ใครจะได้หรือเสียเมื่อยุบอนาคตใหม่

ใครจะได้หรือเสียเมื่อยุบอนาคตใหม่


ล่าสุด กกต.ได้มีมติ 5:2 ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ฐานความผิดกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค “อนาคตใหม่” จะมีผลกระทบกับใครอย่างไร

นายไพศาล มังกรไชยา ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้ ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก Thaiquote เรื่อง“ใครจะได้หรือเสียเมื่อยุบอนาคตใหม่” โดยมาวิเคราะห์ในแง่มุมทั้งเชิงบวก เชิงลบทั้งฟากฝั่งรัฐบาล ฝั่งฝ่ายค้านและพรรคอนาคตใหม่ที่จะเกิดขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ เชิญฟังคลิปวิเคราะห์จากคุณไพศาล(สามารถติดตามการไลฟ์สด มุมมองประเด็นดังของ คุณไพศาล มังกรไชยา ได้เป็นประจำที่ Thaiquote

วันนี้มาจั่วหัวที่จะคุยเรื่อง “ใครจะได้หรือเสียเมื่อยุบอนาคตใหม่”เมื่อมติกกต. 5: 2 ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ จากรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินหัวหน้าพรรคคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วันนี้จะมาวิเคราะห์คือสถานการณ์หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายุบพรรคอนาคตใหม่ หลังจากอนาคตใหม่ถูกยุบมีทั้งได้ทั้งเสียด้วยกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ต่อสู้ทางการเมืองในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ฝ่ายรัฐบาลจะได้ประโยชน์เสียงในสภาจะเข้มแข็งขึ้นมา เพราะกรรมการบริหารพรรคของอนาคตใหม่ที่เป็นส.ส.อยู่ด้วยอีก 11 คนที่ไม่รวมคุณธนาธรก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง พ้นจากตำแหน่งส.ส. จู่ๆ เสียงรัฐบาลก็ขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ ประการต่อมา ส.ส.ที่เหลืออยู่ภายใน 30 วันต้องไปหาพรรคการเมืองสังกัด เราก็ยังไม่รู้ว่าทางพรรคอนาคตใหม่จะให้สมาชิกที่เหลือไปสังกัดพรรคไหน คาดว่าเขาคงจะรวบรวมไว้มากสุด แต่คงจะไม่ครบ ส่วนหนึ่งจะแยกออกไปเข้าสังกัดกับพรรคฝ่ายรัฐบาล จะ 5 หรือ 10 เสียงก็ต้องประเมินกัน แต่เชื่อว่าจะต้องมี เท่ากับเป็นการเติมเสียงให้ฝั่งรัฐบาล

ดังนั้นการยุบพรรคอนาคตใหม่ รัฐบาลที่อยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำจะปิดฉากปัญหานี้ไปได้โดยที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวอะไรเลย ถามว่ามีส่วนที่เสียหรือไม่ ตอบว่ามี เพราะการยุบพรรคอนาคตใหม่เท่ากับไปปิดเสียงคนเห็นต่างในสภา คนรุ่นใหม่ที่มีตัวแทนอยู่ในพรรคอนาคตใหม่ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในสภาอย่างโปร่งใสทำได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ยังเป็นไปไม่ได้ที่คนกลุ่มนี้จะยุติบทบาท การเมืองนอกสภาก็จะเข้มข้นขึ้น สถานการณ์การเมืองอาจย้อนกลับไปสมัยเสื้อเหลือง เสื้อแดงแต่อาจจะไม่ถึงการนำคนไปชุมนุมในท้องถนนเหมือนในอดีต จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ สรุปบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา เพราะการเคลื่อนไหวแบบเดิมไม่สามารถล้มรัฐบาลด้วยตัวมันเอง แต่เข้าสู่กระบวนการอื่นแทน ดูแล้วไม่เป็นผลดีต่อการชุมนุมของประชาชน ผู้นำติดคุก แต่จะเป็นรูปแบบอย่างไร มีความสลับซับซ้อนขึ้น โซเชียลไม่ต้องเป็นห่วง หนักแน่

ฝ่ายรัฐบาลต้องเจอความเคลื่อนไหวในโซเชียลหนักแน่ เพราะพื้นที่ในระบบเปิดในสภาถูกจำกัดลง และมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างแรงกดดันเพื่อไปรอการเลือกตั้งในรอบต่อไป นี่เป็นจุดเสียของฝั่งรัฐบาล ประกอบกับความเป็นนิติรัฐ มีผลทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสียเครดิต เพราะคนจะมองว่ากฎหมายมีไว้จัดการกับคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ การยุบพรรคเท่ากับเป็นการปิดพื้นที่รัฐสภาไปพอสมควร การเคลื่อนไหวต่อไปเป็นเรื่องที่ยากขึ้น การรวบรวมเสียงไปอยู่พรรคใหม่ก็ต้องรอดู แต่เชื่อว่า 40-50 เสียงน่าจะรักษาได้ แต่ก็มีความสูญเสียแน่นอน และกระทบไปถึงความเข้มแข็งของฝ่ายค้านด้วย เพราะจำนวนส.ส.น้อยลง การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีแต้มต่อที่น้อยลงไป โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะเป็นผู้ชนะในการลงมติเหมือนที่ผ่านมาก็จะมียากขึ้น ฝ่ายค้านเป็นเสียงข้างน้อยและทำงานในสภาได้อย่างจำกัด

แต่ในข้อดีคือจะทำให้การรวมตัวของฝ่ายค้านมีคุณภาพมากขึ้น เพราะปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและความคิดอ่านทางการเมืองระดับคุณภาพได้ จากนี้ไปการต่อสู้ต้องชัดเจน เด็ดเดี่ยว และเป็นเป้าหลอมที่สำคัญที่ทำให้เกิดความเข้มข้น

โดยสรุปไม่อยากมองไปในทางร้าย การเมืองไทยจะกลับไปเป็นแบบวัฏจักรที่เกิดขึ้น เพราะหากการต่อสู้ต้องถูกผลักดันไปสู่ใต้ดิน โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้สองฝ่ายต้องเผชิญหน้ากัน ไม่มีความไว้วางใจต่อกัน แต่ถ้าหากทุกอย่างใช้หลักนิติรัฐ เล่นกันตามกติกา ใช้กฎหมายที่ชัดเจน โอกาสที่จะพูดคุยกันก็จะมี เพราะแม้ว่าเห็นต่างกัน แต่ก็สามารถที่จะคุยกันได้ อย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าเกิดการบิดเบือนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน เกมการต่อสู้ก็จะเปลี่ยน ในภาพรวมคนที่เสียทั้งขึ้นและล่องคือประชาชน เป็นเรื่องที่น่ากลัว หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
โฆษก อนค.ยันขับ 4 ส.ส.ประพฤติขัดอุดมการณ์