ชวนคิด “คุมสหกรณ์” ได้ผลดี หรือพังทั้งระบบ

ชวนคิด “คุมสหกรณ์” ได้ผลดี หรือพังทั้งระบบ


โดย..พรเพ็ญ โตประเสริฐ

เลขานุการสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงมหาดไทย จำกัด

ประเทศไทยมีสหกรณ์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2459 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์ขนาดเล็กขึ้น ที่จังหวัดพิษณุโลก ชื่อ “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ต่อจากนั้นสหกรณ์เติบโตเรื่อยมา จนมีพระราชบัญญัติสหกรณ์ขึ้นครั้งแรกในปี 2471

สหกรณ์เป็นสถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกด้วยกันเอง ปัจจุบันสหกรณ์มีหลายประเภท ประเภทที่มีจำนวนมากที่สุด คือ สหกรณ์การเกษตร แต่ประเภทที่มีเงินทุนหรือสินทรัพย์มากที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์

สหกรณ์ออมทรัพย์ประกอบกิจการธุรกิจการเงินลักษณะคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ มีรายได้ดี มีสวัสดิการให้สมาชิกมากมาย มีเงินปันผลแต่ละปีให้สมาชิกในอัตราสูง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เงินทุนเหลือนอกจากจะให้สมาชิกกู้เงินแล้ว ยังนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งปล่อยเงินกู้หรือนำเงินไปฝากกับสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ถือเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์นายทุน ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขาดเงินทุน ส่วนใหญ่จะไปกู้เงินหรือรับฝากเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น เพื่อนำเงินที่ได้มาไปให้สมาชิกของตนกู้ยืม ซึ่งเป็นการใช้เงินทุนภายนอกเข้ามาบริหารกิจการ ทำให้สหกรณ์มีการกู้เงินและการฝากเงินไขว้กันในหลายแห่ง

หลายปีมานี้เกิดข่าวด้านลบในสหกรณ์หลายแห่ง ส่งผลทำลายความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ควรศึกษาสำหรับวงการสหกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อการเรียนรู้รูปแบบการกระทำผิดและป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก ในระบบสหกรณ์ จึงขอนำเสนอกรณีตัวอย่างข่าวด้านลบในวงการสหกรณ์ที่เป็นข่าวดังหลายปีมานี้ รวม 4 แห่ง ดังนี้

1. ช่วงปี 2553-2554 เกิดการฉ้อโกงประชาชนที่เกิดจากการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ลักษณะแชร์ลูกโซ่ ที่เรียกกันว่า“แชร์ล็อตเตอรี่”ในวงการสหกรณ์ โดยมีการหลอกลวงว่าได้รับโควตาพิเศษจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำให้ได้สลากกินแบ่งรัฐบาลมาเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ผู้สนใจร่วมทุนเพียงแต่นำเงินมาลงทุนซื้อหุ้นแล้วจะได้ผลตอบแทนสูงทุก 15 วัน ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 13 แห่งที่ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์อยู่ในภาคอีสาน รวมทั้งพ่อค้าและประชาชน หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนซื้อหุ้นกันมากมาย บางสหกรณ์ไปกู้เงินก้อนใหญ่เพื่อมาซื้อหุ้นการขายล็อตเตอรี่ ในครั้งนี้ สุดท้ายบริษัทที่อ้างว่าได้สลากกินแบ่งฯ มาจำนวนมาก หมุนเงินไม่ทัน ล้มระเนระนาด สร้างความเสียหาย ให้สหกรณ์หลายแห่งเป็นเงินโดยรวมหลักพันล้านบาท

2. ในปี 2556 สหกรณ์เติบโตมาเกือบครบ 100 ปี สหกรณ์ทั้งหมดมีเงินทุนที่ใช้ประกอบกิจการจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบางแห่งมีเงินทุนเป็นหมื่นล้าน หลายท่านในวงการสหกรณ์ไม่คาดคิดว่าจะเกิดบทเรียนครั้งสำคัญในระบบสหกรณ์ นับเป็นการโกงเงิน ครั้งประวัติศาสตร์ เป็นคดีโด่งดัง ที่พบว่าผู้บริหารของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ยักยอกเงินของสหกรณ์ฯ โดยการไซฟ่อนเงิน หรือยักย้ายถ่ายเทเงินของสหกรณ์ฯ ไปเพื่อประโยชน์ของตนในหลายช่องทาง ส่งผลให้เงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ รั่วไหลในระดับหมื่นล้าน และยังพบว่าสหกรณ์ 70 กว่าแห่งมีเงินฝากจำนวนมากในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ จึงส่งผลกระทบสหกรณ์หลายแห่งได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง นับเป็นการฉ้อโกงเงินที่สร้างความสั่นสะเทือนในระบบสหกรณ์มากที่สุด

3. ในปี 2560 มีการสั่งปิดสหกรณ์เคหสถานนพเกล้ารวมใจ จำกัด เนื่องจากทำธุรกรรมผิดประเภท โดยสหกรณ์แห่งนี้นำเงินไปก่อสร้างบ้านจัดสรรที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อขายให้กับบุคคลภายนอก แต่สหกรณ์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับสมาชิก โดยมีสมาชิก 404 ราย และพบว่ามีสหกรณ์อื่น 3 แห่งนำเงินมาฝากกับสหกรณ์เคหสถานนพเกล้ารวมใจฯ วงเงินรวมประมาณห้าพันล้านบาทเศษ แต่เมื่อสหกรณ์ทั้ง 3 แห่งที่นำเงินมาฝาก ขอถอนเงินคืน ก็พบว่าสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ไม่สามารถ คืนเงินฝากได้ ทั้งนี้ 1 ใน 3 สหกรณ์ที่นำเงินไปฝากสหกรณ์เคหสถานนพเกล้ารวมใจฯ เป็นชุมนุมสหกรณ์ที่มีหลายสหกรณ์เป็นสมาชิก ส่งผลให้เกิดความเสียหายโยงใยกัน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แห่งนี้เนื่องจากมีการซื้อที่ดินในราคาสูงเกินจริงจำนวนหลายแปลง

4. ในปี 2561 พบปัญหาในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 6,000 คน มีสินทรัพย์ประมาณ 4 พันล้านบาท โดยในปี 2555-2559 สหกรณ์แห่งนี้มีการอนุมัติเงินกู้โดยไม่ถูกต้องให้กับสมาชิก 6 ราย เป็นเงินสองพันกว่าล้านบาท และผู้กู้เงินคืออดีตผู้บริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟฯ โดยได้นำเงินกู้ดังกล่าวไปทำธุรกิจบ้านจัดสรรที่จังหวัดเพชรบุรี และพบข้อบกพร่องในสหกรณ์นี้หลายรูปแบบ ทำให้สหกรณ์ฯ เสียหายเป็นหลักพันล้าน ส่งผลกระทบไปถึงสหกรณ์อื่นอีก 14 แห่งที่นำเงินมาฝากหรือให้สหกรณ์แห่งนี้กู้เงิน กรณีนี้นายทะเบียนสหกรณ์ คือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ชุดที่ 12 เร่งแก้ไขข้อบกพร่องและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และต่อมา นายทะเบียนสหกรณ์ ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์

จากปัญหาในหลายสหกรณ์ข้างต้นพบว่า การทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ เกิดความเสียหายมากสุด ซึ่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ต่างจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ จะมีสมาชิกเป็นผู้มีรายได้ประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือน หน่วยงานต้นสังกัดจะหักเงินค่าหุ้นและเงินชำระหนี้รายเดือนจากเงินเดือนของสมาชิกแต่ละคนส่งให้สหกรณ์ฯได้ แต่สำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่คือประชาชนทั่วไป สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมักจัดตั้งขึ้นตามแหล่งชุมชน โดยมีสมาชิกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่สหกรณ์ทั้งสองประเภท ดำเนินกิจการเหมือนกันคือรับฝากเงินและให้เงินกู้กับสมาชิก ทั้งนี้ จากกรณีการโกงเงินในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ทำให้หลายท่านสงสัยว่าทำไมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จึงมีสมาชิกจำนวนมากและ มีเงินทุนมากมายเช่นนั้น

คำตอบก็คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด มีสำนักงานตั้งอยู่ที่คลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีการระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่คลองจั่นหรือบางกะปิ เท่านั้น นอกจากนี้ยังระดมเงินทุนจากสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกด้วย สิ่งที่จูงใจคือการให้ดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่สูงมากถึงร้อยละ 5.50 และมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นแต่ละปีในอัตราสูงมากถึงร้อยละ 10 เป็นที่มาและเป็นสิ่งจูงใจทำให้ มีสมาชิกมากมายถึงห้าหมื่นกว่ารายและมีเงินทุนหลายหมื่นล้านบาท โดยขณะนั้นภาครัฐยังไม่มีการจำกัดดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราเงินปันผลของสหกรณ์แต่อย่างใด จากการทุจริตครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้สมาชิก ถอนเงินของตนที่ฝากไว้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ ไม่ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีหลายขนาด นอกจากนี้สหกรณ์หลายแห่งยังมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ขึ้นมา มีทั้งชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต่าง ๆ มากมาย มีลักษณะการประกอบกิจการเหมือนกับสหกรณ์แห่งหนึ่งและมีเงินทุนจำนวนมาก โดยในส่วนของชุมนุมสหกรณ์จะมีสหกรณ์ต่าง ๆ เป็นสมาชิก ซึ่งสหกรณ์ที่มีทุนดำเนินการมากและสหกรณ์ที่เป็นชุมนุมสหกรณ์จะรับฝากเงินจากสหกรณ์อื่นและปล่อยเงินกู้ให้สหกรณ์อื่น จึงเกิดธุรกรรมฝากเงินและกู้เงินระหว่างสหกรณ์ขึ้นมากมาย นับเป็นธุรกรรมการเงินอย่างหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์นั้น ๆ โดยเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

หลังปรากฏการณ์ข่าวด้านลบที่เกิดขึ้นในสหกรณ์หลายแห่งข้างต้น ทำให้เกิดความคลางแคลงใจในการกำกับดูแลสหกรณ์ ต่าง ๆ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศ จำเป็นต้องยกเครื่องระบบสหกรณ์ครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ปัจจุบันกฎหมายที่ควบคุมสหกรณ์คือพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2553 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2562 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายนี้เพื่อคุมเข้มในการบริหารจัดการสหกรณ์ มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน และให้อำนาจทางกฎหมายแก่องค์กรที่ดูแลและตรวจสอบสหกรณ์ กฎหมายฉบับใหม่นี้เน้นการกำกับดูแลสหกรณ์ ต่างจากอดีตที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ นอกจากนี้ยังจะต้อง ออกกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อบังคับใช้กับสหกรณ์ทั้งหมดเร็ว ๆ นี้ ทั้งเรื่องการลงทุน การรับฝากเงิน การให้เงินกู้ การจัดทำบัญชี และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ ฯลฯ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับการกำกับดูแลสหกรณ์ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ระบบสหกรณ์เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ สิ่งที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ได้เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว เช่น การกำหนดให้สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้สมาชิกได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด การจำกัดจำนวนเงินในการเป็นหนี้ระหว่างสหกรณ์ ฯลฯ ดังนั้น ผู้ที่เป็นกรรมการสหกรณ์หรือบุคลากรของสหกรณ์จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงควรบริหารกิจการด้วยรอบคอบและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สุดท้ายนี้ ขอเสนอแนะว่า เรื่องเงินเป็นเรื่องอ่อนไหว ปัญหาในสหกรณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเหมือน “ปลาเน่าสาม-สี่ตัวเหม็นทั้งข้อง” อย่างไรก็ตาม การยกระดับการกำกับดูแลระบบสหกรณ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอดีตเป็นสิ่งดี แต่การคุมเข้มครั้งนี้ ไม่ควรจุดชนวนสร้างปัญหาใหม่ในวงการสหกรณ์ขึ้นมา ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะออกมาคุมเข้มอีกนั้น ควรมีเวลากับสมาชิกและสหกรณ์ได้ปรับตัว อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ สหกรณ์ก็เปรียบเสมือนเป็นคนไข้ ที่การดูแลรักษาอาจมีความซับซ้อนและมีโอกาส เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ หากให้ยาแรงเกินไปก็อาจเกิดวิกฤติถึงขั้นภาวะช็อค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง อันจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง ได้ผลการรักษาที่ดี และต้องไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด