กองบรรณาธิการ ThaiQuote
หากมองในแง่มุมทางการเมือง ถือว่าการลาออกของ “กรณ์ จาติกวนิช” จากการร่วมหัวจมท้ายกับประชาธิปัตย์มาอย่างช้านาน มันมีแรงสั่นสะเทือนพอสมควรกับพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของแวดวงการเมืองไทย
เพราะคนระดับมันสมองในงานเศรษฐกิจที่ช่ำชอง เชี่ยวชาญ และมีแนวคิดไอเดียไม่เป็นรองใครของ “กรณ์” การจากลาจากประชาธิปัตย์ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าได้ตามมา
อีกนัยหนึ่ง ตลอดระยะเวลา 15 ปี ของกรณ์ในสีเสื้อของประชาธิปัตย์ ก็ช่วยผลักดันเขาให้ก้าวขึ้นมาสู่ทำเนียบนักการเมืองชื่อดังของเมืองไทยได้อย่างตระหง่าน บวกกับฝีไม้ลายมือในการทำงาน และแรงหนุนจากบิ๊กเนมของพรรค โดยเฉพาะในยุคที่เมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กราฟชีวิตการทำงานการเมืองของกรณ์ ก็พุ่งทะยานขึ้นสู่จุดที่เรียกได้ว่าสูงสุดสำหรับตัวเขาเอง เพราะเป็นถึง “ขุนคลัง” หรือรมว.การคลังที่ควบคุมบริหารงานเศรษฐกิจของชาติให้ก้าวเดิน
จากนั้น ชื่อของกรณ์ก็ใช่ว่าจะหายไปจากสังคมการเมือง แม้จะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาถึง 3 ยุคในปัจจุบัน ไล่มาตั้งแต่รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในคราบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาจนถึงปัจจุบันที่พล.อ.ประยุทธ์ก็ครองอำนาจอีกครั้งผ่านการเลือกตั้งล่าสุด
แทบทุกครั้งจะปรากฏชื่อของกรณ์ ให้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งที่สูงกว่ารมว.คลังที่เคยทำงาน กระทั่งล่าสุดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอถอยห่างจากพรรคประชาธิปัตย์ไปเพราะพาลูกทีมพ่ายศึกเลือกตั้งอย่างราบคาบ ก็ยังมีเสียงเรียกร้องจากแฟนคลับพรรคดังให้ “กรณ์” นำพาเรือประชาธิปัตย์ให้ก้าวต่อไป ซึ่งเจ้าตัวก็ลงชิงชัยเป็นหัวหน้าพรรคเช่นกัน แต่ท้ายสุดก็พ่ายให้กับ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” คนที่กลายมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ในปัจจุบัน
ขึ้นสูงสุด ก็ต้องมีต่ำสุด หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งไปยังไม่พ้นขวบปี ชื่อของ “กรณ์” เริ่มจะถูก “เก็บเงียบ” จากประชาธิปัตย์ในยุคใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ และฟางเส้นสุดท้ายที่น่าจะคุกรุ่นอยู่ในใจ “กรณ์” ก็น่าจะเป็นการที่บอร์ดของพรรคประชาธิปัตย์ นำเอา “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” มานั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์แทนตัวเขา ที่ถูกหมายมั่นว่าอย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะมีบทบาทอยู่บ้างในการทำประโยชน์ให้กับพรรคผ่านประสบการณ์ในงานเศรษฐกิจที่ตัวเองถนัด และหลายคนก็ยอมรับกัน
เหตุผลนั่นน่าจะฝังใจ “กรณ์” เอาไว้อยู่พอสมควร กระทั่งล่าสุดที่การงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านสภาไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่ตัวเขาจะประกาศปิดฉาก 15 ปีกับประชาธิปัตย์ พร้อมกับเหตุผลที่ว่า ทำงานให้สำเร็จลุล่วงกับพรรคไปทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อย
ท่ามกลางน้ำตา และความเสียดายของเหล่าส.ส. อดีตส.ส. ของประชาธิปัตย์
สิ่งที่น่าสนใจคือ “อนาคต” ของกรณ์นับจากนี้ไปต่างหาก เขาจะหันหัวเรืองานการเมืองของชีวิตตัวเองไปในทิศทางใด มันเป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อย เพราะแน่นอนได้อย่างเต็มร้อยว่า “กรณ์” คงไม่หยุดการทำงานทางการเมืองของตัวเองเอาไว้แค่เพียงเท่านี้แน่ อย่างที่เขาประกาศเอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ายังมีความฝันที่อยากจะทำงานการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่า มันจะนำเข้าไปสู่ทิศทางใดกัน หรือหากเขาจะไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ก็เชื่อได้ว่าแต่ละพรรคไม่ว่าคู่แข่ง ศัตรู มิตรทางการเมือง ก็ต้องพร้อมพิจารณาชายผู้นี้เข้าสู่ชายคาอย่างแน่นอน หรือการจะผันตัวไปร่วมงานกับรัฐบาลเองก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินคำว่า “ยาก” อยู่เช่นกัน
แต่มือระดับ “อ๋อง” ในงานเศรษฐกิจของประเทศ จะไปลงในที่ไหน หรือจะไปแซะใครหรือไม่ในตำแหน่งใด อีกไม่นานก็คงได้รู้กัน
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ