พลิกโฉมฟาร์มโคนม ด้วย “เกษตรเชิงฟื้นฟู” แก้ปัญหาก๊าซมีเทน-เสริมคุณภาพน้ำนม

พลิกโฉมฟาร์มโคนม ด้วย “เกษตรเชิงฟื้นฟู” แก้ปัญหาก๊าซมีเทน-เสริมคุณภาพน้ำนม

รู้จักโมเดล “เกษตรเชิงฟื้นฟู” ในฟาร์มโคนม ปรับปรุงสูตรอาหารเพิ่มคุณค่าน้ำนมดิบ พร้อมแก้ปัญหาหมักหมมก๊าซมีเทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์ม ตัวการสภาพอากาศแปรปรวน 

 

 

แม้ว่าอุตสาหกรรมนมจะมีบทบาทสำคัญต่อภาคการเกษตรและการผลิตอาหาร แต่อุตสาหกรรมนี้กลับต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เพราะตั้งแต่ปี 2564 เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเจอวิกฤตโรคระบาดลัมปีสกินในโคนมซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้โคป่วยหรือล้มตายไม่พอ ยังมีปัญหาเรื่องโรคปากเท้าเปื่อย โรคเต้านมอักเสบ กระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำนมของแม่โคลดลง และคุณภาพน้ำนมดิบในภาพรวมต่ำลง หนำซ้ำยังต้องประสบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารข้นและอาหารหยาบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2565 

ด้วยเหตุที่การเลี้ยงโคนมมีสัดส่วนต้นทุนอาหารไม่น้อยกว่า 65 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยเกษตรกรหลายรายมีพื้นที่จำกัดในการผลิตอาหารหยาบใช้ภายในฟาร์ม จำเป็นต้องซื้ออาหารหยาบจากนอกฟาร์มเพิ่มเติม อีกทั้งแม่โคมีปัญหาเรื่องระบบสืบพันธุ์ ส่งผลต่อรายได้ลดลงไม่คุ้มค่าในการทำฟาร์ม ทำให้เกษตรกรรายหลายล้มเลิกอาชีพเลี้ยงโคนมไปในที่สุด

 

 

ปศุสัตว์ไทยเผชิญคำถามใหญ่ จะเลี้ยงโคนมอย่างไรให้ยั่งยืนในยุควิกฤตสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงโค ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ตามรายงานจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency หรือ EPA) เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ระบุว่าอุตสาหกรรมภาคปศุสัตว์และการเกษตรสร้างก๊าซมีเทน ราว 37% ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมด เพราะโคเพียงตัวเดียวก็สามารถผลิตก๊าซมีเทน ราว 70-120 กิโลกรัมต่อปี

สาเหตุหลักมาจากอาหารที่โคบริโภค โดยเฉพาะฟางข้าวซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีต้นทุนต่ำ เกษตรกรมักใช้เลี้ยงวัวในช่วงหน้าแล้ง หรือตอนขาดแคลนหญ้าสด แต่คุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างต่ำ มีเส้นใยสูง ย่อยยาก ทำให้เกิดกระบวนการหมักที่ปล่อยก๊าซมีเทนมาก และมีระบบย่อยอาหารไม่เหมือนสัตว์อื่นๆ ส่งผลให้โคสูญเสียน้ำหนัก และลดผลผลิตน้ำนม

ท่ามกลางปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การขาดแคลนอาหารโคในหน้าแล้ง และแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม คำถามสำคัญที่เกษตรกรเลี้ยงโคนมต้องเผชิญคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้การเลี้ยงโคเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในระยะยาว?

 

 

ตลาดผลิตภัณฑ์นมเติบโต สวนทางผลผลิตน้ำนมดิบลดลง

นายศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมโคนมเป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทน ส่งผลต่อโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 26 เท่า นับเป็นความท้าทายที่ไม่ง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือแก้ปัญหาร่วมกัน 

ทั้งนี้หากพูดถึงอุตสาหกรรมผลิตนมขณะนี้ มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จากปี 2565 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ไทยผลิตน้ำนมดิบได้ 3,500 ตัน แต่ข้อมูลปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำนมดิบประมาณ 2,800-3,000 ตันต่อวัน

ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มโดยรวมปีนี้เติบโตสูงกว่าปีก่อนถึง 7% แต่แนวโน้มปริมาณการผลิตน้ำนมดิบกลับลดลง เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น ภาวะโลกเดือด และจำนวนเกษตรกรโคนมที่ลดลง 

 

กรณีศึกษาเนสท์เล่ ใช้โมเดล เกษตรเชิงฟื้นฟู 

ร่วมเกษตรกรฟาร์มโคนม

เนสท์เล่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตนม ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมนมในประเทศไทย 

นายศิรวัจน์ กล่าวต่อว่า ในอดีตเนสท์เล่โฟกัสเรื่อง Food Safty ก่อนโดยเป็นบริษัทแรกที่เริ่มตรวจยาปฏิชีวนะในน้ำนมดิบ และตอนนี้เรื่องการตรวจยาปฏิชีวนะในน้ำนมดิบถูกบรรจุเป็นมาตรฐานการซื้อขายน้ำนมดิบในประเทศไทยแล้ว โดยนมทุกหยดต้องไม่มียาปฏิชีวะ ตกค้าง 100% 

แต่พอมาถึงตอนนี้ประเด็นความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทสำคัญ เนสท์เล่ประกาศว่าจะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net Zero 2050) โดยยึดหลัก “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” เป็นตัวขับเคลื่อนความยั่งยืนของบริษัท โดยหลักๆ ดู 3 ตัว 1.ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดินต้องดีก่อน 2.ความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ฟาร์ม หรือไร่เกษตรต้องดีด้วย 3.มีน้ำใช้ ประยุกต์ได้ทุกเรื่องของเกษตร รวมถึงการปลูกกาแฟซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจของเนสท์เล่ 

“แต่ทั้งนี้เป้าหมายสุดท้ายของเกษตรเชิงฟื้นฟูจริงๆ คือรายได้ของเกษตรกร ต่อให้มีแปลงหญ้าหลากหลายสายพันธุ์ มีการจัดการที่ดี มีดินที่ดี แต่เกษตรกรรายได้ไม่ดีพอ ก็จะไม่ยั่งยืน สุดท้ายรายได้เขาก็จะหายไป”

 

 

เปิดโมเดลฟาร์มโคนมต้นแบบ เกษตรเชิงฟื้นฟู

นายศิรวัจน์ สะท้อนปัญหาว่า เมื่อปี 2565 ในขณะที่คนเจอวิกฤตโควิด-19 แต่โคต้องเจอวิกฤตสองโรคคือ ปากเท้าเปื่อย และลัมปัสกิน จากนั้นไม่พอเจอวิกฤตอาหารแพง ทำให้การทำงานร่วมเกษตรกรจึงนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู มุ่งเน้นการบริหารจัดการ 3 ด้าน ได้แก่ 

1.อาหาร การจัดการอาหารทำให้วัวมีปริมาณน้ำนมดิบที่มากขึ้น 

2.การจัดการของเสียในฟาร์ม

3.การใช้พลังงานทดแทน 

ด้านจัดการอาหาร โคนมจะกินอาหาร 2 แบบ คืออาหารข้น ซึ่งก็เหมือนอาหารที่คนกิน จะเป็นพวกโปรตีน อย่างธัญพืช หรือพืชที่มีความเข้มข้นกับโภชนาการอาหารสูง ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้า ตอนเกิดวิกฤตที่ผ่านมานั้นราคาถั่วเหลืองนำเข้าขึ้นไปเกือบเท่าตัว แต่เดิมกิโลกรัมละ 13 บาท แต่ตอนนั้นขึ้นไปเกือบ 20 บาท วิกฤตครั้งนั้นหนักหนากับเกษตรกรมาก ส่วนอาหารหยาบจะเป็นฟางข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักคู่กับฟาร์มโคนมไทยมาอย่างยาวนาน 

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้ฟางข้าวลงแล้ว เพราะแม้ว่าฟางจะมีทั่วไป แต่โภชนาการอาหารน้อยมาก เหมือนกินเพื่อให้อิ่ม แต่ไม่ได้โภชนาการทำให้โคโตเท่าไหร่ เราก็พยายามจะลดลง เปลี่ยนมาสนับสนุนปลูกแปลงหญ้า เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าลูซี่ หมายถึงกินหญ้าสดดีกว่า (มัลติสปีชีส์) ทั้งยังมีการเทรนด์เกษตรกรทุกคนถึงหลักการให้อาหารเบื้องต้น ว่าอาหารข้น จะคำนวณว่าโปรตีนที่วัวต้องการปริมาณเท่าไหร่ เป็นพื้นฐานอาหารสัตว์ให้เกษตรกร”

 

 

 

 

“แนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิดเพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร และเป็นการเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนให้กับแม่โค ส่งผลให้ปัจจุบันได้ปริมาณน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 กก. ต่อตัวต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กก. ต่อตัวต่อวัน 

นอกจากนี้ คุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566 ซึ่งการที่ระดับโปรตีนในนมมีสูงกว่า 3% นั้นบ่งบอกถึงสุขภาพของแม่โคที่สมบูรณ์ และยังเป็นการเพิ่มโภชนาการที่มีประโยชน์ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย นอกจากนี้ การปลูกพืชหลายชนิดก็เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลง พร้อมกับปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรดิน และสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม” 

 

 

 เปลี่ยนจาก “มูลโค สู่ มูลค่า”

นายศิรวัจน์ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการมูลโคอย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนมองว่ามูลโคเป็นของเสียในฟาร์ม สกปรกเพราะเกิดการหมักหมม แต่ถ้าจัดการดีๆ จะกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ และเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรับปรุงดิน 

“ตอนนี้ส่งเสริมเกษตรกรทำลานปูนเพื่อดันมูลโคออกมาตากแห้ง ขายเป็นปุ๋ยสำหรับบำรุงดิน เมื่อก่อนเกษตรกรก็ทำตากบนลานดิน แต่กว่าจะแห้งใช้เวลามากกว่า 2 สัปดาห์ แล้วโคปล่อยมูลทุกวัน พอสะสมทุกวัน ๆ ก็กลายเป็นหมักหมมเกิดเป็นก๊าซมีเทนขึ้นมา” 

 

 

พอปรับจากการตากลานดิน มาเป็นปูน มันแห้งเร็ว เพราะปูนอมความร้อนได้ดีมาก ราวๆ 3-5 วันก็แห้งแล้ว พอแห้งก็เอาออกมา โคก็จะได้ไม่นอนจมไปกับมูล โคจึงสะอาดมากขึ้น เป็นการตัดวงจรเพื่อไม่ให้มูลโคหมักหมมจนปล่อยมีเทน ทั้งยังสามารถสร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร เปลี่ยนจาก “มูลโค สู่มูลค่า” พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนการติดตั้งบ่อไบโอแก๊สเพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทน ไปใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน 

โปรเจกต์ต่อไปคาดว่าจะเอามูลโค ไปทำอาหารเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งมูลโคถือเป็นอาหารชั้นดีของไส้เดือน พอได้มูลไส้เดือนออกมา มูลค่ามูลไส้เดือนจะถูกตีออกมาเป็นปุ๋ยพรีเมียม  ซึ่งมูลไส้เดือนมีขายมนออนไลน์ด้วย กิโลละ ประมาณ 8-10 บาท มูลโคปกติกิโลละ 1 บาท มากกว่ากัน 5 เท่า ซึ่งก็เป็นโปรเจกต์ปีหน้าที่อาจจะต่อยอด 

 

 

ติดตั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ในฟาร์ม

 สุดท้ายเนื่องจากฟาร์มโคนมในบางพื้นที่ยังมีความท้าทายด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่เสถียร จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับสูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงหญ้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตลอดปี และลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยให้เกษตรกรโคนมมีไฟใช้ในครัวเรือน โดยการทำฟาร์มโคนมตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถช่วยลดคาร์บอนได้รวมประมาณ 2,000 ตันในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561

นายศิรวัจน์ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จหนึ่งที่เห็นชัดคือ เกษตรกรมีความยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วกล้ารับความเสี่ยง ตอนนี้มีเกษตรกรราว 160 ฟาร์ม ส่งน้ำนมให้สหกรณ์ มีเกษตรกรที่เริ่มประยุกต์หลักเกษตรเชิงฟื้นฟูประมาณ 40 ฟาร์ม บางฟาร์มเริ่มมีแปลงหญ้าหลากหลายสปีชีส์ บางฟาร์มเริ่มที่การปรับปรุงสูตรอาหาร ฯลฯ ใน 40 ฟาร์มนี้ ตัวเลขที่เห็นชัดเจนคือปริมาณน้ำนมดิบเขาเพิ่มขึ้น ตอนนี้เฉลี่ย 40 ฟาร์ม ได้ 13.5  กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ซึ่งค่าเฉลี่ยของประเทศ เท่าที่ได้เช็กมาอยู่ที่ประมาณ 11-12 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ส่วนรายได้มูลโค ตากแห้งขาย ได้ 40,000 บาทต่อปี

 

 

เกษตรกรพิมายเลี้ยงโคนมเพราะใจรัก

 ด้านนายวรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนมอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ผู้เลี้ยงโคนมในอำเภอห้วยแถลง (เขตติดต่ออำเภอพิมาย) ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมโลจิสติกส์ เล่าว่า การทำฟาร์มนั้นความเสี่ยงสูง เหตุผลที่หันมาทำเกษตรจริงจัง เพราะใจรัก จากเริ่มเลี้ยงโคนม 5 ตัว ในปี 2561 ถึงปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งแม่และลูก 40 ตัว 

ปัญหาและอุปสรรคในการทำฟาร์มโคนมมีทั้งด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงในพื้นที่หรือการที่วัวมีผลผลิตน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่องน้ำนมดิบมีคุณภาพต่ำลง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ชนิดข้นที่แพงขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้จำนวนเกษตรกรฟาร์มโคนมมีจำนวนลดน้อยลง

 “ผมเริ่มทำฟาร์มโคนมในปี 2561 และได้ร่วมงานกับเนสท์เล่ ในช่วงปี 2564 จากการเป็นสมาชิกเกษตรกร โคนมพิมาย ทางเนสท์เล่ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยถึงปัญหาในการทำฟาร์ม ช่วยหาวิธีในการเพิ่มผลผลิตรวมทั้งแนะนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาประยุกต์ใช้ จึงได้เริ่มเป็นฟาร์มโคนมนำร่อง มีการทำแปลงหญ้ารูซี่ หญ้าไนล์ และปลูกพืชถั่วร่วมด้วย ทำบ่อไบโอแก๊ส ตากมูลวัวติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพราะไฟฟ้าเข้ามาไม่ถึงตอนนี้จึงเป็นฟาร์มที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 100% และสามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้กับแปลงหญ้าได้ตลอดปี รวมทั้งนำมูลโคตากแห้งไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย”

 

 

นำฟาร์มโคนมไทย เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero

จากการส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้ด้านการทำปศุสัตว์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำนมดิบให้เนสท์เล่ด้วยมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ทั้ง 100% จนถึงตอนนี้ เนสท์เล่ได้ให้ความรู้และเทคนิคการเกษตรเชิงฟื้นฟูแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 160 ฟาร์มจาก 3 สหกรณ์ และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้เริ่มทำการเกษตรเชิงฟื้นฟูครบวงจรแล้วกว่า 40 ฟาร์ม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการมีตลาดรองรับผลผลิตน้ำนมดิบ เนสท์เล่ยังรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์โคนมในราคาที่เป็นธรรมตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อที่กำหนดไว้  

 เนสท์เล่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค และเพื่อโลกของเรา รวมไปถึงการส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู โดยมุ่งเน้นการปกป้องและฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้แผนงาน ด้านความยั่งยืน Net Zero 2050 ทั้งนี้ เนสท์เล่ยังคงเดินหน้าพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์จากนมคุณภาพสูงมีรสชาติอร่อย ไปถึงมือผู้บริโภคไทย ภายใต้แบรนด์ ไมโล ตราหมี และ เนสกาแฟ ซึ่งมีการจัดหาน้ำนมดิบจากฟาร์มโคนมที่ดำเนินงานด้วยความยั่งยืน