นายไพศาล มังกรไชยา ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้ ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก Thaiquote เรื่อง GSP ที่คนส่วนใหญ่นำไปโยงกับ การแบน 3 สารพิษ และกรณีสหรัฐเรียกร้องให้ไทยนำเข้าหมูเนื้อแดงและเครื่องใน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นคนละเรื่องกัน GSP เป็นเรื่องที่สหรัฐให้ฝ่ายเดียว แต่เรื่องแบน 3 สารพิษเป็นการค้าต่างตอบแทนจึงไม่ควรนำมารวมกัน (สามารถติดตามการไลฟ์สด มุมมองประเด็นดังของ คุณไพศาล มังกรไชยา ได้เป็นประจำที่ Thaiquote )
จนถึงวันนี้ความมั่วเริ่อง GSP มีมาก รวมกับเรื่องการแบน 3 สารพิษบ้าง นำมาเชื่อมโยงกับต้องการให้ไทยนำเข้าเนื้อหมู เครื่องในหมูที่มีการเร่งเนื้อแดงเป็นส่วนประกอบ เพราะทางการไทยไม่ต้องการนำเข้า เพราะภายในประเทศก็มีการแบนเรื่องนี้อยู่ กลายเป็นเรื่องที่สหรัฐโมเมเพื่อให้ไทยไปเจรจา เพื่อให้ไทยปฏิบัติในสิ่งที่เขาต้องการแต่เราไม่ปฏิบัติมาต่อรอง ก็มีการโยงกันไปอย่างนั้น แต่อยากจะบอกว่าเรื่องนี้มันมั่ว
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่อง GSP เป็นเรื่องที่สหรัฐจะให้สิทธิพิเศษให้กับประเทศคู่ค้า เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้หลุดจากความยากจน เป็นนโยบายตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้ประเทศยากจนหลุดจากความยากจน เพราะรู้ว่าแต่ละประเทศแต้มต่อไม่เท่ากัน จึงให้แต้มต่อกับประเทศที่ด้อยพัฒนา แต่ถ้าประเทศไหนที่เข้มแข็งแล้วก็เข้าสู่ระบบภาษีปกติไป อันนี้เป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่จริงๆแล้วเป็นช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐต้องการผูกมิตร เพราะต้องการพันธมิตรเข้ามาร่วมกับฝ่ายโลกเสรี เพราะกำลังต่อสู้กับโลกคอมมิวนิสต์ ด้วยความที่ว่าเป็นการให้ฝ่ายเดียวดังนั้นเมื่อถึงเวลาจะให้ต่อหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของสหรัฐเป็นคนตัดสิน มันไม่ใช่เรื่องระบบการค้าต่างตอบแทน ระบบการค้าต่างตอบแทนเป็นการทำการค้าภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เราซื้อเขา เขาก็ต้องซื้อเรา ไม่ใช่การขายแต่เพียงฝ่ายเดียว
เพราะฉะนั้นเรื่องการแบน 3 สารพิษ หากสหรัฐจะมีการทักท้วงกลับมาก็จะเข้าสู่ระบบต่างตอบแทน เป็นลักษณะไทยแบนเขา เขาก็แบนเรา มีความเป็นไปได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เรื่องของเนื้อหมู เครื่องในหมู สหรัฐขอให้เราซื้อ เราไม่ซื้อ เพราะสหรัฐมองว่าไทยได้ดุลการค้า ก็ขอร้องให้ไทยซื้อสินค้าสหรัฐ แต่ถ้าไม่ซื้อก็หาทางเจรจาหรือหาทางบีบ ก็ตั้งกำแพงสินค้าตัวนั้นให้สูง แต่ต้องอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทต่างตอบแทน แต่จะไม่ไปรวมกับกลุ่มประเภทสินค้า GSP ซึ่งสหรัฐเป็นคนให้เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่นำมาปนกัน เรื่องของสินค้าต่างตอบแทนต้องมีการเจรจาต่อรองกันไป และไม่ได้ทำเฉพาะกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว ประเทศอื่น ๆ เราก็ทำด้วย
แต่สำหรับสินค้า GSP มันเป็นเรื่องที่สหรัฐมีต่อเรา เหมือนกับที่สหรัฐมีต่ออินเดียและครั้งนี้สหรัฐก็ตัดอินเดีย เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจอินเดียเติบอย่างก้าวกระโดด มีฐานะที่ดีขึ้น ตอนนี้เราเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP สูงสุดและสหรัฐมองว่าเศรษฐกิจของบ้านเราก็มีการพัฒนา ดุลการค้าของเราก็มากกว่าสหรัฐมาก เพียงแต่ว่าการจะตัด GSP นั้นมันต้องอยู่ในหลักในเกณฑ์ วิธีพิจารณากลุ่มสินค้าที่จะถูกตัด GSP คือหมวดสินค้านั้นเข้าสู่สหรัฐในมูลค่าที่สูงเกินกว่าเพดานที่จะให้ GSP ตัวอย่างเช่นกุ้งนึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน ยอดการส่งออกของไทยสูงมากกว่าคู่แข่งและบริษัทในสหรัฐมาก จึงถูกตัด หลักสำคัญคือถ้ามูลค่าสินค้านั้นส่งออกเข้าสหรัฐสูงแล้วก็จะถูกตัด
ประเด็นต่อมาคือสหรัฐให้ GSP คือต้องการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศที่ด้อยพัฒนามาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้นรายได้ประชากรต้องสูงขึ้น เศรษฐกิจจะต้องดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องดีขึ้น เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดเหล่านี้ ก็คือคุณได้ทำให้รายได้ของประชนดีขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นไหม ทำให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่เราได้ให้ GSP ไหม เพราะฉะนั้นจึงมีข้ออ้างด้านแรงงานในการตัดสิทธิในครั้งนี้ เพราะไทยไม่ได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ เพราะมันอยู่ในเรื่องของการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ ชีวิตผู้คน รวมทั้งแรงงาน สหรัฐจะไปตัดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับบริบทที่เขาวางไว้ไม่ได้ จะไปบอกว่าไปเกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ มันไม่ใช่ เพราะเรื่องนั้นต้องไปเจรจาอีกเวทีหนึ่ง คือเรื่องของการเจรจาต่างตอบแทนไป หรือกรณีที่ไทยไม่รับซื้อหมูเนื้อแดงก็ไปเวทีต่างตอบแทน
ฉะนั้นข้อเท็จจริงกับความมั่วมันอยู่ตรงนี้ คือGSP ก็อยู่ใน GSP ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ไปอยู่ในเรื่องต่างตอบแทน ไม่ใช่ไม่มีปัญหา สหรัฐก็ไม่พอใจที่ไทยแบนไกรโฟเสต มีเอกชนมาร้อง และทางสหรัฐก็ประกาศจุดยืน เรื่องนี้เอกชนจะไปมีอิทธิพลต่อการเมืองและการเมืองก็จะปกป้องเอกชนของตนเองต่อไป จะรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับฤทธิ้เดชของเอกชน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ผลประโยชน์ที่สูญเสีย เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกรสุกรที่ขณะนี้ปริมาณล้นตลาด ก็ต้องไปบีบกลุ่มการเมือง เพื่อให้กลุ่มการเมืองไปบีบประเทศคู่ค้า
ส่วนถามว่าการตัด GSP มีผลกระทบแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ามีผลกระทบแน่ แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์คำนวณ ก็คาดว่าไม่น่าจะมาก เพราะกว่า 500 รายการ ไทยก็ไม่ได้ใช้หมด เห็นว่ามีอยู่ประมาณ 100 รายการ ผลกระทบที่ได้รับคือจากที่เคยเสียภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องไปเสียภาษีประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เข้าตลาดยากขึ้น เพราะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับบาทที่แข็งขึ้นก็ยิ่งเป็นอุปสรรคมากขึ้น
รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องไม่ควรนำเรื่อง GSP ไปโยงกับเรื่องอื่นมากนัก เพราะจะทำให้ดูเหมือนว่าเราให้ความสำคัญกับ GSP มากเกินไป เอาเรื่องต่างๆ มาต่อรองเพื่อรักษา GSP ไว้ ให้มันอยู่ในกรอบ เมื่อเขาว่าเรื่องแรงงานเราก็เอาเรื่องแรงงานมาเจรจา ไม่ต้องไปโยงกับเรื่องอื่นต่อรองเพื่อให้เขารักษา แน่นอนธุรกิจที่ถูกตัด GSP ย่อมได้รับผลกระทบ รัฐบาลก็ต้องหามาตรการในการบรรเทา แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ ซึ่งสิทธินี้ได้มานานแล้ว ไม่มีการปรับปรุง แล้วรัฐต้องเข้าไปช่วยเท่ากับไปทำให้เขาเหลิง และเคยตัว พอถูกตัดก็โวยวาย ควรจะโตสักทีหรือเปล่า เรื่องนี้ก็น่าที่จะนำมาวิเคราะห์
เพราะฉะนั้นเรื่องของ GSP อย่าเอาไปปะปนกัน แบน 3 สารพิษหรือเปล่า ที่จริงเรื่อง 3 สารพิษก็ว่ากันไปว่าเหมาะหรือไม่เหมาะหรือไม่อย่างไร อเมริกาไม่พอใจตอบโต้อย่างไรก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาปะปนกัน เพราะเป็นเรื่องคนละฐานคนละระบบของข้อตกลง เช่นเดียวกับเรื่องหมูเนื้อแดงก็ต้องว่าแยกกันไป มันไม่สามารถที่ดึงมาพันกัน และถ้าดึงมาพันกันจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ซึ่งจะเป็นการดึงเอาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนต่างๆ มาปะปนจนเสียหลักการ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควร ถ้าจะให้วิเคราะห์เรื่อง GSP น่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลถูกโจมตี เพราะมันมีผลต่อการค้า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้รัฐบาลก็ถูกโจมตีอยู่แล้วว่าบริหารเศรษฐกิจย่ำแย่ แน่นอนแหละฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลต้องใส่เต็มที่ แต่ใส่เต็มที่อย่างไรต้องอยู่ในหลัก มันถึงเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ทีมไทยแลนด์ถกสหรัฐฯ 1 พ.ย.นี้ ทวงคืนจีเอสพี “พาณิชย์” ตั้งวอร์รูมช่วยเอกชน