พะยูนในประเทศไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วง 24 วันของเดือนตุลาคมปี 2567 พบพะยูนตายมากถึง 8 ตัว จากการขาดแคลนหญ้าทะเล ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน พะยูนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ทิ้งความเสี่ยงพะยูนสูญพันธุ์ ในไทย กระทบระบบนิเวศทางทะเล สะท้อนขึ้นบก
สถานการณ์การตายของพะยูนในประเทศไทยนับวันยิ่งสูงขึ้น โดยเฉลี่ยตายปีละ 35 ตัว เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลนหญ้าทะเล การสัญจรทางน้ำที่เพิ่มขึ้น และภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิในทะเลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก ทำให้พื้นที่หญ้าทะเลในจังหวัดตรัง กระบี่ และสตูล ลดลง พะยูนจึงต้องย้ายถิ่นฐาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการตายจากอุบัติเหตุและความหิวโหย การสูญเสียหญ้าทะเลยังส่งผลต่อการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะกลับมาส่งผลต่อมนุษย์ในระยะยาว เราจึงควรมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากโลกร้อน เพื่อฟื้นฟูหญ้าทะเลและเรียกพะยูนกลับบ้านอีกครั้ง
‘พะยูน’ สัตว์สำคัญในระบบนิเวศแนวหญ้าทะเล
พะยูน หรือที่รู้จักกันว่า “วัวทะเล” มีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลและความหลากหลายของระบบนิเวศหญ้าทะเล พะยูนจะใช้ริมฝีปากที่มีขนแข็งของมันถอนรากและกินหญ้าทะเล ซึ่งคล้ายกับวัวที่กำลังกินหญ้าในทุ่งหญ้า
พฤติกรรมการกินหญ้าทะเลของพะยูนไม่เพียงแต่กินใบ แต่ยังไถลงถึงรากและลำต้นใต้ดิน ทำหน้าที่เสมือนเป็นการพรวนดินและขจัดหญ้าชุดเก่า ส่งผลให้ลำต้นชุดใหม่สามารถเติบโตและแทนที่ได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการนี้ช่วยเปิดพื้นที่ให้หญ้าชนิดต่างๆ แข่งขันกัน เติบโต ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายของหญ้าทะเลและเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
นอกจากนี้ พะยูนยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แพร่กระจายเมล็ดหญ้าทะเล เหมือนกับสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ในป่า พบว่าในอึพะยูนทุกๆ 1 กรัม สามารถกระจายเมล็ดหญ้าทะเลไปไกลได้ถึง 2 เมตร จากจุดที่พะยูนขับถ่ายออกมา
‘หญ้าทะเล’ ส่งผลอย่างไรกับโลก ชีวิตและสิ่งแวดล้อม
หญ้าทะเลที่เป็นอาหารพะยูน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ปลา กุ้ง ปู และหอยเช่นกัน และการที่พะยูนช่วยรักษาความหลากหลายของหญ้าทะเล ส่งผลให้มีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยรวม
หากพะยูนสูญพันธุ์ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศทางทะเล การขาดพะยูนจะทำให้การกระจายเมล็ดหญ้าทะเลลดลง ซึ่งอาจทำให้หญ้าทะเลลดจำนวนลงและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแนวหญ้าทะเล เช่น ปลาเล็ก ๆ ปู และกุ้ง ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศชายฝั่ง ทั้งนี้ยังอาจทำให้แหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติลดลง เนื่องจากหญ้าทะเลเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญ การสูญเสียแนวหญ้าทะเลจึงเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอีกด้วย
พะยูนไทยตายเพิ่ม 8 ตัวใน 24 วัน
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า พบพะยูนตาย 8 ตัวในช่วง 24 วันของเดือนตุลาคม 2567 โดยในจำนวนนี้ 1 ตัวพบเป็นพะยูนเกยตื้นที่ยังมีชีวิตที่จังหวัดตรัง ก่อนจะเสียชีวิตในวันถัดมา นอกจากนี้ ยังพบซากพะยูนเกยตื้นอีก 7 ตัว โดยเป็นซากสด 1 ตัวและซากเน่า 6 ตัว กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ดังนี้ ภูเก็ต 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว และสตูล 3 ตัว
จากการจำแนก พบว่า ในจำนวนนี้มีพะยูนตัวผู้ 4 ตัวและตัวเมีย 4 ตัว โดยส่วนใหญ่เป็นพะยูนวัยรุ่น 5 ตัว และพะยูนโตเต็มวัยอีก 3 ตัว โดยซากพะยูนที่พบส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเน่ามาก
2 สาเหตุการตาย ขาดสารอาหาร – รอยรัดจากเชือก
สำหรับสาเหตุการตาย จากการชันสูตรพบ 2 ลักษณะหลัก ได้แก่ สภาพร่างกายซูบผอม ขาดสารอาหาร สุขภาพไม่ดี และอีกหนึ่งกรณีพบร่องรอยพันรัดจากเชือก
│ “มือไม้สั่น โลกร้อนทำให้หญ้าทะเลหายไป ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยเจอะเจอ”
│ “Global Warming kills them all หญ้าทะเลหายไปเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนล้มตายดุจใบไม้
│ ร่วง แค่ 22 เดือนตายไปแล้ว 71 ตัว”
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กThon Thamrongnawasawat ระบุว่า พะยูนกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์เนื่องจากปัญหาโลกร้อนและการลดลงของหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ทั้งนี้ในช่วงเวลา 22 เดือนที่ผ่านมา พะยูนตายไปแล้วถึง 71 ตัว พร้อมชี้พะยูนอันดามันเหลือไม่ถึง 120 ตัว และภายใน 4-5 ปีต่อไป ความพินาศสุดขีดจะเกิดขึ้น โดยทั้งหมดเริ่มที่โลกร้อน/หญ้าทะเลตาย
พะยูนเสี่ยงสูญพันธุ์ เหตุหญ้าทะเลลดลงต่อเนื่อง
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่สถิติการตายของพะยูน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ดังนี้:
- ช่วงภาวะปรกติ (ปี 2548-2561) ในช่วงนี้ พบพะยูนตายเฉลี่ยเพียง 13 ตัวต่อปี และจำนวนประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ถือเป็นช่วงที่มีเสถียรภาพสำหรับการอยู่รอดของพะยูน
- ช่วงภาวะโลกเดือด (ปี 2562-2565) เริ่มเกิดวิกฤตหญ้าทะเลลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรัง ส่งผลให้พะยูนตายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 20.25 ตัวต่อปี ผู้เชี่ยวชาญเริ่มแสดงความกังวลเนื่องจากจำนวนการตายของพะยูนในช่วงนี้สูงกว่าจำนวนการเกิด หากไม่ต้องการให้จำนวนประชากรพะยูนลดลง ขีดจำกัดสูงสุดที่พะยูนจะตายได้ต่อปีไม่ควรเกิน 17 ตัว
จากข้อมูลที่แสดงในรูปแบบกราฟิก ทำให้เห็นแนวโน้มการสูญพันธุ์ของพะยูนได้อย่างชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญแนะเร่งแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม เพื่อปกป้องแหล่งอาหารสำคัญของพะยูนก่อนที่จะสายเกินไป
โลกร้อนกระทบหญ้าทะเลอย่างไร?
- อุณหภูมิน้ำทะเลสูงและดินร้อนระอุ – น้ำทะเลที่ร้อนเกินไปและดินที่ระอุทำให้เหง้าหญ้าทะเลอ่อนนุ่มและเสื่อมสภาพราวกับถูกนึ่งจนไม่สามารถเติบโตได้ตามปกติ
- น้ำทะเลแห้งผิดปกติและแดดแรง – ช่วงที่น้ำทะเลแห้งลง ทำให้หญ้าทะเลถูกแสงแดดจัดแผดเผาจนใบไหม้เสียหาย
- ปริมาณฝนที่ตกหนักจนเกิด “Rain Bomb” – ฝนตกหนักบนพื้นดินนำพาตะกอนดินที่ถูกชะลงสู่ทะเล ก่อให้เกิดการทับถมตะกอนในแหล่งหญ้าทะเล ทำให้หญ้าไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่
- คลื่นลมแปรปรวนและการทับถมของทราย – คลื่นลมที่แปรปรวนพัดตะกอนและทรายเข้ามาในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล จนบางครั้งกลายเป็นลอนทรายทับถมหญ้าเอาไว้
- แนวปะการังฟอกขาว – การฟอกขาวของปะการังและการพังทลายของแนวปะทะคลื่น ทำให้ทรายถูกพัดเข้าสู่แหล่งหญ้าทะเลมากขึ้น ส่งผลให้หญ้าทะเลเติบโตได้ยากยิ่งขึ้น
- การแย่งชิงอาหารและสมดุลระบบนิเวศที่เสียไป – เมื่อหญ้าทะเลเหลือน้อยลง สัตว์ทะเลต่างๆ เข้ามารุมกินพืชที่ยังคงอยู่ ขณะเดียวกัน ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงทำให้สมดุลในระบบนิเวศเปลี่ยนไป บางครั้งมีการแพร่ระบาดของหอยหรือสาหร่ายที่เป็นอันตรายต่อหญ้าทะเล ทำให้หญ้าอ่อนแอและตายลง
- การฟื้นฟูพันธุ์หญ้าทะเลขนาดใหญ่ทำได้ยาก – หญ้าทะเลขนาดใหญ่ เช่น หญ้าคาทะเล ที่มีความอึดทนต่อสภาพแวดล้อม มักเจริญเติบโตอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นเวลานานนับสิบปี แต่หากมีการตายของหญ้าเป็นจำนวนมากจากภาวะโลกร้อน การฟื้นฟูพันธุ์ใหม่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงที่สิ่งแวดล้อมยังแปรปรวน
แม้พะยูนจะสามารถกินพืชอื่นได้บ้าง แต่ไม่ได้ปรับตัวง่าย
จากการสำรวจ พบพะยูนบางส่วนยังคงพยายามอยู่ในแหล่งเดิมที่มีหญ้าทะเลลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่อีกกลุ่มจำเป็นต้องอพยพจากจังหวัดตรัง โดยบางส่วนขึ้นไปทางเหนือสู่กระบี่และภูเก็ต และอีกส่วนมุ่งลงใต้ไปจังหวัดสตูลเพื่อหาทุ่งหญ้าทะเลใหม่ แต่ไม่ว่าจะไปทางไหน ความเสี่ยงจากการสูญเสียอาหารและภัยคุกคามจากมนุษย์ก็ตามติดไปด้วย
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายงานว่า พะยูนบางส่วนที่พยายามอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ต้องประสบปัญหาเมื่อชนพื้นถิ่นไม่คุ้นเคยกับการปรากฏตัวของพะยูนที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน นำไปสู่ความเสี่ยงจากการชนกับเรือ หรือติดกับอุปกรณ์ประมง
การอพยพขึ้นเหนือของพะยูนถึงที่สุดบริเวณเกาะภูเก็ตและอ่าวพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลน้อยและสภาพชายฝั่งที่เปิดโล่ง คลื่นลมแรง เป็นสภาพแวดล้อมที่พะยูนไม่ชอบ ด้านการอพยพลงใต้ของพะยูนไปจนถึงชายแดนมาเลเซียกลับพบปัญหาแหล่งหญ้าทะเลขาดช่วง ทำให้พะยูนจำนวนมากติดอยู่ใน “กับดักแห่งความตาย” เมื่ออาหารลดน้อยลงจนเกือบหมด ส่งผลให้พะยูนที่รอดอยู่ในสภาพผอมบาง ป่วย และเสียชีวิตไปในที่สุด
ที่มาภาพ : Thon Thamrongnawasawat