หลังรัฐบาลกำหนดนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันการลงทุนพลังสะอาด(Green energy) และพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังสะอาดและพลังงานทดแทนจาก 28% เป็น 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ โดยจะบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP (Power Development Plan) ฉบับใหม่ ซึ่งจะประกาศใช้ในต้นปี 2567 เพื่อต้องการผลักดันเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละบริษัทในไทย
จากนโยบายดังกล่าว ได้ดึงดูดผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนต่างชาติหลายราย เบนเข็มมุ่งสู่ตลาดไทย โดยเฉพาะในธุรกิจ “แผงโซลาร์เซลล์” ที่นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า จะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) โดยภาคเอกชนมีความพร้อม สามารถทำได้ทันที อีกเป็นจำนวนมาก
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อ “ทงเวย โซลาร์” หรือ TW SOLAR ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ( Photovoltaic : PV ) ชนิดผลึกซิลิคอนรายใหญ่ที่สุดในโลก จากจีน ได้ประกาศที่จะบุกตลาดไทยเต็มตัวในปี 2567 โดยได้ร่วมกับ บริษัท ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย จำกัด ตัวแทนจัดจำหน่ายรายเดียวของทงเวยโซลาร์ ในไทย เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ “G12R” ขานรับนโยบายภาครัฐส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในไทยจะสูงถึง 2.17GW ภายในปี 2566 โดยไทยจะกลายเป็นตลาดโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
“ไทย” ขึ้นแท่นผู้นำตลาดแผงโซลาร์เซลล์อาเซียน
แจ๊ค สวี๋ (Mr. Jack Xu) ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านเทคนิคตลาดต่างประเทศ บริษัท ทงเวย โซลาร์ หรือ TW SOLAR เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดแผงโซลาร์เซลล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยจากข้อมูลของ IHS พบว่าไทยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1.26GW ในปี 2565 คิดเป็น 36% ของส่วนแบ่งตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับการดำเนินนโยบายพลังงานสะอาดและมาตรการจูงใจของไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในไทยจะสูงถึง 2.17GW ภายในปี 2566 และจะกลายเป็นตลาดโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่โครงสร้างกำลังการผลิตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เซลล์ของไทยนั้นเป็นการใช้งานในครัวเรือนสัดส่วนน้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตติดตั้งในภาคอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์สูงถึง 1.85GW คิดเป็น 85%
โดยเมื่อไตรมาส2 ของปี 2566 ทงเวย โซลาร์ ได้เข้ามาทำตลาดในไทย ด้วยการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะยาวกับผู้จัดจำหน่ายเชิงกลยุทธ์ในไทย ได้แก่ บริษัท ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย จำกัด (Sunday Solar Supply) เพื่อมอบโซลูชันการขายและบริการที่ปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน และพบว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น โดยบริษัทถือเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์แห่งแรกของโลกที่ติดอยู่ในลิสต์ Fortune Global 500
จากแนวโน้มการเติบโตที่ดีของตลาดโซลาเซลล์ในไทย ทงเวย โซลาร์ จึงได้เดินหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “ทงเวย โซลาร์ G12R” ผลิตภัณฑ์เรือธงที่จะทำการตลาดไทยในปี 2567 โดยเป็นสินค้าในกลุ่ม N-Type (แผงซิลิคอนที่ผ่านกระบวนการโดปปิ้งด้วยสารฟอสฟอรัส phosphorus ทำให้มีคุณสมบัติเป็นตัวส่งอิเล็กตรอนเมื่อได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง เป็นต้น)
ไทย เข้าสู่ตลาดระดับกิกะวัตต์ สะท้อนตลาดรวมมีเสถียรภาพ
ด้าน แฟรงก์ เหยียน (Mr. Frank Yan) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย จำกัด ผู้นำเข้า จัดจำหน่าย และให้บริการติดตั้งอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ รายเดียวในไทยของทงเวย โซลาร์ กล่าวว่า ในปี 2566 กลุ่มลูกค้าทงเวยในตลาดไทย ส่วนใหญ่ มาจากลูกค้าในครัวเรือน อุตสาหกรรมและการพาณิชย์ และโรงไฟฟ้าภาคพื้นดินขนาดใหญ่ และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายโซลาร์เซลล์ได้ ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ภายในปี 2567 และจะสร้างรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
จากข้อมูลจาก IHS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจ-การลงทุนระดับโลกยังพบว่าไทยได้เข้าสู่ตลาดระดับกิกะวัตต์ (GW) ตั้งแต่ปี 2565 โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2GW ต่อปีในช่วงปี 2566 ถึง 2573 ซึ่งสะท้อนว่ามูลค่าตลาดโดยรวมมีเสถียรภาพ ทำให้มีบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ระดับโลกจำนวนมากสนใจ เข้ามาทำตลาดในไทย ทำให้คาดว่าการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากการแข่งขันในด้านราคารูปลักษณ์ คุณภาพผลิตภัณฑ์แล้ว ประสิทธิภาพการแปลง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นจุดแข่งขันที่สำคัญ
และนี่คือหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญในตลาดแผงโซลาร์เซลล์ในไทย ที่ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของโลก ได้เข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด ผ่านตัวแทนจำหน่าย หลังรัฐมีนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังสะอาดและพลังงานทดแทน และคาดว่าจะมีตามมาอีกหลายรายในอนาคต ย่อมทำให้ผู้บริโภคคนไทยมีทางเลือกในการบริโภคสินค้า ด้วยคุณภาพ ราคา ที่ต้องการ ในวันที่ตลาดพลังงานทดแทนเปิดกว้าง