฐานคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองนั้น ถ้าเมืองไทยยังรักษาเรื่องการเลือกตั้ง เขาก็จะมีพรรคการเมืองของเขา และเขาก็จะเลือกของเขา หากใครมาทำลายเขาก็ต้องมีปฏิกิริยา

 

 

ประการที่สองจะนำไปสู่การเมืองท้องถนนหรือไม่ มีหลายคนนำเหตุการณ์แฟลซม็อบในครั้งนี้มีความใกล้เคียงกับเหตุการณ์ก่อนเกิด 14 ตุลา ช่วงนั้นนักศึกษาเริ่มตื่นตัว และมีประเด็นความเคลื่อนไหว มีการรวมตัวแสดงพลังกันจากกลุ่มก้อนเล็ก ๆ เฉพาะบางมหาวิทยาลัย ขยายไปสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นประเด็นที่ถูกทับถมมาจากระบอบการปกครองของสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เนื่องจากอยู่ในอำนาจมาเป็นเวลานานก็มีความผิดพลาดหลายประเด็นในการบริหารประเทศ จึงได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาเคลื่อนไหวกัน มีเรื่องข้อกฎหมาย กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร จึงเกิดการรวมตัวแบบซ้อมๆ กันก่อน มีการจัดตั้งมากขึ้น มีแกนนำ มีการประสานกันระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยเกิดขึ้น เป็นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา แล้วก็มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้วฝ่ายรัฐบาลไปจับกลุ่มผู้เรียกร้องที่ไปแจกใบปลิว ส่งผลให้เกิดพลังของการชุมนุมใหญ่ จากการวิเคราะห์มันมีความคล้ายกันอยู่

แต่มีปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันซึ่งจะต้องพิจารณาไปด้วย เพราะ 16 ตุลาไม่ได้เกิดขึ้นจากการตื่นตัวและการจัดตั้งของศูนย์กลางนักศึกษาเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นๆ มาประกอบกัน เรื่องแรกเลยช่วงนั้นทุกคนเบื่อหน่ายเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเจอภาวะราคาน้ำมัน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำมัน น้ำมันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ เมื่อราคาขึ้น หายาก ดึงให้ข้าวยากหมากแพง

ประการต่อมาการอยู่ในอำนาจของถนอม ประภาส สฤษดิ์ ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในโครงสร้างของกองทัพ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มีเหตุการณ์ที่ถนอม ประภาส สฤษดิ์ไม่สามารถยึดกุมอำนาจกองทัพบกต่อไป ตำแหน่งของผบ.ทบ.ไม่อยู่ในสายของคนในตระกูล แรงบีบในกองทัพบีบจอมพลประภาสออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. อำนาจภายในกองทัพปั่นป่วนและส่งผลให้ขุมอำนาจถนอม ประภาสสั่นคลอน เพราะคนที่กุมอำนาจกองทัพบกไปอยู่ในมือที่ไม่สามารถสั่งการได้

ตอนนั้นกลุ่มทุนในประเทศไม่แข็งแรงส่วนใหญ่เป็นทุนจากต่างชาติ รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนรัฐบาลสหรัฐเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เพราะสหรัฐเริ่มถอย มีความชัดเจนว่าภูมิภาคนี้พรรคคอมมิวนิสต์กุมชัยชนะ บรรดากลุ่มทุนที่ยังต้องทำมาหากินในอาณาเขตแถบนี้ต้องมีการปรับตัว

จึงคิดว่าต้องนำไปสู่การเลือกตั้งประชาธิปไตย เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเหล่านี้ไว้ มีการประสานอีกหลายฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลของสฤษดิ์ ถนอม ประภาส เมื่อร่วมกับพลังนักศึกษาจึงดันพลังของนักศึกษาไปข้างหน้า โดยมีพลังของกลุ่มทุนหนุน และภายในกองทัพที่ไม่เอาสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ช่วยประคับประคอง

ยิ่งเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา 16 ที่เกิดการปะทะและนองเลือดขนานใหญ่ยังเป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นที่สรุปว่าลำพังพลังนิสิตนักศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ในขณะนี้ว่าใครบ้างที่จะไม่เอารัฐบาลภายในโครงสร้างของชนชั้นนำหรือกองทัพ จากปรากฏการณ์นี้คาดว่ายังไงการเมืองบนท้องถนนก็ต้องเกิดขึ้น แต่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ จะไปมองเฉพาะพลังของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพียงอย่างเดียวไม่ได้

ต้องดูว่ามีโครงสร้างอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่เขาได้มีการประสานร่วมไม้ร่วมมือกันมาก่อน ในระยะแรกนี้เชื่อว่าแฟลซม็อบของนิสิตนักศึกษาต้องมีการยกระดับ แต่คงไม่ถึงการปักหลักค้างคืนยาวนาน แต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ขึ้นอยู่ปัจจัยต่างๆ เข้ามาประกอบ ในเบื้องต้นนี้คือการแสดงความไม่พอใจในการยุบพรรคอนาคตใหม่

แต่ปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ก้าวต่อไป เพราะจะอาศัยเพียงปัจจัยนี้เพียงปัจจัยเดียวไม่ได้ คงต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกื้อหนุน ความผิดพลาดของฝ่ายรัฐบาล ถ้ามันเกิดก็จะเป็นเชื้อที่นำไปสู่การขยายต่อเนื่องไป ฝ่ายที่คุมอำนาจเองต้องพยายามที่จะลดเงื่อนไขอื่นๆ สังเกตดูก็ไม่ง่าย เพราะเรื่องบางเรื่องไม่น่าที่จะสร้างเงื่อนไขก็ไปสร้าง

แต่ถ้าหากมองในขณะนี้ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม ยกเว้นยุบพรรคอนาคตใหม่ การเคลื่อนไหวต่างๆ ก็จะอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

 

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ