โดย…คนข้างสภา
การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นราวดอกเห็ด ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จดจำชื่อกันไม่ไหวกว่า 40 พรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองว่ามีคุณสมบัติที่จะส่งส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ตลอดจนเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
กระนั้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกถึงเวลาสำคัญยิ่ง เมื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพรรคที่อาจจะอยู่เครือข่ายของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่หนีคดีอาญาแผ่นดินอยู่ในต่างแดน รวมถึงยังเป็นพรรคการเมืองที่หล่อหลอมรวมจากพรรคเพื่อไทยของอดีตนายกฯ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่หนีคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว และยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีคดีก่อการร้ายติดตัวอยุ่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นศาลรวมเป็นแกนนำและสมาชิกอีกหลายคน ได้ยื่นพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมแถลงข่าวยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาอย่างรอบครอบแล้วจนมีมติที่จะยื่นพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ
ค่ำคืนวันเดียวกันราวสี่ทุ่มเศษ สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเผยแพร่ประกาศพระราชโองการในสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทย พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด
อีกทั้งทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังเป็นพระเชษฐ ภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล โดยได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นลายลักษณ์อักษร หากยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นที่รักใคร่ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ตลอดจนเป็นที่เคารพยกย่องของพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์และประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยทรงประกอบพระกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยในการดำรงพระองค์และการประกอบพระกรณียกิจต่างๆ นั้น ทรงปฏิบัติด้วยการถวายงานของข้าราชการในพระองค์ และหน่วยราชการต่างๆ ของหน่วยราชการในพระองค์ตลอดมา การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสม อย่างยิ่ง
สิ้นพระราชโองการฯ พสกนิกรชาวไทยต่างยกมือพนมท่วมหัว ปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงเป็นล้นพ้น
วันรุ่งขึ้น 9 กุมภาพันธ์ พรรคไทยรักษาชาติ น้อมรับพระราชโองการ โดยออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ได้มีประกาศพระราชโองการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พรรคไทยรักษาชาติขอน้อมรับพระราชโองการข้างต้นไว้ด้วยความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์
พรรคไทยรักษาชาติซาบซึ้งในพระเมตตาของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ที่ได้ให้ความเมตตาต่อพรรค พรรคจะขอทำหน้าที่ตามระเบียบของกกต. กฎหมายการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพในขนบธรรมเนียมราชประเพณี และพร้อมจะดำเนินนโยบายเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทย
กระนั้นก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” ของไทยรักษาชาติ ส่งแรงผลให้ กกต.ไม่ประกาศรับรองแคดิเดตนายกฯ พร้อมมีมติยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ “ยุบไทยรักษาชาติ”
น่าสนใจตรงที่ ท่าทีของไทยรักษาชาติ หลังออกแถลงการณ์น้อมรับพระราชโองการฯ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย กกต. และรัฐธรรมนูญ ทว่าหลังจากกกต.มีมติร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เหตุใดแกนนำไทยรักษาชาติ กลับตั้งป้อมให้ทีมฝ่ายกฎหมายต่อสู้ขอความเป็นธรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ซ้ำร้าย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ทุกอย่างจบแล้ว ทษช.ไม่ได้ส่งแคดิเดตนายกฯแล้ว ส่วนสมาชิกที่สมัครส.ส. ก็ต้องเดินหน้าหาเสียงต่อไป”
ทำให้เกิดคำถามตัวโตๆ ตามมาว่า หากไทยรักษาชาติน้อมรับพระราชโองการฯ และพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างจริงจังและจริงใจแล้ว ไฉนจึงมีคำถาม และจุดยืนที่แข็งกร้าวเพียงนี้ “ประหนึ่งว่าเก็บกระเป๋าสตางค์ผู้อื่นได้ แล้วนำเงินไปใช้จนหมดเกลี้ยง พอมีผู้เสียหายร้องทุกข์ขอคืน จึงไปหาเงินคืนให้ผู้เสียหาย” อย่างนี้เจตนาความผิดครบองค์แล้วหรือไม่???
ที่สำคัญคือเจตนาจงใจชัดเจน เพราะไทยรักษาชาติ แถลงว่าได้ศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบด้านแล้วในการยื่นบัญชีรายชื่อนายกฯ
ฤาไทยรักษาชาติอาจหลงลืมกฎกติกา จารีตประเพณีที่งดงามของบ้านเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง?
คงต้องย้อนกลับมาที่กฎกติกาพื้นฐานกันสักหน่อยกระมัง โดยเฉพาะ กรณีผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุอันสมควรจะเสียสิทธิ อย่างไร ดังนี้
– สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
– สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
– สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
สิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมาก็ต่อเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น
ตบท้ายอีกนิด สำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิกาบัตรเลือกตั้ง ก็เห็นจะเป็นนักบวชในพระศาสนา ภิกษุสงฆ์ สามเณร บุคคลเหล่านี้ แม้เป็นพลเมืองคนไทย แต่ก็ไม่มีสิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้ง แม้จะใช้สถานที่วัดวาอารามเป็นที่เคลื่อนไหวหาเสียงจัดกิจกรรมทางการเมืองมหาเถรสมาคม (มส.) ก็ยังมีมติออกมาสั่งวัดทั่วประเทศห้ามดำเนินการข้างต้น เพราะที่ผ่านมาคงเป็นที่ทราบกันดีว่ามีกลุ่มก้อนการเมืองเข้าไปใช้วัดใช้พระเคลื่อนไหวทางการเมือง
เช่นเดียวกัน “สถาบันพระมหากษัตรย์” พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง ดังปรากฎในพระราชโองการฯ
ไทยรักษาชาติ คงต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วง หากจะต่อสู้สุดตัวกับศาลรัฐธรรมนูญ และคงต้องไปศึกษากฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะสิทธิของผู้ที่สามารถลงคะแนนเลือกตั้ง และการถูกตัดสิทธิหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกระมัง “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” ที่ตีกลับครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่ชอบแล้วที่พรรคไทยรักษาชาติจะต้องสร้างบรรทัดฐานให้สังคมรุ่นลูกหลานได้จดจำเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะจารีตประเพณีอันดีงามของบ้านเมือง