วิเคราะห์การปฏิรูปหน่วยระดับกรมของกองทัพบกรูปแบบ “กองพลน้อยชุดรบ”ผ่านสายตานักวิชาการ
บทวิเคราะห์โดย ปิยะภพ เอนกทวีกุล
อาจารย์พิเศษวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคม มหาวิทยาราชภัฏราชนครินทร์
ในการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพได้รับทราบการปรับปรุงโครงสร้างและเสริมสร้างกำลังรบของกองทัพบก ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างและเสริมสร้างหน่วยกำลังรบ เพื่อใช้เป็นหน่วยต้นแบบในอนาคตโดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างหน่วยกำลังรบระดับกรม ให้เป็นหน่วยที่มีความกะทัดรัด ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ได้พิจารณาเปรียบเทียบกับการจัดหน่วยแบบกองพลน้อยของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย (Brigade Combat Team : BCT) โดยนำมาประยุกต์ให้มีความเหมาะสมกับกองทัพบก (มติชนออนไลน์, 2562, 1) ซึ่งพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวในที่ประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ว่า “การปฏิรูปหน่วยระดับกรมของกองทัพบกยึดรูปแบบกองพลน้อยสหรัฐอเมริกา มีการปรับปรุงหลักนิยมทางทหารยุคใหม่ โดยนำรูปแบบสหรัฐอเมริกาปรับใช้ทันสมัย” (มติชนออนไลน์, 2562, 1)
การปฏิรูปหน่วยระดับระดับกรมของกองทัพบกรูปแบบกองพลน้อยชุดรบ (Brigade Combat Team : BCT) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกองทัพบกที่จะปฏิรูปหน่วยกำลังรบให้มีขนาดเล็กลงและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางทหารเพิ่มขึ้น นับจากแนวทางการปฏิรูปกองทัพบกในยุคที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี พ.ศ. 2529-2533 ที่มีนโยบายพัฒนากองทัพบกให้มีขนาดเล็ก กะทัดรัด และทันสมัยหรือที่เรียกว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” (กองทัพบก, 2538, 177-178)
ปัจจุบัน หน่วยกำลังรบของกองทัพบกที่เป็นหน่วยหลัก คือ หน่วยกำลังรบระดับกองพล แบ่งเป็น กองพลทหารราบ, กองพลทหารม้า, กองพลทหารปืนใหญ่และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และกองพลทหารช่าง (กองทัพบก, 2562, 1) แต่ละกองพลจะประกอบด้วยหน่วยกำลังรบระดับกรมประมาณ 3-4 กรม และหน่วยกำลังรบและสนับสนุนการรบระดับกองพันประมาณ 4 กองพัน ตัวอย่างเช่น กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นกองพลทหารราบยานเกราะหน่วยเดียวของกองทัพบก มีหน่วยกำลังรบระดับกรม 4 กรม แต่ละกรมมีกองพัน 3-4 กองพัน และหน่วยกำลังรบและสนับสนุนการรบระดับกองพัน 4 กองพัน (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, 2562, 1) ทั้งนี้ การจัดหน่วยกำลังรบของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นการจัดหน่วยกองพลทหารราบยานเกราะเต็มรูปแบบของกองทัพบก มีการจัดรูปแบบและพัฒนาหน่วยมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ปัจจุบันกองทัพบกมีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยกำลังรบให้มีขนาดเล็ก กะทัดรัด และมีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติการทางทหารได้ทุกรูปแบบ ซึ่งรูปแบบที่กองทัพบกได้นำมาเป็นแนวทางปฏิรูปหน่วยระดับกรม ได้แก่
“กองพลน้อยชุดรบ” (Brigade Combat Team : BCT) เป็นรูปแบบกองพลน้อยที่ประจำการในกองทัพบกสหรัฐอเมริกาและออสเตรียเลีย
“กองพลน้อยชุดรบ” (Brigade Combat Team : BCT) เป็นรูปแบบการจัดหน่วยรบของกองทัพบก เกิดขึ้นครั้งแรกในกองทัพบกสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1990 กองพลน้อยชุดรบ มาจาก 2 คำรวมกัน คือ “กองพลน้อย” กับ “ชุดรบ” คำว่า “กองพลน้อย” หมายถึง กองพลน้อยชุดรบเป็นหน่วยที่มีขนาดใหญ่กว่ากรม แต่เล็กกว่ากองพล ส่วนคำว่า “ชุดรบ” หมายถึง กองพลน้อยชุดรบเป็นหน่วยที่มีการผสมหลายเหล่าทั้งราบ, ม้า, ปืนใหญ่, ช่าง และสื่อสาร เป็นต้น และมีทั้งส่วนบังคับบัญชา ดำเนินกลยุทธ์ สนับสนุนการรบ และช่วยรบ เพื่อให้มีความสมบูรณ์และรบได้ดัวยตัวเองเป็นอิสระจากหน่วยเหนือขึ้นไป ซึ่งรูปแบบการจัดหน่วยรบมีขนาดเล็กกว่ากองพล แกนหลักของกองพลน้อยชุดรบ คือ 1 กรม แล้วเพิ่มส่วนสนับสนุนการรบและช่วยรบเข้าไปให้มีความสมบูรณ์เหมือนกองพล ทำให้กองพลน้อยชุดรบมีขนาดหน่วยที่ใหญ่กว่ากรม ดังนั้น 1 กองพลทหารราบ มี 3 กรมทหารราบ เมื่อเปลี่ยนเป็นกองพลน้อยชุดรบ จะมี 3 กองพลน้อยชุดรบ
ทั้งนี้ หน่วยสนับสนุนการรบและช่วยรบในกองพล ก็จะถูกแบ่งเป็นหน่วยย่อยตามจำนวนกองพลน้อยชุดรบ เพื่อรองรับแต่ละกองพลน้อยชุดรบ เช่น กองพันทหารช่างจะถูกแบ่งเป็น 3 กองร้อยทหารช่างให้กับแต่ละกองพลน้อยชุดรบ กองทัพบกสหรัฐอเมริกามีการจัดรูปแบบกองพลน้อยชุดรบ 3 รูปแบบ ได้แก่ กองพลน้อยชุดรบทหารราบ, กองพลน้อยชุดรบทหารม้า และกองพลน้อยชุดรบยานเกราะ โดยกองพลจะลดบทบาทเป็นเพียงส่วนบัญชาการ และจะใช้เมื่อทำการรบแล้วใช้กำลังมากกว่า 1 กองพลน้อยชุดรบ เพราะแต่ละกองพลน้อยชุดรบสามารถทำการรบได้ด้วยตัวเอง ส่วนในที่ตั้งปกติกองพลยังคงดูแลด้านธุรการให้กับหน่วยขึ้นตรงตามเดิม (Thai Armed Force, 2562, 1)
เมื่อเปรียบเทียบการจัดหน่วยระดับกองพลของกองทัพบกไทยกับการจัดหน่วยกองพลน้อยชุดรบของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา กองพลน้อยชุดรบของกองทัพบกสหรัฐอเมริกาจะมีขนาดเล็กว่ากองพลของกองทัพบกไทย กองพลของกองทัพบกไทยมีหน่วยกำลังรบระดับกรมประมาณ 3-4 กรม แต่ละกรมจะมีหน่วยขึ้นตรงระดับกองพัน 3-4 กองพัน และหน่วยกำลังรบและสนับสนุนการรบระดับกองพันประมาณ 4 กองพัน ส่วนกองพลน้อยชุดรบของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา 1 กองพลน้อยชุดรบมีหน่วยกำลังระดับกองพันประมาณ 4-7 กองพัน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ากองพลและใหญ่กว่ากรม แต่ประสิทธิภาพแลปฏิบัติการทางทหารเทียบเท่ากับระดับกองพล
กองทัพบกเคยลองใช้แนวคิดกองพลน้อยชุดรบไปหลายครั้งในการฝึก โดยเป็นการจัดลักษณะเฉพาะกิจ ทั้งรูปแบบของกรมทหารราบและกรมทหารม้า ซึ่งรูปแบบกองพลน้อยชุดรบของกองทัพบกจะเป็นกำลังรบผสมเหล่าระดับกรม เรียกว่า “กรมผสม” สำหรับหน่วยรบของกองทัพบกที่มีรูปแบบการจัดใกล้เคียงกับแนวคิดกองพลน้อยชุดรบมากที่สุด คือ “หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วหรือหน่วย RDF” (Rapid Deployment Force) ได้แก่ กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ หน่วยขึ้นตรงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นแกนหลักแล้วเพิ่มเติมหน่วยสนับสนุนการรบและช่วยรบต่างเหล่าเข้า ทั้งจากระดับกองพล คือ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และระดับกองทัพบก เช่น กองพลทหารปืนใหญ่ แต่สิ่งที่หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วหรือหน่วย RDF ยังไม่เหมือนกองพลน้อยชุดรบ คือ หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วหรือหน่วย RDF เป็นการจัดหน่วยเฉพาะกิจ และกองทัพบกไม่มีหน่วยระดับกองพลน้อย กรมผสมจะมีหลายแบบตามลักษณะการจัดหน่วยดำเนินกลยุทธ์ เช่น ทหารราบ ทหารราบยานเกราะ และทหารม้า เป็นต้น (ศูนย์พัฒนาหลักนิยมและยุทธศาสตร์, 2559 และ Thai Armed Force, 2562, 1)
อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพบกจะใช้แนวคิดการปฏิรูปหน่วยระดับกรมของกองทัพบกรูปแบบ “กองพลน้อยชุดรบ” ตามรูปแบบกองทัพบกสหรัฐอเมริกา กองทัพบกจะต้องมีการปรับหน่วย คือ การปรับหน่วยสนับสนุนการรบและช่วยรบของแต่ละกองพลทหารราบจำนวน 10 กองพล และกองพลทหารม้าจำนวน 3 กองพล ให้สามารถแบ่งย่อยและกระจายลงไปในแต่ละกรมผสมให้ได้ก่อน และการปรับส่วนบัญชาการรบของแต่ละกองพลให้สอดคล้องกับรูปแบบกรมผสม และการปรับโครงสร้างหน่วยสนับสนุนต่างๆ เช่น กองพลทหารปืนใหญ่ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และกองพลทหารช่าง ให้สามารถแบ่งย่อยเพื่อไปสนับสนุนแต่ละกรมผสมได้ตามสถานการณ์
กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปหน่วยระดับกรมของกองทัพบกรูปแบบ “กองพลน้อยชุดรบ” (Brigade Combat Team : BCT) คือ การจัดหน่วยระดับกรมที่มีขนาดใหญ่กว่ากรมและเล็กกว่ากองพล ทำให้กองพลน้อยชุดรบมีขนาดหน่วยที่ใหญ่กว่ากรม เปรียบได้กับ 1 กองพลทหารราบ มี 3-4 กรมทหารราบ เมื่อเปลี่ยนเป็นกองพลน้อยชุดรบ จะมี 3 กองพลน้อยชุดรบ
รายการอ้างอิง
กองทัพบก. (2538). กองทัพบกในรอบ 40 ปี. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์
กองทัพบก. (2562). ภารกิจและการจัด.
กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์. ประวัติกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์.
การเมือง มติชนออนไลน์. (2562). ทบ.ลุยปฎิรูปหน่วยระดับกรม หันยึดโมเดล “กองพลน้อย” สหรัฐฯ- ออสเตรเลีย.
Thai Armed Force. (2562). มารู้จัก กองพลน้อยชุดรบ (Brigade Combat Team ) กัน. (2562).
ศูนย์พัฒนาหลักนิยมและยุทธศาสตร์. (2559). ความรู้พื้นฐานการพัฒนาหลักนิยมกำลังรบแบบผสมเหล่า
ระดับกรม (กรมผสม) ทบ.ไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาหลักนิยมและยุทธศาสตร์ กรมยุทธศึกษาทหารบก.