ประธานอนุกรรมการด้านสุขภาพ ยินดีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบควบคุมราคายา ขอบคุณ ‘สนธิรัตน์’ ผลักดันเต็มที่
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2562 จำนวน 52 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า และ 6 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการหรือกกร. ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุม ปี 2562 และได้มีมติเห็นชอบสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 52 รายการ โดยแบ่งเป็น 10 หมวดสินค้าและ 1 หมวดบริการ นั้น
ล่าสุด น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในฐานะประธานคณะทำงานขอแสดงความชื่นชมและขอขอคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ภายใต้แรงกดดันจากหลายฝ่ายนับตั้งแต่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติเมื่อวันที่9 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ออกมาแถลงการณ์คัดค้าน แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ เมื่อเป็นความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วนั้น ก็จะต้องออกเป็นประกาศกฎกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะมีมาตรการควบคุมราคาดังกล่าวอย่างไรบ้าง คนทำงานเพื่อผู้บริโภคเองก็เตรียมตัวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้ เราพร้อมที่จะมีตัวแทนของนักวิชาการ และผู้บริโภค เพื่อเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการเรื่องนี้ต่อไป
ส่วน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.)ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค ชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำเรื่องนี้ ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ พร้อมเสนอตัวแทนผู้บริโภคและนักวิชาการ ขอร้องรัฐมนตรีอย่าพึ่งตัดสินใจว่าจะไม่กำกับค่ารักษาพยาบาลราคาสูงสุดแบบสิงคโปร์
เสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะสามารถเดินหน้าได้ทันทีในการเสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแทพย์ และค่ารักษาพยาบาล คาดหวังว่า การกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง(Sticker Price) สำหรับการกำกับค่ายาที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต ซึ่งไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบัน
เพราะนี่จะเป็นบทพิสูจน์การแก้ปัญหาค่ารักษาแพงของโรงพยาบาลเอกชน ตามมาตรา 25 ของพรบ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ให้อำนาจคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีอำนาจกำหนดมาตรการในการควบคุมกำกับราคาสินค้าและบริการ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้หลายมาตรการได้แก่
(1)กำหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมให้ผู้ซื้อซื้อในราคา ไม่ต่ำกว่าราคาที่กำหนด หรือให้ผู้จำหน่ายจำหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง
(2)กำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยของสินค้าหรือบริการควบคุมที่ผู้จำหน่ายจะได้รับจากการจำหนายสินค้าหรือบริการควบคุม หรือกำหนดอัตราส่วนแตกต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายสินค้าหรือบริการควบคุมในแต่ละช่วงการค้า
(5) กำหนดให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย แผนการผลิต แผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร แผนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแผนการซื้อ แผนการจำหน่าย แผนการเปลี่ยนแปลงราคาหรือรายการอื่นใดหรือส่วนลดในการจำหน่ายกระบวนการผลิต และวิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
(10) สั่งให้จำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมตามปริมาณและราคาที่กำหนดตลอดจนสั่งให้
ซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยทำเรื่องนี้ และที่สำคัญประเทศไอร์แลนด์ใช้เวลาเพียง 9 เดือนในการทำเรื่องนี้
แนวทางในการกำกับค่ารักษาพยาบาลแพงของประเทศสิงคโปร์ เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน (Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้กับทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรม (Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ