ยุบ-ไม่ยุบ “อนาคตใหม่” 3 ผลลัพธ์ชี้ชะตาลู่วิ่งการเมือง

ยุบ-ไม่ยุบ “อนาคตใหม่” 3 ผลลัพธ์ชี้ชะตาลู่วิ่งการเมือง


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ไม่พ้นวันนี้ การเมืองไทยจะได้รับรู้กันว่า “พรรคอนาคตใหม่” จะคงอยู่ในสารบบพรรคการเมืองคู่ไปกับความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ต่อไปหรือไม่

เพราะเวลา 15.00 น. บ่ายอ่อนค่อนแก่ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมและร่วมลงมติในคำร้องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยื่นให้วินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากประเด็นไปกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ในวงเงิน 191.2 ล้านบาท

การวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่กกต.ยื่นเรื่องเข้ามา เพราะอิงตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วิเคราะห์กันปนคาดการณ์ว่า ผลการวินิจฉัยที่จะออกมามีอยู่ 3 หน้าด้วยกัน ซึ่งจะมีทั้ง “พรรครอด ไม่ถูกยุบพรรค คนก็รอด” – “พรรครอด แต่คณะกรรมการบริหารพรรคถูกคดีอาญา” และ “พรรคไม่รอด คนก็ไม่รอด”

หากไล่เรียงทีละผลลัพธ์ของความเป็นไปได้ จะมีเหตุผลใดบ้างที่น่าจะเป็นองค์ประกอบบ้าง ก็พออาจทำให้คอการเมืองเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“พรรครอด ไม่ถูกยุบพรรค คนก็รอด” – หากเป็นไปตามนี้ จะหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจยกคำร้องจากกกต.ในเรื่องเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอาจมองได้ในประเด็นย่อยอีก 2 ข้อ คือข้อแรก กระบวนการของกกต.ที่ยื่นคำร้องเข้ามาอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจาก พ.ร.ป.กกต.มาตรา 41 กำกับเอาไว้ว่า

“ถ้าผลการสืบสวนหรือไต่สวนปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่อง” ซึ่งจากประเด็นนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนเรื่องนี้ เห็นควรยกคำร้องไปแล้วด้วย แต่กกต.ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา

 

 

ในข้อที่สอง อาจตรงกับที่พรรคอนาคตใหม่เคยยื่นคำแก้ข้อกล่าวหา ระบุว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจมีอำนาจยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคได้ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้อาจจะมีปัญหาตามมา เพราะจะกระทบกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติไปก่อนหน้านี้ด้วย

“พรรครอด แต่คณะกรรมการบริหารพรรคถูกคดีอาญา” – กรณีเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 191.2 ล้านบาท เป็นความผิดตามมาตรา 66 ที่ระบุว่าบุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน ให้แก่พรรคการเมืองมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีไม่ได้ ขณะเดียวกัน หากเป็นนิติบุคคลจะบริจาคเงินให้พรรคการเมืองปีละ 5 ล้านบาทขึ้นไป ก็ต้องแจ้งต่อที่ประชุม

ขณะเดียวกัน หากพรรคการเมืองใดรับบริจาคเงินเกินกว่าที่มาตรา 66 กำหนดเอาไว้ หรือเกินกว่า 1 0 ล้านบาทจากบุคคล ก็ต้องระวางโทษปรับสูงสุดที่ 1 ล้านบาท และกรณีหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองยาว 5 ปี และเงินที่เคยบริจาคทั้งหมดจะถูกให้นำเข้าสู่กองทุนพัฒนาการเมือง แต่หากออกมาในหน้านี้ พรรคจะยังคงอยู่ แต่ตัวกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากสารบบทางการเมือง

“พรรคไม่รอด คนก็ไม่รอด” – ออกหน้านี้คือสิ้นสภาพของพรรคอนาคตใหม่ในทันที เพราะตามความเห็นในคำร้องของ กกต.ที่ระบุว่าประเด็นการกู้เงิน 191.2 ล้านบาทของพรรคอนาคตใหม่ เข้าข่ายผิดพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72 ที่ระบุ ” ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งใน พรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งตามความผิดนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีคำวินิจฉัยระบุว่าพรรคการเมืองกระทำผิดได้เช่นกัน

ขณะที่ตัวของกรรมการบริหารพรรค รวมถึงตัวหัวหน้าพรรค ก็จะมีความผิดตามไปด้วย แต่จะแตกต่างจากผลในมาตรา 66 เพราะการกระทำผิดนี้จะอยู่ในมาตรา 72 ที่มีโทษหนักกว่า โดยอาจถึงจำคุกกรรมการบริหารพรรคสูงสุดที่ 3 ปี และปรับเงินอีกด้วย

แต่ผลที่แท้จริงจะออกมารูปแบบไหน อีกไม่นานจะได้รู้กัน

 

ข่าวที่น่าสนใจ