จับลิขสิทธิ์ จับยังไง แบบไหนถึงจะหนี “ตบทรัพย์”

จับลิขสิทธิ์ จับยังไง แบบไหนถึงจะหนี “ตบทรัพย์”


จากข่าวที่มีบริษัทมาว่าจ้างเด็กอายุ 15 ปีทำกระทงลายการ์ตูน แล้วต่อมาได้นำตำรวจมาแจ้งว่าผิดลิขสิทธิ์ จนต้องจ่ายเงินไป 5,000 บาท ซึ่งในที่สุดพวกนี้คือแก็งตบทรัพย์ที่ระบาดกับเหล่าปลาซิวปลาสร้อย

นายไพศาล มังกรไชยา ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้ ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก Thaiquote เรื่อง ละเมิดลิขสิทธิ์…ใครผิดใครถูก โดยบอกว่า เรื่องนี้บางครั้งเป็นการหากินของแก็งค์ตบทรัพย์ ซึ่งเกิดขึ้นแพร่ระบาดไปทั่วโดยแบ่งพื้นที่และตัวสินค้ากันทำมาหากิน ซึ่งเรื่องนี้ทางตำรวจและกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ปลาซิวปลาสร้อยมาเป็นเหยื่อหากินของคนพวกนี้ (สามารถติดตามการไลฟ์สด มุมมองประเด็นดังของ คุณไพศาล มังกรไชยา ได้เป็นประจำที่ Thaiquote)

“ตอนนี้ที่เป็นข่าวครึกโครมคือการไปจับน้องอายุ 15 ปีว่าทำกระทงที่นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าผิดลิขสิทธิ์ คนจับเรื่องลิขสิทธิ์ก็จับจ้องอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่น่าสงสาร และสำหรับกรณีนี้ต้องเร่งให้การศึกษาเป็นอย่างมาก เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะมีกฎหมายรองรับ และมีความผิด แต่ก็นั่นแหละกฎหมายลักษณะนี้ยอมความกันได้ และสามารถไกลเกลี่ยกันได้ กรณีน้อง 15 ปี จาก 50,000 บาท ก็เสียเพียง 5,000 บาท

แต่สำหรับเรื่องนี้มีประเด็นเพิ่มเติมคือเรื่องดังกล่าวมีประเด็นของการล่อซื้อ เคยมีคดีในลักษณะนี้เรื่องนี้เจ้าทุกข์เขาไม่ยอม เรื่องไปถึงศาล ศาลตัดสินแล้วว่าการล่อซื้อทำไม่ได้ การเรียกทรัพย์ก็ถือเป็นการกรรโชกทรัพย์ เรื่องนี้มองไปได้ว่าไปดำเนินการผิดหรือไม่ สำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์คือการล่อซื้อและกรรโชกทรัพย์ แต่มีเรื่องเลยเถิดมาถึงว่าบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงได้ออกประกาศมาถึง 2 ฉบับว่า เขาไม่ได้สั่งให้ดำเนินการ ตอนนี้เขากำลังตรวจสอบและจะมีการเล่นงานทางด้านกฎหมาย พัฒนาไปว่าแล้วพวกที่ทำงานเหล่านี้ทำกันเป็นแก็งค์มีตั้งแต่พนักงานตรวจสอบ รู้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ก็ไปแจ้งความ เมื่อแจ้งความเสร็จก็ไปจับ ซึ่งเป็นการจับแบบล่อซื้อ จับแบบซึ่งหน้า เพราะมีสินค้าอยู่ตรงหน้าพร้อมผู้กระทำความผิด แล้วนำตัวไปสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี แต่คดีในลักษณะนี้สามารถไกล่เกลี่ยกันได้

แต่เมื่อไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ อันนี้จะกลายเป็นแก็งค์ตบทรัพย์ มีข้อมูลที่เปิดโปงว่าวิธีการหากินแบบนี้ มีทั้งประเภทไปประมูลซื้อมา รู้ว่าบริษัทนี้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ แล้วก็ไปซื้อสินค้ามา โดยรู้ว่าบริษัทนี้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสำนักงานกฎหมาย ก็จะแต่งตั้งให้ดูแลลิขสิทธ์ของเจ้าของสิทธิ์ที่อยู่ต่างประเทศ บริษัทพวกนี้ก็จะให้กลุ่มคนมาขอเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์แล้วไปดำเนินการ จะดำเนินการอย่างไรก็ตามต้องมารับใบออกหนังสือให้ บางใบเป็นหลักแสน บริษัทตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีความพอใจ เพราะบริษัทเล็กๆ เหล่านั้นก่อกวน เป็นหูเป็นตาให้ ทางบริษัทไม่ต้องทำอะไรมาก แถมยังได้เงิน พวกนี้อย่างน้อยก็ยังถือว่ามีตัวเอกสารเป็นตัวเชื่อมโยงกับบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ตอนหลังๆ มีการปลอมแปลงไม่มีเอกสาร อันนี้มีช่องว่างที่มีการพิสูจน์คือจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไปด้วย แต่ถ้าไม่มีถือว่าเข้าข่ายตบทรัพย์ ซึ่งเรื่องนี้อาละวาดกันมาก เขาจะมีการแบ่งพื้นที่กันทำ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นต้น แบ่งกันไปเป็นลิขสิทธิ์เพลง ลิขสิทธิ์สินค้า ลิขสิทธิ์แบรนด์เนม เป็นแก็งค์หากิน มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่าแก็งค์นักบิน พวกนี้จะบินไป คอยเสาะสภาพก่อน เช่นกรณีของลิขสิทธิ์เพลง พวกนี้จะรู้ว่า ร้านนี้มีนักร้องใครมาร้อง ร้องเพลงอะไรบ้าง แล้วก็ไปแจ้งความ คัดบันทึกประจำวันมาพร้อมกับตำรวจ เพื่อมานั่งที่ร้าน ถ้าร้องเพลงผิดลิขสิทธิ์ก็จับกุมทันที ทำกันถึงขั้นว่ากลัวว่าเขาไม่ร้อง ทำทีเป็นเขียนเพลงขึ้นไปให้เขาร้องก็มี เป็นการหากินกันอย่างหนึ่ง เพราะในที่สุดก็จบกันที่การเจรจาไกล่เกลี่ย จ่ายเงินกันไป ตำรวจก็ถือว่าเป็นคดีมโนสาเร่

สำหรับในกรณีของเด็กอายุ 15 ปี ที่ทำกระทงแล้วใส่รูปการ์ตูนที่เป็นข่าวอยู่นี้ จริงๆ แล้วบริษัทที่ญี่ปุ่นไม่ได้ออกจดหมายมาให้จับ และบริษัทในประเทศก็ไม่ได้ออกจดหมายดังที่ได้ประกาศมาแล้ว หรือจริงๆ แล้วบริษัทเมืองไทยดำเนินการเพื่อตบทรัพย์ แต่พอเรื่องใหญ่ขึ้นก็เลยแจ้งว่าไม่ได้ออกเอกสาร ตำรวจต้องพิสูจน์และดำเนินการทางคดีด้วย เพราะออกอาละวาดมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับคนทำมาหากิน การจับมาปรับไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องสำหรับคนผิดที่เป็นปลาซิวปลาสร้อย แต่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันนี้เห็นด้วย เพราะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เสียประโยชน์อย่างมากมาย

จุดสำคัญที่ต้องเพ่งเล็งเลยคือตำรวจ เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องไปที่โรงพัก ตำรวจต้องยืนอยู่ในหลักที่ถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ถ้ามีคนมาบอกว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อาจต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ใช่หรือไม่ใช่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยมั้ย ยิ่งมาจับเด็กขึ้นโรงพักเป็นเรื่องที่ดำเนินคดีไม่ได้อยู่แล้ว มีคดีของผู้เยาว์ ยิ่งต้องปฏิบัติเคร่งครัด ตำรวจเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องดำเนินการทุกอย่างให้ตรงไปตรงมา จนไม่เกิดกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเหมือนในขณะนี้ ส่วนทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ต้องออกมาแสดงท่าที ทำให้ไม่มีจุดอ่อนในเรื่องเช่นนี้ เพราะเคยมีเหตุบุกไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเพื่อจับกุม แต่พ่อค้าไม่ยอม เกิดเหตุทะเลาะวิวาทใหญ่โต จากคดีลิขสิทธ์อาจบานปลายเป็นคดีอาญาอื่นๆ ก็ได้ หากแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจไม่มีหลักที่ถูกต้อง ตอนนี้ต้องพุ่งไปที่ตำรวจ เรื่องนี้จะสะสางกันอย่างไร และจะวางมาตรการในอนาคตอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นท่าทีที่ชัดเชนจากตำรวจที่จะกวดขันพวกตบทรัพย์และหาแนวทางป้องกัน ควรเร่งดำเนินการว่าตำรวจเป็นกลาง เพื่อทำให้ประชาชนอุ่นใจ”

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เด็ก 15 ปี แจ้งความ “กรรโชกทรัพย์” คนล่อซื้อ ให้ทำกระทงการ์ตูนละเมิดฯ