นักวิทยาศาสตร์จาก BAS ได้รายงานว่า ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเริ่มเคลื่อนตัวอีกครั้ง หลังจากที่ติดอยู่กับพื้นทะเลในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมันกำลังลอยไปทางเหนือผ่านมหาสมุทรและคาดว่าจะเกิดการแตกตัวอีกครั้ง
ภูเขาน้ำแข็งนี้มีขนาดใหญ่ถึง 3,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่มหานครกรุงลอนดอนสองเท่า หรือประมาณสองเท่าของกรุงเทพมหานคร และมีความหนาถึง 400 เมตร มันแยกตัวออกจากชายฝั่งแอนตาร์กติกาในปี 1986 (พ.ศ. 2529) แต่ในภายหลังได้ฝังฐานอยู่ในโคลนบริเวณนอกชายฝั่ง
เหตุการณ์นี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทราบถึงความลึกของภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำ ซึ่งมีความลึกเท่ากับระยะจากผิวน้ำไปจนถึงก้นทะเลเวดเดลล์ ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรทางตอนใต้ที่ทำให้ภูเขาน้ำแข็งหยุดนิ่งมานานกว่า 30 ปี
ภูเขาน้ำแข็งก้อนมหึมานี้ติดอยู่ในกระแสน้ำวน
ก่อนหน้านี้ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ติดอยู่ที่พื้นทะเลเวดเดลล์เป็นเวลานานกว่า 30 ปี ก่อนที่จะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำและติดอยู่ในแนวเสาเทย์เลอร์ ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกระแสน้ำหมุนวนที่เกิดขึ้นจากกระแสน้ำในมหาสมุทรที่พัดไปยังภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเล ล่าสุด ภูเขาน้ำแข็งได้แตกตัวออกแล้ว และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มันจะลอยไปตามกระแสน้ำจนถึงทะเลที่อุ่นขึ้นและไปยังเกาะเซาท์จอร์เจีย ซึ่งอาจจะละลายตัวในที่สุด
ดร.แอนดรูว์ เมเจอร์ส นักสมุทรศาสตร์จาก หน่วยสำรวจแอนตาร์กติกแห่งสหราชอาณาจักร(British Antarctic Survey -BAS) กล่าวถึงความตื่นเต้นที่ได้เห็นภูเขาน้ำแข็ง A23a กลับมาเคลื่อนที่หลังจากที่มันหยุดนิ่งไปสักระยะหนึ่ง พร้อมทั้งแสดงความสนใจว่า ภูเขาน้ำแข็งนี้จะเดินทางตามเส้นทางเดียวกับภูเขาน้ำแข็งลูกอื่น ๆ ที่หลุดออกจากทวีปแอนตาร์กติกาหรือไม่
“พวกเราสนใจว่า มันจะใช้เส้นทางเดียวกันกับภูเขาน้ำแข็งอื่น ๆ ที่ได้หลุดออกจากทวีปแอนตาร์กติกาหรือไม่”
ภูเขาน้ำแข็ง A23a เคยครองตำแหน่ง “ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุด” หลายครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แต่บางครั้งถูกแซงหน้าด้วยภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่กว่าและมีอายุสั้นกว่า เช่น A68 ในปี 2017 และ A76 ในปี 2021
การแตกตัวเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การแตกตัวของภูเขาน้ำแข็งอาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติของหิ้งน้ำแข็ง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเล อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาบทบาทของ A23a ในวัฏจักรคาร์บอนและสารอาหารของมหาสมุทรขณะที่มันลอยไป ลอร่า เทย์เลอร์ นักชีวเคมี ตั้งข้อสังเกตว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์อย่าง A23a ช่วยเพิ่มสารอาหารให้กับน้ำทะเล ช่วยสนับสนุนระบบนิเวศในภูมิภาคที่มีผลผลิตน้อยกว่า การสุ่มตัวอย่างจากน้ำรอบ ๆ A23a ช่วยให้เข้าใจว่าภูเขาน้ำแข็งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่และสมดุลของคาร์บอนทั่วโลกอย่างไร
นอกจากนี้ยังศึกษาผลกระทบของภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้ในกระบวนการทางชีวเคมีและวงจรคาร์บอนของมหาสมุทร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผลิตผลทางชีวภาพต่ำ ซึ่งภูเขาน้ำแข็งช่วยเพิ่มสารอาหารในน้ำ และส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์
ลอร่า เทย์เลอร์ นักชีวธรณีเคมีจากหน่วยสำรวจแอนตาร์กติกแห่งสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey -BAS) กล่าวว่า การศึกษาภูเขาน้ำแข็ง A23a โดยการเก็บตัวอย่างน้ำจากบริเวณรอบ ๆ ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจว่าภูเขาน้ำแข็งมีบทบาทในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของชีวิตทางทะเล และมีผลกระทบต่อการหมุนเวียนของคาร์บอนในมหาสมุทรและบรรยากาศ
“สิ่งที่เราไม่ทราบก็คือภูเขาน้ำแข็งแต่ละลูก แต่ละขนาด และแหล่งกำเนิดของภูเขาน้ำแข็งสามารถสร้างความแตกต่างให้กับกระบวนการนั้นได้อย่างไร”
นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาว่าภูเขาน้ำแข็งแต่ละลูกมีผลกระทบต่อชีวิตทางทะเลและวงจรคาร์บอนอย่างไร ซึ่งการวิจัยนี้อาจให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโลกในระยะยาว