แกะรอยปม “อุตตม-ธ.กรุงไทย” ก่อนฝ่ายค้านจองกฐินเชือดใน”สภาฯ”

แกะรอยปม “อุตตม-ธ.กรุงไทย” ก่อนฝ่ายค้านจองกฐินเชือดใน”สภาฯ”


จากกรณีที่ฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย เตรียมการอภิปรายเรื่องนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 24-25 ก.ค.62 ที่จะถึงนี้ โดยมีข้ออภิปรายสำคัญคือ เรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 โดยมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 3 ข้อที่คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายซักฟอก คือ (4) มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
และ (7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท คาวมผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

ทั้งนี้คาดว่ามีรัฐมนตรีถึง 6 คน ที่จะถูกหยิบยกรายชื่อขึ้นมาอภิปรายซักฟอกในครั้งนี้ คือ 1. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทย 2.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีสินบนจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ 3.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กรณีถูกศาลออสเตเลียพิพากษาจำคุก 8 เดือน 4.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กรณีบ่อบำบัดน้ำเสีย เทศบาลเมืองอุทัยธานี 5.นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรณีรุกป่า ที่ดิน สปก.1,200 ไร่ สร้างโรงงานแป้งมันสำปะหลัง พื้นที่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา 6.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีใช้เงินอุดหนุนสมาคมกีฬาจ.สงขลา

สำหรับคนที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ นายอุตตม สาวนายน และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยเฉพาะนายอุตตม สาวนายน ซึ่งได้รับการเปิดประเด็นดังกล่าว จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จ.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า นายอุตตม มีคุณสมบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 160 (4)

ขณะที่ นายอุตตม ได้โต้ตอบกลับผ่าน เพจเฟซบุ๊คส่วนตัวในประเด็นนี้ว่า “ผมไม่ผิด อย่าบิดเบือน” โดยมีข้อเท็จจริงว่า ในการตรวจสอบไต่สวนทุกกระบวนการ ผมไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีส่วนร่วมในกระบวนการกระทำความผิด

ย้อนกลับไปดูที่มาของกรณีนี้คือ การปล่อยกู้สินเชื่อธ.กรุงไทย จำนวน 9,900 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2546 เนื่องจากกลุ่มกฤษดามหานคร ได้ทำการกู้ยืมเงินจาก ธ.กรุงเทพ เป็นจำนวน 4,500 ล้านบาท โดยเป็นการรีไฟแนนซ์จาก ธ.กรุงไทย จึงทำให้มีส่วนต่าง 5,400 ล้านบาท และนำส่วนต่างดังกล่าวไปใช้ ซื้อที่ดิน ,พัฒนาโครงการใหม่ในชื่อ “กฤษดาซิตี้” ซึ่งขณะที่รีไฟแนนซ์ยังไม่ทำโครงการดังกล่าว รวมทั้งการนำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้น บุริมสิทธิ ซึ่งไม่สามารถทำได้ ถือเป็นบ่วงกรรม ที่ทำให้นายอุตตม เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นที่มาของมหากาพย์ในการสอบสวน และเป็น 1 ในชนวนเหตุของรัฐประหารปี 2549

คดีนี้ นายอุตตม เข้าไปเกี่ยวพัน โดยเริ่มต้นจาก การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรวจพบความผิดปกติของการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ซึ่งเป็นการตรวจสอบตามวาระของ ธปท. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.46 คณะกรรมการบริหารธ.กรุงไทย 5 คน ประกอบด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ ประธานกรรมการ นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการ นายอุตตม สาวนายน กรรมการ นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการ อนุมัติเงินกู้ จำนวน 9,900 ล้านบาท โดยในวันดังกล่าวได้ปรากฎคำเรียกสรรพนามบุคลที่ 3 ว่า “บิ๊กบอส-ซุปเปอร์บอส” ขึ้นเป็นครั้งแรก และคาดเดากันว่าอาจจะเป็นคำเรียก “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ “พจมาน ณ ป้อมเพชร(ชินวัตร)” ตามบันทึกการสืบพยานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

โดยมีการกล่าวอ้างว่า ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ ประธานกรรมการ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ให้เร่งรัดดำเนินการ เนื่องจากบิ๊กบอสสั่งมา” เมื่อมีการทักท้วงจากที่ประชุมก็มีการกล่าวอ้างอีกว่า “ซุเปอร์บอส ตรวจแล้ว และสั่งให้ดำเนินการ”

ถัดมาในวันที่ 29 ก.พ.47 ธปท.โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น ตรวจสอบพบ การอนุมัติสินเชื่อให้กับ บริษัทโกลเด้นเทคโนโลยีอินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร โดยมิได้วิเคราะห์ฐานะ และความน่าเชื่อถือของบริษัท ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขอันดับแรกที่จะต้องมีการวิเคราะห์ก่อนปล่อยกู้ จึงทำให้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.47 ธ.กรุงไทยจำเป็นต้องจัดชั้นเงินกู้ดังกล่าว อยู่ในระดับ “สงสัยจะสูญ และสั่งกันสำรอง” ตามคำสั่งของ ธปท.

หลังจากนั้นในวันที่ 10 พ.ย.47 ธปท. ได้ตรวจสอบ ราคาประเมินหลักประกัน ที่นำมายื่นค้ำประกันการกู้ พบว่า ราคาที่ดินจำนวนประมาณ 4,300 ไร่ (อ้างว่ามีมูลค่า 14,000 ล้านบาท จากการที่ลูกหนี้เลือกวิธีการประเมิน และบริษัทประเมินด้วยตัวเอง) มีมูลค่าจริงเพียง 7,118 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธปท. ยังตรวจพบว่า การอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว พบว่ามีวิธีการรวบรัด และมีการอ้างถึงบุคคลภายนอกที่เรียกว่า “บิ๊กบอส” และ “ซุเปอร์บอส” โดยก่อนที่ ธปท.จะร้องทุกข์กล่าวโทษธ.กรุงไทยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รายงานต่อ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นการรายงานตามปกติไปแล้ว ก่อนมีการยื่นหนังสือใหักับ ปปช.

ทั้งนี้ตามข้อมูลจากหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารธนาคารกรุงไทย กรณีปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร หรือ ธปท. ลงนามโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2548 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุช่วงท้ายในหนังสือว่า นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน กรรมการบริหาร ซึ่งเป็นกรรมการอิสระที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารในคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ภายหลังจากทราบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของธนาคารกรุงไทยว่า มีการให้สินเชื่อที่ผิดปกติ ได้มาพบเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและให้ถ้อยคำกับผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญคือ

1.การอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท โกลเด้นฯ ประธานกรรมการ (ร.ท.สุชาย) ได้ขอให้พิจารณาไปด้วยความรวดเร็วก่อนมีการประชุม และมีการรวบรัดให้การพิจารณาของที่ประชุมยุติลงโดยเร็ว โดยอ้างถึงบุคคลภายนอกขอมา และเป็นสัญญาณว่า ต้องอนุมัติสินเชื่อรายนี้แน่นอน ทั้งที่กรรมการบริหารดังกล่าว (นายชัยณรงค์ และนายอุตตม) ไม่เห็นด้วย โดยตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ของโครงการซึ่งเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดชัดเจน ที่ดินที่ตั้งโครงการและหลักประกันมีการประเมินศักยภาพทางตลาดเท่านั้น โดยลูกหนี้เป็นผู้เลือกบริษัทประเมินราคาและวิธีประเมินราคา ในส่วนการ Refinance จากธนาคารกรุงเทพ มีส่วนที่ Hair Cut ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้กรรมการผู้จัดการที่เป็นกรรมการบริหารได้ทราบเรื่องนี้ดี และช่วยอธิบายแทนสายงานที่นำเสนอสินเชื่อด้วย การตรวจสอบยอดหนี้ Refinance สายงานสินเชื่อ กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทยสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย

2.ในการขายหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ของธนาคารกรุงไทยนั้น กรรมการบริหารทราบเรื่องน้อยมาก แต่ทราบจากนายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการในขณะนั้นว่า เป็นผู้เจรจากับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้นำบริษัทตัวแทน (Nominee) คือบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด มาซื้อหุ้นคืนจากธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการบริหารเพียงแต่อนุมัติหลักการให้ไปเจรจาขายหุ้นในราคา 10 บาท/หุ้น แก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น แต่นายวิโรจน์ มิได้แจ้งรายละเอียดการเจรจาตกลงขายหุ้นกับบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทราบแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงเป็นต้นเหตุที่ ธปท.ได้ส่งผลตรวจสอบถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) โดยยืนยันว่า คณะกรรมการบริหาร ธ.กรุงไทย มีความผิด ยกเว้นนายชัยณรงค์ และนายอุตตม และธปท.ไม่ได้ส่งชื่อบุคคลทั้ง 2 ให้ ปปช.ตรวจสอบ
กระทั่งในปีพ.ศ. 2549 หลังการปฏิวัติ ได้มีการตั้ง คตส.ขึ้นมาตรวจสอบ และเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.51 คตส.มีมติ ว่า “ดร.อุตตม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ไม่ได้มีส่วนร่วม หรือสนับสนุนการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป”

ดังนั้นการที่ คตส.มีมติดังกล่าวออกมา จึงไม่ใช่กรณีของการกันตัวไว้เป็นพยาน แต่มีความหมายชัดเจนว่า ธปท. และ คตส. ชี้ว่า นายอุตตม และนายชัยณรงค์ ไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ก่อนที่จะต้องเรื่องนี้ไปให้อัยการ และมีการส่งฟ้องร้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งหมด 27 ราย มีการพิพากษาให้จำคุกแล้ว 25 ราย ยกฟ้อง 2 คน คือ นายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 6 ตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงไทย ในวันที่มีการอนุมัติสินเชื่อ ได้เดินทางไปต่างประเทศ และนางนงนุช เทียนไพฑูรย์ จำเลยที่ 7 รองผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงไทย ซึ่งได้แสดงความเห็นคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการปล่อยสินเชื่อ

ขณะที่ผู้ที่ได้รับโทษจำคุกทั้ง 25 ราย ได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 12 ปี และ 18 ปี และสั่งให้ทั้งหมดร่วมกันชดใช้ คืนเงิน 10,004 ล้านบาท โดยปัจจุบันมี 3 คน ที่พ้นโทษแล้ว ได้แก่ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ (เสียชีวิต) ,นายวิโรจน์ นวลแข และนายมัชฌิชา กุญชร ณ อยุธยา โดยเข้าเกณฑ์ของการรับโทษไปแล้ว 1 ใน 3 และมีอายุเกิน 70 ปี ซึ่งถือเป็นการพักโทษ

ด้าน นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตกเป็นจำเลยที่ 1 ของคดีนี้ ในสรรพนามว่า “บิ๊กบอส” ศาลได้พักการพิจารณาไว้เฉพาะจำเลยที่ 1 โดยมีกฎหมายใหม่ในปี 2561 ให้พิจารณาลับหลังได้ ซึ่งในสำนวนการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้บันทึกคำให้การของ ร.ท.สุชาย ว่า “บิ๊กบอส” หรือ “ซุปเปอร์บอส” อาจหมายถึง นายทักษิณ ชินวัตร หรือคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) ด้วยเหตุเพราะมีเงินจากการปล่อยกู้ในโครงการนี้ ออกเป็นเช็คทั้งหมด 11 ฉบับ และอยู่ในมือของทายาท คนใช้ และเลขาฯ โดยต่อยอดไปสู่การดำเนินคดีฟอกเงิน

สำหรับคดีฟอกเงินดังกล่าว เป็นคดีซึ่งแตกหน่อมาจากคดีการปล่อยกู้ธ.กรุงไทย เป็นเหตุให้บุคลภายนอกถึง 13 คน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ ธ.กรุงไทย โดย 1 ในนั้น มีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร รับเช็ค 10 ล้านบาท นางกาญจนา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัว ของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร จำนวน 26 ล้านบาท และนายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย โดยคดีนี้จะมีการตัดสินในวันที่ 25 พ.ย.62

ถึงที่สิ้นสุดแล้ว จะต้องรอจับตาดูการอภิปรายซักฟอกถึงคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ของฟากฝั่งฝ่ายค้าน ในวันที่ 25 ก.ค. 62 ว่าจะมีพลังล้มยักษ์ได้สักแค่ไหน และที่ไม่ควรพลาดคือ การอภิปรายโต้วาระดังกล่าวของ “อุตตม สาวนายน” ในวาระแรกของการเข้าสภาฯ ที่แย้มชี้ชวนให้รอชมหลักฐานเด็ดตีตกทุกข้อกล่าวหา

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“อุตตม”เดือด! ขู่ฟ้องกลับ พวกบิดเบือน ปมกู้กรุงไทย ลั่น! “ผมมีความบริสุทธิ์”